xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นสำนักงบฯ ค้านให้สิทธิบัตรทองคนไร้สถานะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หวั่นสำนักงบฯ ค้านให้สิทธิรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะบุคคล ชี้ธรรมนูญสุขภาพระบุเป็นสิทธิพื้นฐาน วอนคำนึงหลักสิทธิมนุษยชนมากกว่าหวงงบประมาณ

นายบารมี ชัยรัตน์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และผู้แทนองค์กรเอกชนด้านชนกลุ่มน้อย กล่าวถึงกรณีที่บอร์ด สปสช. มีมติให้สิทธิด้านสุขภาพแก่กลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคลจำนวน 457,409 ราย ซึ่งเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่ บอร์ดสปสช.ผ่านมติเรื่องดังกล่าว ขึ้นอยู่ที่ ครม.จะเห็นชอบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา มติจาก สปสช.ไม่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง เนื่องจากสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางให้ความเห็นค้าน ซึ่งในการประชุมบอร์ดสปสช. เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ตัวแทนจากทั้งสองหน่วยงานไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้มีความกังวลว่าอาจจะมีการคัดค้านอีกหรือไม่ แม้ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ได้ยืนยันว่าจะเดินหน้าเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่

“ตัวเลขที่สปสช.มีมติให้ความช่วยเหลือ 457,409 ราย เป็นตัวเลขที่ได้จากกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ตัวเลขที่อุปโลกน์ขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง และสภาความมั่นคงแห่งชาติ อ้างเหตุผลเดิมๆมาตลอด แต่ขณะนี้ธรรมนูญสุขภาพ ระบุว่าต้องให้สิทธิขั้นพื้นฐานเพียงพอในการดำรงชีวิต ไม่จำกัดเพศ วัย อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ ขั้นตอนจากนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากไม่เห็นชอบอีก ผลกระทบก็จะกลับไปที่เดิมคือ โรงพยาบาลในแถบชายแดนจะต้องรับปัญหาดังกล่าวเหมือนเดิม ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะ ประชาชนในพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ”นายบารมี กล่าว
แฟ้มภาพ
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถือเป็นหน่วยงานที่ต้องใช้งบประมาณเพื่อดูแลประชาชน การจัดงบประมาณจึงต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชน และสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติเมื่อเจ็บป่วยก็จำเป็นต้องคิดถึง หลักมนุษยธรรม จะไม่ดูแลคงเป็นไปไม่ได้ และกฎหมายโลก ยังระบุความเป็นพลเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิตามกฎหมายไว้ ซึ่งไทยก็อยู่ในฐานะที่ต้องปฏิบัติตามหลักพลเมือง เนื่องจากเคยทำข้อตกลงไว้ ซึ่งรัฐบาลต้องนำมาเป็นนโยบายในการดูแลพลเมือง โดยไม่มีอคติ รวมทั้งเป็นผู้ประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นในประเทศต่างๆ ในฐานะเจ้าของพื้นที่

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องต้องตระหนักถึงความเดือดร้อนของโรงพยาบาลในพื้นที่ทุกระดับ ว่าทำงานภายใต้งบประมาณที่จำกัด การ ปฏิเสธความให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นการผลักภาระให้โรงพยาบาลในพื้นที่ ทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนทั้งคนไทย และผู้รอสถานะทำได้อย่างลำบาก ซึ่งปัญหาชายแดน ไม่ได้มีเพียงเรื่องสุขภาพ แต่ยังมีเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลควรจริงจังในการแก้ปัญหา และมีจุดยืนที่ชัดเจนทำให้เป็นเรื่องของนโยบายที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ ปัญหา

“ความตื่นตัวของหน่วยงานด้านสุขภาพ อย่างสปสช. ถือเป็นการแก้ปัญหาเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ควรคิดถึงเหตุผลด้านมนุษยธรรม จริยธรรมในการให้ความช่วยเหลือด้วย”นพ.นิรันดร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น