xs
xsm
sm
md
lg

สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. ยื่นหนังสือถึง “จุรินทร์” จี้สอบสปสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. ยื่นหนังสือถึง “จุรินทร์” เสนอแก้ปัญหาในสธ. 5 เรื่อง จี้ตรวจสอบการทำงานสปสช. อ้างงบรักษาพยาบาลไม่ถึงหน่วยบริการทั้งหมด ถูกกันไว้ทำโครงการอื่น ส่งผลโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ชงแยกงบเงินเดือนออกจากค่ารายหัวประชากร รวมทั้งให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคจากพฤติกรรมเสี่ยง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พญ.พจนา กองเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในฐานะประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาพันธ์แพทย์ฯได้ยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรี่อง ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยมีนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับเรื่อง ซึ่งสมาพันธ์ฯ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 5 ประเด็น คือ 1.กรณีปัญหาการตรวจสอบการใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง ควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกที่ประกอบด้วยบุคคลที่เชื่อถือได้และมีความเป็นกลาง การระบุว่ามีความผิดทุจริตควรมีหลักฐานที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเท่าเทียม หากพบมีการกระทำผิดก็ควรดำเนินการจนถึงที่สุด

“การจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งควรพิจารณาถึงภาระงานเป็นหลัก เพราะการบริการในโรงพยาบาลชุมชนมีต้นทุนการบริการ เทคนิคบริการที่ไม่สลับซับซ้อน ให้บริการประชาชนจำนวนไม่มาก ต่างจากรพศ./รพท.ที่มีความซับซ้อนใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ให้บริการประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นการนับจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชาชนเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถบ่งชี้ถึงภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่” พญ.พจนา กล่าว

พญ.พจนา กล่าวต่อว่า 2.ปัญหาการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากเงินงบประมาณตามรายประชากรส่งไม่ถึงหน่วยบริการทั้งหมด เพราะสปสช.กันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจัดทำโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทำให้หน่วยบริการประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงควรแยกงบประมาณที่เป็นเงินเดือนของบุคลากรและค่าตอบแทนออกจากเงินค่ารักษาพยาบาลต่อหัวประชากร และให้มีการตรวจสอบทบทวนการทำงานของสปสช. เพราะสปสช.กำลังทำเกินหน้าที่

พญ.พจนา กล่าวอีกว่า 3.ปัญหาความขาดแคลนบุคลากร ควรมีการกำหนดมาตรฐานภาระงานที่เหมาะสมของแพทย์ การกำหนดการร่วมจ่ายของประชาชนในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น โรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วย หรือการที่ผู้ป่วยต้องการบริหารเพิ่มเติมจากบริการพื้นฐานของโรงพยาบาล รวมถึง จัดสรรเงินงบประมารเพื่อจ่ายค่าตอบแทนทุกประเภท อย่างเป็นธรรม และพิจารณาเร่งรัดการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานที่สธ.ชะลอเรื่องไว้ และการจัดสรรโควตาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรอื่นๆของโรงพยาบาลในปัจจุบัน ไม่เป็นไปตามสภาพความต้องการที่แท้จริงของโรงพยาบาลในพื้นที่

พญ.พจนา กล่าวอีกด้วยว่า 4. การแยกการบริหารงานบุคลากรของสธ.ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ซึ่งไม่เข้าใจงานของสธ. กพ.มีนโยบายลดจำนวนข้าราชการลง ขณะที่บุคลากรทางสาธารณสุขยังมีจำนวนไม่พอเหมาะกับภาระงาน ทำให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรในทุกระดับ และ5.ระบบคุณธรรมและหลักการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลของสธ. การบริหารโดยไม่ชอบด้วยคุณธรรม ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล ผู้บริหารต้องแก้ปัญหาให้ถูกต้อง มีความโปร่งใส เที่ยงธรรม และพัฒนามาตรฐานการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น