xs
xsm
sm
md
lg

คลอดกฎเหล็กคุมเข้มประกันภัย สกัดไอ้โม่งสูบค่าเคลมบนหลังคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังเตรียมดัน กม.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับปฏิรูปใหม่ หลังเปิดเสวนาแก้ปัญหาการคุ้มครองผู้ประสบภัยล้มเหลวไม่เป็นท่า ชี้ ระบุ เก่ายุ่งยาก ทั้งการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและการเคลมประกัน สร้างภาระให้กับผู้ประสบภัยจากรถและผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ พร้อมสะท้อนปัญหาแท้จริงในปัจจุบัน ผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหายหรือได้รับต่ำกว่าความเป็นจริง ชี้ ต้นตอสำคัญ บริษัทประกันภัยแต่ละแห่ง ดำเนินการแข่งขันด้านการตลาด-สร้างเครือข่ายนายหน้า เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ปมเกินต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูง นำไปสู่ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย ทั้งต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูง ก่อให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในการขอเบิกกับทางบริษัทประกัน เนื่องจากหลักฐานและขั้นตอนการขอเบิกแต่ละบริษัทแตกต่างกัน ทำให้เกิดความล่าช้าและบางอย่างผู้ประสบภัยก็ไม่ได้รับค่าเสียหาย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธานเปิดการเสวนา “ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ เข้มแข็ง เพียงพอหรือยัง” โดยการสัมมนาครั้งนี้ ได้เชิญนักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประกอบการภัยจากรถ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมสัมมนา

นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งจากสถิติปี 2550 จำนวนรถยนต์ที่ประกันภัยตาม พ.ร.บ.เดิมมีทั้งสิ้น 25 ล้านคัน และมีเบี้ยประกันภัยกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการระบุถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และการเคลมประกันมีความยุ่งยาก สร้างปัญหาให้กับผู้ประสบภัยจากรถและผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ

ดังนั้น วงเสวนาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีและแนวคิดในการยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าว และหันมาใช้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับแทน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทาง สศค.จึงได้จัดงานสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาตามร่าง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับและนำเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ก่อนปี 2535 ประเทศไทยยังไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถ ผู้ประสบภัยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที เพราะสถานพยาบาลเกรงว่าจะไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลได้

นอกจากนี้ ผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย หรือได้รับต่ำกว่าความเป็นจริง อีกทั้งตามกฎหมายปี 2535 กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยเป็นผู้ดำเนินการรับประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งมีปัญหา 2 ด้าน คือ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงกว่าที่จำเป็น ผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนจากระบบที่เป็นอยู่ เหตุผลหลักจะอยู่ที่บริษัทประกันภัยต่างๆ ดำเนินการด้านการตลาดและสร้างเครือข่ายนายหน้า เพื่อเพิ่มและรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตน จึงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายดำเนินงานค่อนข้างสูง นำไปสู่ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย คือ ต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูง และยังก่อให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในการขอเบิกกับทางบริษัทประกัน เนื่องจากหลักฐานและขั้นตอนการขอเบิกแต่ละบริษัทแตกต่างกัน ทำให้เกิดความล่าช้าและบางอย่างผู้ประสบภัยก็ไม่ได้รับค่าเสียหาย และเมื่อประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นภาระของกองทุนประกันสุขภาพระบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินภาษีและเงินประกันตนของประชาชน หรือบางกรณีเป็นภาระของผู้ประสบภัย

นายอัมมาร กล่าวว่า เห็นด้วยที่ทางคณะกรรมาธิการสาธารณสุข มีแนวคิดเปลี่ยนโครงสร้างบริหารจัดการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับให้เป็นเอกภาพ โดยให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะเปิดโอกาสและอำนวยการให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนต่างๆ ลงได้ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ที่สำคัญให้กรมบัญชีกลางบริหารจัดการจ่ายค่าเสียหายโดยเฉพาะค่าสินไหม ทำให้กรณีที่ได้รับบาดเจ็บสถานพยาบาลจะขอเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง โดยผู้ประสบภัยไม่ต้องสำรองจ่าย หรือกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิตหรือทุพพลภาพก็ขอรับโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งค่าเสียหายเหล่านี้ผู้ประสบภัยทุกคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันและทันที โดยไม่ต้องรอผลพิสูจน์ทางกฎหมาย และสามารถลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 6 ของเบี้ยประกันภัย เท่ากับการจ่ายเงินจะมีความรวดเร็ว และป้องกันการรั่วไหลผู้ประสบภัยได้รับอย่างเต็มที่ ซึ่งแนวคิดใหม่จำเป็นต้องยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และใช้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับแทน ซึ่งขณะนี้ทาง คปภ.และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น