xs
xsm
sm
md
lg

ประเคนเงินเดือนส.ส.-ส.ว. อ้างให้ทัดเทียมฝ่ายบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย ใจสุมทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวานนี้ว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการพิจารณาร่าง พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธาน และรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ.... ตามที่มติครม.เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 52 รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ ส.ส., ส.ว. ซึ่งข้อสรุปที่หารือร่วมกับทางสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภาแล้วได้ข้อสรุปคือ กรรมาธิการแต่ละคณะ จะแต่งตั้งอนุกรรมาธิการไม่เกิน 2 คณะ และได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะครั้งที่มาประชุมครั้งละ 800 บาท, ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ ส.ส. ,ส.ว, กรรมาธิการสภาฯ, กรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการรัฐสภา และกรรมาธิการร่วม 2 สภาฯ ให้เบิกจ่ายตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และเบี้ยประชุมกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฏร กรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการรัฐสภา กรรมาธิการร่วมกันของ 2 สภากำหนดให้ครั้งละ 1,200 บาท ต่อครั้ง
ส่วนข้อเสนอ เกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาล ที่เสนอขอให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับข้าราชการ ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากร่างพระราชกฤษฎีกาที่เสนอ จึงเห็นควรให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเพิ่มเติม ในเรื่องสวัสดิการ การประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และค่าพาหนะ โดยให้นำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานสภาฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏรฯ ที่ครม.มีมติไปก่อนหน้านี้คือ ประธานสภาฯ (ประธานรัฐสภา) มีเงินเดือน 71,990 บาท เงินเพิ่ม 5 หมื่นบาท ประธานวุฒิสภา (รองประธานรัฐสภา) มีเงินเดือน 70,870 บาทเงินเพิ่มเติม 45,500 บาท รองประธานสภาผู้แทนฯ 69,750 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รองประธานวุฒิฯเงินเดือน 69,750 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯมีเงินเดือน 69,750 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท ส.ส.และ ส.ว. มีเงินเดือน 67,790 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการขึ้นเงินเดือน ส.ส. และส.ว.ว่า เป็นเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้มีการเสนอพระราชกฤษฏีกาขึ้นเงินเดือนเบี้ยประชุม และสวัสดิการ ส.ส. และส.ว. ซึ่งเรื่องดังกล่าว ครม.ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้ประสานงานว่า เรื่องต่างๆ ที่เสนอมานั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร เพราะว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา
ทั้งนี้ทาง ส.ส. และส.ว.ได้เสนอมา 4 ประเด็น คือ 1. เสนอให้มีการปรับเงินเดือนของประธานสภาและรองประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา และ รองประธานฯ โดยอิงตามเงินเดือนของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ โดยในส่วนนี้ถือเป็นการยืดโยงเงินเดือนกัน ในส่วน ส.ส.และส.ว. ได้มีการเสนอให้ยึดโยงกับสัดส่วนของการขึ้นเงินเดือนฝ่ายข้าราชการ
2. เสนอให้ขึ้นเบี้ยประชุมของคณะกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ โดยกรรมาธิการขอขึ้นจาก1,000 บาทเป็น1,200 บาทต่อครั้ง โดยให้เหตุผลว่าส่วนราชการอื่นๆได้ขึ้นไปหมดแล้ว 3. ขอให้ส.ส.ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทาง สามารถเบิกจ่ายค่าน้ำมันได้
4. ส.ส. และส.ว. ขณะนี้ไม่มีสวัสดิการและพยาบาล ส่วนมากจะใช้กับบริษัทประกัน ซึ่งบริษัทประกันเองก็ไม่เต็มใจ จึงอยากให้มีสวัสดิการส่วนนี้
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ภายหลังจากการหารือกับส.ส. และส.ว. วันนี้ได้มีการเสนอกลับไปยัง ครม. โดยครม.เห็นว่ามีแง่ของเงินเดือนยังต้องยึดโยงกับการคำนวนฐานเงินเดือนส่วนอื่นๆด้วย จึงขอคิดให้รอบคอบก่อน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาล อยากให้ทางสภาไปพูดคุยกับกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ จึงขอให้นำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาให้รอบคอบก่อนนำเสนอ วันนี้จึงยังไม่มีติใดๆ กับข้อเสนอของ ส.ส. และ ส.ว.
หลังจากนี้จะเป็นเรื่องที่ทางสภา และวุฒิจะไปคุยกันเรื่องสวัสดิการต่างๆ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะไปดูว่าเรื่องขึ้นเงินเดือนจะไปโยงกับฐานเงินเดือนอื่นหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตนอยากชี้แจงเรื่องนี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเข้าใจกันไปว่าอยู่ๆทำไมรัฐบาลจึงเสนอขึ้นเงินเดือนแล้วไปโยงกับการทำงานของสภา ซึ่งความจริงไม่ได้เกี่ยวกันเลย เป้นเรื่องที่ทางสภาเสนอมาพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้มีการปรับไปแล้ว
เมื่อถามว่าเกรงว่าจะถูกครหาหรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวว่า เรื่องนี้ถูกวิจารณ์อยู่แล้วเป็นธรรมดา ซึ่งก็ต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริง รัฐบาลก็คิดตรงกันคือเรื่องนี้มีเหตุผลอธิบายกับสังคมได้ ต้องมีหลักยึดโยงในการอธิบายว่าเงินส่วนนั้น ส่วนนี้ทำไมต้องขึ้น ส่วนสภาจะเสนอกลับมาครม.เมื่อใด คงต้องใช้ระยะเวลาสักพัก เพื่อไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น