“มาร์ค” สั่งขันนอต จี้ “คลัง” คุมเข้มข้าราชการเบิกจ่ายงบรักษาพยาบาลสูงเกินจริง โดยล่าสุด ครม. เห็นชอบร่างกฤษฎีกาเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล ที่ระบุคำนิยามบริการแพทย์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการหาประโยชน์ในทางมิชอบ หลังอธิบดีกรมบัญชีกลาง เผย ยอดเบิกงบรักษาพยาบาล ปี 52 สูงลิบลิ่ว แถมพบข้าราชการมีเอี่ยวทุจริต เตรียมร้องหลายองค์กรเร่งสอบคนของตัวเอง
วันนี้ (14 ก.พ.) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งจัดทำรายละเอียดของการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการทั่วประเทศ รวมถึงการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และเงินเบิกจ่ายของสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติท (สปสช.) เพื่อนำมาประเมินผลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งระบบว่าเป็นอย่างไร เพื่อหาแนวทางการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้อยู่ในกรอบและดูแลให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้น โดยอยู่บนหลักพื้นฐานสำคัญว่าการได้รับสวัสดิการทั้ง 3 รูปแบบต้องไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการค่อนข้างสูงมากโดยปี 52 อยู่ที่กว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการจ่ายตรงที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแล้วว่ามีสาเหตุจากอะไร ขณะที่การเบิกจ่ายของ สปสช.ก็ไม่ได้มีปัญหาเกินกว่าที่จะขอสำนักงบประมาณได้ แต่ได้ย้ำให้ดูแลในเรื่องของโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคที่มีเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วกว่าการแก้ไข ขณะที่การเบิกจ่ายของสปส.ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงมากนัก
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แล้วซึ่งกำหนดคำนิยามของการรักษาพยาบาลไว้ชัดเจนว่า เป็นการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยตรงแก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิเพื่อรักษาโรค, ตรวจวินิจฉัย, ฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และรวมถึงตรวจสุขภาพ, สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดแต่ไม่รวมถึงการเสริมความงาม รวมทั้งได้กำหนดสิทธิการได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในกรณีต่างๆ รวมไปถึงผู้ที่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล รวมถึงครอบครัว และหลักฐานที่ต้องใช้เพื่อการขอรับสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลด้วย
ก่อนหน้านี้ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 52 เพื่อการรักษาพยาบาลสูงถึง 61,300 ล้านบาท โดยพบว่ามีข้าราชการทุจริตเบิกจ่ายเกินจริงสูงที่สุดในรอบ 3 และคาดว่าในปี 53 นี้จะเบิกจ่ายสูงขึ้นอีก หากไม่ควบคุม และส่งผลให้ต่อภาระงบประมาณที่กันไว้ โดยกรมบัญชีกลางเตรียมลงนามกับหลายองค์กรเพื่อตรวจสอบข้าราชการด้วย โดยปัญหาที่ตรวจพบมาก คือ การเบิกค่ายาโดยไม่ระบุความจำเป็นหรือข้อบ่งใช้ การคิดค่าการบริการพยาบาลทั่วไปเกินจำนวนวันนอนทุกแอดมิชชัน การคิดค่าใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การตรวจห้องปฏิบัติการ เกินกำหนดกรมบัญชีกลาง การเบิกค่าวัสดุพื้นฐานในการทำหัตถการซ้ำซ้อนกับค่าหัตถการ