“จรัล-เหวง” สองหัวโจกหางแดง แจ้นฟ้องกรรมการสิทธิฯ ร้องเรียกหาความยุติธรรมประท้วงรัฐประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงในการชุมนุม 19 ก.ย.อ้างสะท้อน 2 มาตรฐาน อ้างเสื้อเหลืองชุมนุมกรณีปราสาทพระวิหาร ที่ศรีสะเกษ แนวโน้มรุนแรงกว่า ทำไมไม่ประกาศใช้
วันนี้ (17 ก.ย.) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เพื่อแสดงความขอบคุณกรณีกรรมการสิทธิฯ มีความเห็น และทำหนังสือเสนอต่อรัฐบาล ว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งไม่มีเหตุผลเพียงพอ รวมทั้งเห็นว่าไม่ควรประกาศใช้ในช่วง วันที่ 19 ก.ย.นี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อขอให้ทำหนังสือประท้วงรัฐบาลขอให้ระงับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในช่วงวันที่ 18-22 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุว่า การประกาศใช้ไม่เป็นไปตามองค์ประกอบของกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการชุมนุม เพราะการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้จะเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากการใช้ความรุนแรง
นายจรัล กล่าวว่า การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง นี้ ถ้าจะพูดให้สวยหรู คือ เป็นการป้องกัน แต่ความจริงแล้วเป็นการข่มขู่และคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน การชุมนุมของเราในครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน และเตือนคนที่คิดจะรัฐประหารอีกว่าไม่ควรทำ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเลย
ขณะที่ นพ.เหวง กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลมี 2 มาตรฐาน เพราะกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ จ. ศรีสะเกษ ซึ่งสุมเสี่ยงจะทำให้เกิดเหตุกระทบกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลกลับไม่ประกาศใช้ แต่กลับเสื้อแดงที่แค่ชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ กทม.กลับมีการประกาศใช้แถมยังประกาศห้ามมีการสัญจรอีก เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานชัดเจน และทำให้เห็นว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กก.สิทธิฯ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ต้องไปเป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งหากจะมีการใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม หากการชุมนุมไม่ได้เป็นไปโดยสงบ เช่น การใช้แก๊สน้ำตา หรือเครื่องขยายเสียง ก็ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบ และการใช้ต้องไม่เป็นการมุ่งหวังที่จะทำร้าย การจะใช้ก็ต่อเมื่อการชุมนุมจะกระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น และต้องคำนึงถึงสิทธิของการชุมนุม ว่า เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกรณีนี้ไม่หมายถึงเฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม
“ผมอยากเรียนทั้งรัฐบาล ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และคนเสื้อเหลือง ที่จะชุมนุมที่ จ.ศรีสะเกษ ต้องตระหนักเรื่องการใช้สิทธิ โดยเฉพาะผู้ที่จะชุมนุมที่ ศรีสะเกษ การใช้สิทธิในการแสดงความเห็นเป็นเรื่องดี แต่ต้องระมัดระวังเรื่องกระแสชาตินิยมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และอาจจะมีคนที่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง ขณะที่ นปช.ก็ต้องระวังเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ทำหนังสือเสนอต่อรัฐบาล ตามความเห็นของ คณะอนุกรรมการสิทธิฯว่าด้วยสิทธิการเมือง สิทธิพลเมือง และการชุมนุม ที่ไม่เห็นด้วยต่อการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย.นี้ และขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างบรรทัดฐานและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง