xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” สั่งทบทวนร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นค่าตอบแทนท่านผู้ทรงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“มาร์ค” ตีกลับ 2 กฎหมายปรับค่าตอบแทน ส.ก.-ส.ข.สั่ง “บุญจง” ลดวงเงิน เหตุสูงเกินจริง แม้ไม่เคยปรับมานาน หวั่น “เทศบาล” เอาอย่าง ขณะที่ ครม.เห็นด้วย เงินประจำตำแหน่ง “ท่านประธานที่เคารพ” แต่ไม่ควรเท่ากัน เพราะประธานสภามีอำนาจคุมรัฐสภาด้วย ขณะที่ ส.ส.-ส.ว.ได้ค่าชดเชยน้ำมันเพิ่ม

วันนี้ (8 ก.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแลกรุงเทพมหานคร ไปทบทวนร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่นแก่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) และ กรรมการของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการการเมืองที่ปรับเพิ่ม ตามที่ กทม.เสนอ

โดย กทม.เสนอขอให้ ประธาน ส.ก.ปรับเพิ่มจาก 63,800 บาทต่อเดือน เป็น 78,920 บาทต่อเดือน หรือ 23% รองประธาน ส.ก.ปรับเพิ่มจาก 52,200 บาทต่อเดือน เป็น 64,970 บาทต่อเดือน หรือ 24% สมาชิก ส.ก.ปรับเพิ่มจาก 41,000 บาท เป็น 54,200 บาทต่อเดือน หรือ 32% ทั้งนี้ ประธาน ส.ข.ปรับเพิ่มจาก 13,630 บาทต่อเดือน เป็น 19,050 บาทต่อเดือน และ สมาชิก ส.ข.ปรับเพิ่มจาก 10,070 บาทต่อเดือน เป็น 15,250 บาทต่อเดือน

แหล่งข่าวระบุว่า แม้ที่ประชุมจะเห็นชอบในหลักการ แต่ขอให้นายบุญจงไปทบทวนภาพรวมใหม่ เพื่อเสนอกลับมายัง ครม.อีกครั้ง เนื่องจากมีการขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากเกินไป โดยห่วงว่า องค์กรอื่นๆ จะเอาไปเป็นตัวอย่าง ขณะที่รองปลัด กทม.ซึ่งเข้าชี้แจงในวันนี้ จะเข้าชี้แจงความจำเป็น เนื่องจากไม่มีการปรับให้ฝ่ายบริหารท้องถิ่นของ กทม.นานแล้ว และต้องให้เทียบกับเงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม และเงินตอบแทน ของข้าราชการระดับ 7-8-9 ของข้าราชการพลเรือน แต่ที่ประชุมเห็นว่า หากจะให้นำไปเทียบกับข้าราชการ จะยึดหลักอะไร ที่จะนำมาประเมินให้เทียบเท่ากัน

“ขณะที่ นายบุญจง ซึ่งกำกับ กทม.ไม่เห็นด้วยหากจะปรับในอัตราที่สูงขึ้น โดยระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้จับตาเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะองค์กรสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ก็จับตาดูอยู่ ว่า หาก กทม.ขึ้นเงินประจำตำแหน่ง ทางเทศบาลก็อยากจะปรับ เพราะนักการเมืองที่เข้ามาทำงานให้กับประชาชนไม่ควรที่จะมีเงินประจำตำแหน่งสูง”

แหล่งข่าวคนเดิมยังแจ้งว่า นอกจากนั้น นายอภิสิทธิ์ ยังมอบให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อนำกฏหมายเข้าสู่รัฐสภา ไปทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ ตามที่เลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ทั้งนี้ เป็นร่างกฎหมายที่เสนอมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551

“แม้จะเห็นชอบในหลักการ แต่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม เห็นว่า ในประเด็นที่จะให้เงินเบี้ยประชุม ให้กับอนุกรรมาธิการมีความเหมาะสมหรือไม่ในกรอบเม็ดเงิน เพราะอนุกรรมาธิการที่ผ่านมามามีค่าเบี้ยประชุมให้ อีกครั้งคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีจำนวนมากกว่า ร้อยคณะเพื่อศึกษาในเรื่องต่างๆ โดยได้รับทราบว่า ปัจจุบันนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มีนโยบายการให้เบี้ยประชุมกับอนุกรรมาธิการ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวประธาน ก็อาจจะต้องเปลี่ยนนโยบายนี้ก็ได้”

แหล่งข่าวระบุว่า ขณะที่สวัสดิการในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ส.ส.และ ส.ว.ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ปรับให้เป็นในระดับเดียวกันกับข้าราชการ ส่วนค่าพาหนะ เห็นชอบในหลักการ โดยเฉพาะประเด็นของค่าเครื่องบินและค่ารถไฟที่ ส.ส.และ ส.ว.จะได้ใช้บริการฟรีอยู่แล้ว แต่ในประเด็นของผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาจากจังหวัดที่ไม่มีสนามบิน ก็จะได้รับค่าชดเชยการใช้จ่ายเรื่องน้ำมันฟรี สำหรับผู้ที่เดินทางส่วนตัวมาประชุม นอกจากนั้น กำหนดให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวมาบังคับใช้กับการเดินทางของ ส.ส.และ ส.ว.โดยอนุโลม โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รักษาการตามกฤษฎีกา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่ประเด็นเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนของประธานวุฒิสภา กับประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้จะเสนอมาว่าไม่ต้องการให้มีความเหลื่อมล้ำกันมาก รวมถึงเงินประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนั้น โดยตำแหน่งประธานวุฒิสภาจะได้เงินประจำตำแหน่ง 70,870 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่ม 50,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเงินประจำตำแหน่ง 71,990 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่ม 50,000 บาท

ซึ่ง นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่า โดยสถานภาพเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น อยู่ในฐานะของประธานรัฐสภาเป็นประธานด้านนิติบัญญัติด้วย เงินประจำตำแหน่งหรือเงินเพิ่มจะสูงกว่า ซึ่งหากเงินประจำตำแหน่งหรือเงินเพิ่มสูงเท่านายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ทั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า ควรจะเทียบเท่ากัน เพราะทั้งสองตำแหน่งก็เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติไม่ได้ขึ้นต่อกันเหมือนดังเช่นประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต่างก็เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการและมีเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเท่าเหมือนกัน ขณะที่เสนอให้เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ รองประธานสภา รองประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่านค้าน จะได้รับ 69,750 และ 52,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ ส.ส.และ ส.ว.จะได้รับ 67,790 บาท และ 42,330 บาทต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น