แพทยสภาเห็นด้วยขรก.ใช้รักษาฉุกเฉินที่รพ.เอกชนได้ ภาครัฐได้ทั้งบริการเพิ่มและภาษีจากรพ.เอกชนที่ให้บริการ แต่ไม่เห็นด้วยหากนำเรื่องใช้ รพ.เอกชนมาคุมค่ารักษาขรก. เหตุไม่ใช่เป้าหมาย แนะทางที่ดีคือปชช.ร่วมจ่ายเบื้องต้น หากป่วยมากรัฐช่วยเหลือ
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงการคลังที่เตรียมออก พ.ร.ก.ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล โดยให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าสู่ระบบการจ่ายตรงกรณีรักษาพยาบาลฉุกเฉินในระบบสวัสดิการข้าราชการด้วยนั้น ว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการแบ่งเบาภาระของสถานพยาบาลของภาครัฐ อีกทั้งไม่ต้องลงทุนในการสร้างโรงพยาบาลรัฐแห่งใหม่ในขณะที่ภาคเอกชนมีศักยภาพในการรองรับการให้บริการอยู่แล้ว
“สิ่งที่ภาครัฐได้คือ รัฐบาลไม่ต้องลงทุนสร้างสถานพยาบาลเพิ่มเติม เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีพอที่จะรองรับการรักษาพยาบาล อีกทั้งรัฐยังได้ภาษีจากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารับการรักษาในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วยอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้แนวโน้มสถานพยาบาลในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นของเอกชน อย่างเช่น ไต้หวัน สถานพยาบาลที่ให้บริการประชาชนทั้งประเทศกว่า 70% เป็นของเอกชน”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวของทางกระทรวงการคลัง ก็ควรควบคุมกลไกราคาค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่มาใช้บริการให้เท่ากับที่เบิกกับสถานพยาบาลของรัฐ ห้ามมีการโกงราคา รวมถึงการควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการรักษาให้เท่าเทียมกันด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากมาตรการเรื่องการสามารถใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้ในกรณีฉุกเฉินของกระทรวงการคลังมีจุดประสงค์เพื่อการควบคุมค่าใช้จ่ายในสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็เห็นว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกันเท่าใดนัก เพราะจะเป็นการเน้นเรื่องความสะดวกในการใช้บริการมากกว่า แต่วิธีการคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือการให้ข้าราชการมีสิทธิร่วมจ่าย โดยมีสัดส่วนร่วมจ่ายในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการป่วยในระดับที่รุนแรง เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ภาครัฐจะเป็นผู้ที่มาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพราะคงไม่มีใครอยากป่วยจนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงจนต้องหมดตัว
“ปัญหางบประมาณที่บานปลายของสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเกิดจากการเข้ารักษาผู้ป่วยนอกมากกว่าผู้ป่วยใน ดังนั้นควรให้มีการร่วมจ่ายในระดับหนึ่ง อย่างเช่น โรคเล็กๆน้อยๆ เช่นไข้หวัด หรือโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างโรคทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส หนองใน ฯลฯ แต่หากป่วยเป็นโรคที่มีความรุนแรงอย่างมะเร็ง ภาครัฐก็ควรช่วยเหลือ ทั้งนี้การมีส่วนร่วมจ่ายจะทำให้ข้าราชการจากเดิมไม่ต้องร่วมจ่ายมียาต้นตำรับเม็ดละ 300บาทก็เลือก แต่หากร่วมจ่ายก็อาจเลือกเป็นยาสามัญที่มีคุณสมบัติเหมือนกันแต่ในราคา 60 บาทต่อเม็ด ซึ่งถูกกว่า ทำให้ประหยัดงบประมาณชาติได้ด้วย”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้การให้บริการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ทำให้โรงพยาบาลของภาครัฐเองก็ได้รับความกระทบกระเทือนในด้านค่าใช้จ่ายเช่นกัน จึงมีการเบิกค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการมาสมทบให้กับโครงการหลักประกันสุขภาพฯนี้ เหมือนลักษณะของโรบินฮูด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรแต่ก็มีการดำเนินการกันอยู่เป็นเรื่องที่รู้ๆกัน