xs
xsm
sm
md
lg

ก.ย.นี้ยกเลิกบัตรทอง ใช้บัตร ปชช.แทน พร้อมนำร่อง 8 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิทยา” ประกาศเตรียมยกเลิกใช้บัตรทองไปหาหมอทั่วประเทศปลายเดือน ก.ย.นี้ ชี้ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ในโรงพยาบาลตามสิทธิ ขณะที่ ต.ค.นี้ เริ่มใช้บัตรใบเดียวได้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดนำร่อง 8 จังหวัด พร้อมศึกษาผลกระทบข้อดี-เสียก่อนขยายผลทั่วประเทศ

วานนี้ (22 มิ.ย.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองทั่วประเทศที่มีประมาณ 47 ล้านคน ไม่ต้องนำบัตรทองไปแสดงในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิ แต่สามารถแสดงเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็เข้ารับบริการในสถานบริการแห่งนั้นได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการมากขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมามีการนำร่องไปแล้วใน 37 จังหวัด และภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้จะดำเนินการให้คลอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

นายวิทยากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะดำเนินการให้ผู้ป่วยตามสิทธิดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใดก็ได้ภายในจังหวัด ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเฉพาะในโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิเท่านั้น โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวในการขอรับบริการเช่นเดียวกัน ซึ่งจะนำร่องใน 8 จังหวัด ภาคละ 2 จังหวัด ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังดำเนินการคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม

“ผมได้มอบนโยบายให้คัดเลือกจังหวัดที่มีทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการนี้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาให้สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ในประเทศไทย”นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการศึกษาผลกระทบทั้งข้อดี ข้อเสียของ “โครงการบัตรคนไทยใบเดียว” ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีการนำร่องใน 8 จังหวัด เพราะอาจเกิดปัญหาชอปปิ้ง อะราวด์ (Shopping around) คือ มีผู้ป่วยเวียนเข้ารับบริการในโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อนำยามาขาย ซึ่งพบว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นในระบบสวัสดิการราชการแล้ว ดังนั้นคงต้องหาทางแก้ไขปรับปรุง ให้ระบบแต่ละโรงพยาบาลมีการเชื่อมโยงกันและสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยแต่ละรายไปรับบริการที่โรงพยาบาลใดมาบ้างและได้รับยาไปจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ เพื่อที่แพทย์จะได้ไม่สั่งยาหรือให้บริการซ้ำซ้อน

“อาจมีความจำเป็นต้องมีการรื้อระบบฐานข้อมูลทั้งหมด ซึ่งสปสช.จะเป็นผู้วางระบบในเรื่องนี้ จนเมื่อระบบลงตัวก็สามารถที่จะขยายให้ใช้มาตรการนี้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลามากน้อยเท่าไหร่ คงต้องมีการพัฒนาระบบต่อไป”นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้มานานถึง 7 ปี อาจจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เนื่องจากเนื้อหาสาระบางส่วนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เช่น การรวมสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าด้วยกัน และการให้ สปสช.เร่งรณรงค์การส่งเสริมสุขภาพประชาชนเป็นหลักเพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ส่วนเรื่องที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ายาหรือค่ารักษาพยาบาลนั้น ส่วนตัวเป็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะการรักษาพยาบาลในบางโรคผู้ป่วยก็ร่วมจ่ายอยู่แล้ว เช่น การฟอกไต ที่ผู้ป่วยต้องร่วมจ่าย 500 บาท แต่สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการคือการลดจำนวนเงินที่ผู้ป่วยต้องร่วมจ่ายลง
กำลังโหลดความคิดเห็น