xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ยันยังไม่จำเป็นต้องร่วมจ่าย โวรัฐจัดสรรงบเพียงพอแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สปสช.ยันยังไม่จำเป็นต้องร่วมจ่าย รัฐจัดสรรงบเพียงพอแล้ว เพิ่มเพราะผู้ป่วยไม่ได้หาหมอพร่ำเพรื่อ ขณะนี้มีการร่วมจ่ายเพียงโรคเดียว คือ ไตวาย ด้าน อภ.ซัด ข้อเสนอพรีม่ามีเงื่อนงำ ไม่หวังดีต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

จากกรณีที่สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ที่ออกมาระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนไปใช้บริการทางการแพทย์พร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น ส่งผลให้รัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง โดยเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย และให้แก้ไขบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยให้ปลดยารักษาโรคพื้นฐานออก เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตตามอล ยาแก้ไอ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้บรรจุยาราคาแพงเข้าไปแทน รวมทั้งชี้ให้เห็นว่า ระบบการประมูลจัดซื้อยาของรัฐทำให้ได้ยาไร้คุณภาพ จึงควรมีทางเลือกให้กับประชาชนในการซื้อยาได้เองในร้านขายยา

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การร่วมจ่าย เป็นระบบที่ออกแบบไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนมาใช้บริการพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็นเท่านั้น เป็นเพียง Co-payment ไม่ใช่ Co-finance เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเก็บค่ารักษาพยาบาลจากประชาชนเพิ่มอีก ที่สำคัญ ขณะนี้ถือว่าการร่วมจ่ายยังไม่จำเป็น เพราะระบบการแพทย์ไทยยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักในการเดินทางมารักษาโรค ผู้ป่วยต้องรอนาน หรือมีปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ดังนั้น หากประชาชนไม่ป่วยหนัก ก็จะไม่มาโรงพยาบาลอย่างแน่นอน

“ขณะนี้ สปสช.มีโครงการร่วมจ่ายเพียงโครงการเดียวและเป็นโครงการแรก คือ การบริการทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นการร่วมจ่ายในกรณีผู้ป่วยไตวายฯ รายใหม่ที่ต้องการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยร่วมจ่าย 1 ใน 3 หรือประมาณ 500 บาทต่อครั้ง ส่วนในอนาคตจะมีโครงการร่วมจ่ายเพิ่มเติมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาความเหมาะสมต่อไป แต่ที่ผ่านมาในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีการพิจารณาเรื่องนี้หลายครั้ง โดยมีผู้เสนอให้ร่วมจ่าย เช่น ห้องพิเศษ ค่ายา ผู้ป่วยในที่นอนพักโรงพยาบาล เป็นต้น แต่มีข้อโต้แย้งหลายหลายประเด็น จึงยังไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พรีม่าเสนอให้แก้ไขบัญชียาหลัก โดยให้ปลดยารักษาโรคทั่วไปออก และบรรจุยารักษาโรคเฉพาะทาง หรือยาราคาแพงแทนนั้น เรื่องนี้พรีม่าคงเข้าใจผิดอย่างแน่นอน เพราะยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะพิจารณาจากคุณภาพ ประสิทธิภาพรักษาโรค และความคุ้มค่า เป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาเฉพาะยาชนิดใหม่ๆ หรือราคาแพงเท่านั้น และในบัญชียาหลักแห่งชาติจะมีทั้งยาสามัญกับยาต้นแบบ แต่ต้องเป็นยาที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประชาชน

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า เจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยที่ไม่มีปัญหาทางการเงินมาเป็นอุปสรรค ซึ่งระบบนี้ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ขณะนี้การให้บริการทางการแพทย์ของภาครัฐ ยังมีปัญหาคือ มีโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน จึงทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวกสบายมากนัก

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) พูดถึงข้อเสนอต่างๆ นั้นเป็นการพูดแบบที่มีเงื่อนงำ และผลประโยชน์แอบแฝง ไม่หวังดีต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงใช้วิจารณญาณและความระมัดระวังในการรับฟังใดๆ เพราะการที่ระบุว่ายาที่มาจากการประมูลแข่งขันของสถานพยาบาลนั้น อาจไม่มีคุณภาพนั้น เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ควรที่จะแสดงหลักฐานมา ทั้งนี้ ทุกฝ่ายมีหน้าที่ให้ทำตามระเบียบ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ หากมีหลักฐานก็ส่งมาให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุง

“การพูดของพรีม่าเหมือนว่าเป็นเรื่องหวังดี แต่ไม่ควรรับฟังข้อเสนอใดๆ เพราะเป็นข้อเสนอแบบที่มีเงื่อนไข มีเลศนัย อีกทั้งการวิจารณ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ทำให้ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็ถือว่าเป็นการพูดที่แสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเลย นอกจากนี้ ในเรื่องของสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรมในการที่สถานพยาบาลของภาครัฐจะต้องซื้อยาและเวชภัณฑ์จาก อภ.นั้นก็ไม่ควรหยิบยกมาเป็นประเด็น เพราะปัจจุบันสิทธิพิเศษเหล่านั้นได้ลดน้อยลงไปมากแล้ว”นพ.วิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น