ที่ประชุม ผอ.โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลงมติให้ข้าราชการร่วมจ่ายค่ายาต้นตำรับเร็วๆ นี้ ชี้ หากเลือกยาสามัญไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เหตุถังแตก ตั้งงบ 4.85 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายแค่ครึ่งปีเหลือแค่ 6 พันล้าน พร้อมส่งต่อกรมบัญชีกลางตัดสินใจ
นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 34 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ฯลฯ เกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยในที่ประชุมมีมติให้ข้าราชการร่วมจ่าย (โคเพย์เมนท์) ค่ายา เนื่องจากขณะนี้ งบประมาณในปี 2552 จำนวน 4.85 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ ต.ค.2551-12 มิ.ย.2552 ใช้งบไปแล้ว 41,685 ล้านบาท เหลืองบประมาณเพียง 6,815 ล้านบาท ขณะที่ยังเหลือเวลาอีก 6 เดือน ก่อนหมดปีงบประมาณ 2552 แต่รัฐบาลจะไม่ให้นำเงินคงคลังมาใช้ในกรณีดังกล่าวอีกหากมีการใช้จ่ายเกิน
“ในที่ประชุมของคณะกรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีมติตกลงกันว่าต้องมีการร่วมจ่ายในกลุ่มยาต้นตำรับที่มียาสามัญสามารถรักษาโรคแทนได้ด้วย โดยยาสามัญดังกล่าวสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งหมดตามปกติ แต่ในส่วนยาต้นตำรับอาจมีการให้ร่วมจ่าย แต่จะจ่ายสัดส่วนเท่าใดนั้นยังไม่มีการระบุแน่ชัด ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์และผู้ป่วยเลือกใช้ยาสามัญแทนยาต้นตำรับในขณะที่โรคหนึ่งสามารถใช้ยาได้สองชนิดก็ควรเลือกยาถูกที่มีคุณภาพที่โรงพยาบาลคัดเลือกแล้ว ส่วนโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาต้นตำรับรักษาโรคโดยไม่มียาสามัญทดแทนก็สามารถเบิกได้ตามปกติ”นพ.ธันย์ กล่าว
นพ.ธันย์ กล่าวว่า เชื่อว่า ในอนาคตการร่วมจ่ายในเรื่องค่ายาจะเกิดขึ้นในไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะยา 10 อันดับต้นๆ ที่มีการใช้เป็นจำนวนมากของคนไทย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สรุปกันนี้คงต้องรีบดำเนินการภายในเร็วๆ นี้ เพราะหากไม่ดำเนินการงบประมาณที่มีอยู่คงทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รับรักษาข้าราชการเกิดความลำบากอย่างแน่นอน
“ขอให้กรมบัญชีกลางกล้าที่จะดำเนินการตามข้อเสนอของผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ดำเนินการเรื่องโคเพย์เมนต์ในเร็ววัน เพื่อให้แก้ไขปัญหาการใช้จ่ายได้ ขณะเดียวกัน จะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมยาในประเทศที่ผลิตดีมีคุณภาพได้รับการอุดหนุนจากที่ผู้ป่วยไทยเลือกใช้ยามากขึ้น”นพ.ธันย์ กล่าว