xs
xsm
sm
md
lg

กมส.ผวา พท.กุข่าวแบล็กลิสต์ขอเช็กข้อมูลก่อนสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
กก.สิทธิฯ หวั่นใจ พท.กุข่าวรัฐบาลขึ้นแบล็กลิสต์ 212 รายชื่อเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ขอเช็กข้อมูลและหลักฐานก่อนตัดสินใจเข้าไปตรวจสอบ แนะประชาชนร่วมต่อต้านกลุ่มที่ดำเนินการนอกประชาธิปไตย และไม่ควรสนับสนุนการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

วันนี้ (3 มี.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิชุมชน กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่ารัฐบาลขึ้นบัญชีดำ 212 รายชื่อ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวว่า ต้องตรวจสอบมูลความจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลไม่ควรใช้อำนาจในการแทรกแซง หากเรื่องดังกล่าวมีมูลความจริง เราก็จะต้องดูว่าเป็นการกระทำของใคร เพราะบ้านเมืองเราในขณะนี้ขาดความเป็นเอกภาพในการบริหารราชการแผ่นดินที่ค่อนข้างล้มเหลว

“เรื่องแบล็กลิสต์ 212 รายชื่อนั้น อาจจะเป็นเรื่องกุข่าวขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในการดิสเครดิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ดังนั้น เป็นเรื่องที่ กสม.ต้องเข้าไปตรวจสอบ แต่ตอนนี้ผมยังไม่ได้เห็นเอกสารข้อมูลหลักฐานว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ถ้าหากเป็นความจริงก็จะนำไปสู่การตรวจสอบว่ามีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกันต่อไป”

นพ.นิรันดร์ ยังประเมินสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า สังคมไทยในขณะนี้ประชาชนต้องตั้งสติ เพราะว่าเป็นช่วงที่จะมีการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดความอ่อนไหว เราต้องต่อต้านและไม่ยอมรับในเรื่องที่นอกเหนือประชาธิปไตย และต้องแยกแยะเรื่องราวให้ออกว่าเรื่องใดเรื่องจริงเรื่องใดโกหก เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น เราจะตกเป็นเครื่องมือ รวมทั้งมีการแทรกแซงของกลุ่มบุคคลที่มองไม่เห็นเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น และมีการแทรกแซงอำนาจที่ไม่ต้องการ เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ทางออกของประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหานั้นไม่ว่าจะกลุ่มใดต้องยอมรับการทำงานของกระบวนการตุลาการ หยุดวิพากวิจารณ์ และต้องพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาต่างๆให้เป็นไปตามระบอบรัฐสภา

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 14 มี.ค.นั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และจำนวนของมวลชนที่มาร่วมชุมนุมก็ไม่ได้เป็นการตัดสิน แต่เราต้องดูเนื้อหาของการชุมนุมว่ามีความชอบธรรม และสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาสังคมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นการชุมนุมก็จะเป็นแค่วิธีการทางการเมือง เพื่อสร้างความกดดันและนำไปสู่ความแตกแยก ดังนั้น แนวทางการป้องกันคือต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย หากมีการชุมนุมอย่างสันติวิธีรัฐบาลก็ต้องเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์มือที่สามเข้ามาสร้างปัญหา โดยมีมาตรการกำหนดกรอบให้ผู้ชุมนุม ไม่อย่างนั้นแล้วประเทศไทยก็จะอยู่ในวังวนของการชุมนุมไม่สิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น