xs
xsm
sm
md
lg

ดึงทีดีอาร์ไอร่วมวางแผนแก้ขรก.เบิกยาทำงบฯพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับระบบการรักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีว่า ล่าสุดสศช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อศึกษาแนวทางจัดทำระบบการออมเพื่อสุขภาพในระยะยาวว่า ควรดำเนินการในรูปแบบใดที่จะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด โดยยึดหลักการที่ต้องได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และตามสิทธิที่เคยได้รับหลังจากพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยทีดีอาร์ไอ ต้องศึกษาให้ครอบคลุมรอบด้านและสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญต้องพิจารณาว่าจะดูแลและควบคุมงบประมาณด้านนี้ไม่ให้สูงขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญแนวทางดำเนินการต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย หรือที่เรียกว่า วิน-วิน
"รูปแบบหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การตั้งกองทุนเงินออมเพื่อสุขภาพที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ เคยเสนอแนวความคิดไว้ แต่ในรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ต้องรอผลการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อน โดยอาจนำแนวทางระบบการออมเพื่อสุขภาพจากต่างประเทศมาเป็นต้นแบบแต่ไม่สามารถเลียนแบบทั้งหมดได้ โดยเชื่อว่าจะดำเนินการได้ทันตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน"
ส่วนมาตรการเฉพาะหน้านั้น กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเพื่อควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของส่วนราชการ ที่พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยโรงพยาบาลของรัฐ 34 แห่ง มีการเบิกจ่ายค่ายาเกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ที่ต้องควบคุมให้อยู่ เพราะส่วนใหญ่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ของครอบครัว
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของส่วนราชการ และครอบครัวรวมแล้วมีมากถึงปีละ 4.3 ล้านคน โดยล่าสุดในปี 52 มีมากถึง 61,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 50 มีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 46,516 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 105,220 ล้านบาท จึงทำให้ต้องวางแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการนี้สนับสนุน ให้ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อลดค่า ใช้จ่ายในเรื่องยาบางตัวที่มีราคาแพง รวมทั้งมีการตรวจสอบค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการรักษาพยาบาล
ขณะเดียวกันก็วางแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาว โดยจะกำหนดเกณฑ์ และเงื่อนไขการเบิกยาเสียใหม่ ที่ต้องพิจารณาถึงบัญชียาให้สอดคล้องกันด้วย รวมไปถึงการเหมาจ่ายค่ารักาพยาบาลในบางโรค เพราะปัจจุบันสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลคิดเป็น 12-13% ของรายรับของประเทศทั้งหมด จึงต้องควบคุมทุกด้าน และสุดท้ายคือ การแก้ไข กฎหมาย คือ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 โดยมุ่งแก้ไขใน 4 ประเด็น
คือส่งเสริมให้ข้าราชการและครอบครัวสามารถเบิกจ่ายในเรื่องของการรักษาสุขภาพได้ แทนของเดิมที่จะให้เบิกจ่ายได้เฉพาะกรณีเจ็บป่วย เพื่อส่งเสริมให้เกิด การรักษาสุขภาพมากขึ้น และจะทำให้ลดการเกิดเจ็บป่วย ,ให้สิทธิสามารถเบิก จ่ายการเข้ารักษาพยาบาลในสถานบริการ เอกชนได้ จากเดิมที่จะเบิกได้เฉพาะกรณีเข้ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน , สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ต่อเนื่องกรณีรักษาพยาบาลจนเสียชีวิต และ กรณีมี 2 สิทธิ คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิในส่วนของประกันชีวิต หรือประกันภัย ที่ซื้อความคุ้มครองไว้เอง สามารถที่จะเบิกได้ทั้ง 2 ทาง จากเดิมต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายจริงเป็นต้น
------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น