กรมบัญชีกลาง หาทางออกงบรักษาพยาบาลข้าราชการบานเบอะ หาค่าเฉลี่ยรักษาพยาบาล เน้นไม่ลิดรอดสิทธิเดิม หากไม่ใช้สมทบเป็นบำนาญพิเศษหลังเกษียณ ด้านสปสช.ไม่เห็นด้วยไม่ช่วยแก้ปัญหา ด้าน “อ.อัมมาร” ชี้ คู่สมรส-บุตร โยกสิทธิเข้าประกันสังคม ผลดีในระยะยาว แต่รัฐบาลต้องคิดหน้าคิดหลัง เตรียมความพร้อมไม่งั้นปัญหาตามมาแน่ ขณะที่รวม 3 กองทุน เกิดยาก หาช่องทางบริหารจัดการบริการสุขภาพให้เท่าเทียมกันโดยไม่รวมกองทุนเป็นไปได้มากกว่า
นายมนัส แจ่มเวหา ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง นักวิชาการคลัง 10 ชช.กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมสัมมนาแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ได้หาวิธีแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการที่สูงเกินกว่าที่งบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ ด้วยการนำงบประมาณของปีที่ผ่านมาที่ข้าราชการมีการเบิกจ่ายด้านรักษาพยาบาลทั้งหมดหารด้วยจำนวนข้าราชการ และผู้มีสิทธิทั้งหมด โดยยึดหลักว่าจะต้องไม่ลิดรอนสิทธิที่มีอยู่สมมติว่าได้ค่าเฉลี่ยต่อคน 1 หมื่นบาทต่อปี โดยจะแบ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวเป็น 3 กองทุน 1.กองทุนสะสม 2,000 บาท 2.กองทุนการรักษาพยาบาล 5,000 บาท และ 3.กองทุนรักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 3,000 บาท
“ทั้งนี้ หากในแต่ละปีข้าราชการไม่ได้ใช้สิทธิในกองทุนในส่วนใด ก็จะนำงบประมาณดังกล่าวมาสมทบให้กับข้าราชการคนนั้นๆ และนำไปรวมกับจ่ายให้เป็นบำนาญพิเศษภายหลังจากเกษียณ ถือว่าเป็นแรงจูงใจในการออมอีกลักษณะหนึ่งไปได้คืนในช่วงเกษียณ และยังช่วยในการควบคุมการใช้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลให้เพียงพอต่องบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้” นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของผู้ที่เสนอมา ซึ่งกรมเพิ่งจะมีการนำแนวคิดดังกล่าวมาดูในรายละเอียดเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจำเป็นต้องหาข้อมูลและแนวทางรูปแบบอื่นๆ อาทิ การร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาล ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลที่สูงต่อไป โดยยังไม่มีการกำหนดว่าจะต้องสรุปแนวทางเมื่อใด แต่ต้องยึดหลักว่ารูปแบบนั้นจะต้องไม่ลิดรอนสิทธิของข้าราชการที่มีอยู่เดิม
“ส่วนประเด็นเรื่องการรวมระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งสวัสดิการข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าบริหารจัดการร่วมกันนั้น เห็นว่า ไม่ควรมีการรวมการบริหารจัดการ แต่ควรร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อให้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการที่ดีขึ้น หรือร่วมมือในการเจรจาต่อรองราคายา” นายมนัส กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า แนวคิดเรื่องนี้ของกรมบัญชีกลางถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าเป็นการให้สวัสดิการข้าราชการอีกทาง แต่การนำฐานข้อมูลที่ผิดๆ อย่างการใช้งบประมาณปีที่ผ่านมามาเป็นฐานคำนวณ ก็เป็นเรื่องที่ผิดตั้งแต่ต้นแล้วเนื่องจากงบประมาณที่ใช้ไปในแต่ละปีเป็นงบประมาณที่มีการใช้กับการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นและมีราคาแพง แทนที่จะนำข้อมูลการใช้บริการที่เป็นจริงและเฉพาะที่จำเป็น อีกทั้งยังถือว่าไม่ได้แก้ไขจุดอ่อนของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีปัญหาเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานของงบประมาณที่เสียไปได้
“นอกจากนี้ หากรัฐจะดำเนินการเช่นนี้จะถือว่าเป็นการให้สิทธิบำนาญซับซ้อนหรือไม่ อีกทั้งแนวความคิดที่ยึดหลักว่าจะต้องไม่ลิดรอนสิทธิข้าราชการเดิม ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่ต้น แทนที่จะตั้งเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ระบบบริหารจัดการของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มีประสิทธิภาพ และได้รับสิทธิทางการแพทย์ที่จำเป็น และใช้ยาที่เหมาะสมจะดีกว่า เพราะจากเดิมที่ไม่เคยมีการบริหารจัดการการใช้งบประมาณดังกล่าว มาถูกบริหารจัดการ มาถูกตรวจสอบก็ย่อมถูกมองว่าได้รับผลกระทบแน่นอน และการบริหารจัดการที่จะดำเนินการต่อไปจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร” นพ.ประทีป กล่าว
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการประชุมสัมมนาแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า การรวมกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ 1-2 ปีนี้ โดยที่การปรับรวมกองทุนต้องเป็นนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่ข้อเสนอของนักวิชาการ หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยจะต้องมีกระบวนการขั้นตอนที่จำเป็นต้องใช้เวลาอาจมีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าในอีก 10-15 ปี และมานั่งทบทวนว่าจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร
“อย่างไรก็ตาม การรวมกองทุนถือเป็นเรื่องเล็กเมื่อเปรียบกับการจัดการระบบการให้บริการรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การนำเงินจากกองทุนต่างๆ มาใช้ในการรักษาพยาบาลในแต่ละปีให้เท่ากัน เนื่องจากปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของในระบบสวัสดิการราชการสูงเกินไป ขณะที่ค่ารักษาในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่ำเกินไป” ดร.อัมมาร กล่าว
ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการย้ายคู่สมรสและบุตรจากสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ มาใช้สิทธิ์ประกันสังคมนั้น ในระยะยาวถือเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงการที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้รับสิทธิการรักษาเดี่ยวกันและใช้สถานพยาบาลเดียวกันเป็นผลดีทางการแพทย์ และทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในระบบประกันสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนแปลงระบบต้องมีการเตรียมความพร้อม หากทำแบบไม่คิดหน้าคิดหลังอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุนเป็นเรื่องยาก แต่การบริการจัดการทั้ง 3 กองทุนให้ได้รับการบริการรักษาพยาบาลในมาตรฐานเท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้มากกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลในแต่ละกองทุนได้รับเหมือนกันแต่การจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่เท่ากัน ทำให้การรับบริการรักษาพยาบาลมีคุณภาพต่างกัน