“พรีม่า” เสนอถอดยาแก้ปวดหัวตัวร้อน รวมถึงยาโรคพื้นฐานออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ ชี้ เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระให้หมอ แถมยุรัฐให้ประชาชนร่วมจ่าย ลดใช้ยาฟุ่มเฟื่อย
วันที่ 26 มีนาคม ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ภก.ธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยประชาชนไม่ต้องร่วมจ่ายในค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการมากขึ้นเกินความจำเป็น และภาครัฐต้องแบกรับภาระมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงเสนอให้มีการนำระบบร่วมจ่ายมาใช้ เพื่อให้ประชาชนพิจารณาความจำเป็นของการเข้ารับบริการลดภาระภาครัฐ รวมทั้งเสนอให้นำยาพื้นฐาน เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาแก้ไอ ฯลฯ ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย และถือเป็นการเจ็บป่วยเพียงเเล็กน้อยไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แพทย์โดยไม่จำเป็น อีกทั้งทำให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกยา โดยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีคุณภาพ แม้ว่ายาจะแพงขึ้น แต่ก็เป็นยาที่ประชาชนมั่นใจในคุณภาพและพร้อมที่จะร่วมจ่าย
“ยาที่สถานพยาบาลภาครัฐซื้อเป็นยาที่มาจากการประมูลราคา ทำให้รัฐพยายามให้ได้ราคายาที่ถูกที่สุด ซึ่งคุณภาพของยาไม่ได้ควรดูที่ราคาเพียงอย่างเดียว ประชาชนควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกยาที่มาจากการประมูลจากสถานพยาบาลหรือเลือกซื้อยาที่แพง แต่เชื่อมั่นว่ามีคุณภาพ เป็นสิ่งที่สมาคมอยากเห็น ส่วนคุณภาพยาในโรงพยาบาลขณะนี้จะดีหรือไม่ดีอย่างไร ขอให้ถามเภสัชกรที่อยู่ในต่างจังหวัดจะทราบดี เพราะได้รับการร้องเรียนมาว่า ยาบางรายการเก็บไม่กี่เดือนก็สีเปลี่ยน ส่วนยาฉีดก็พบว่ามีตะกอนด้วย” ภก.ธีระ กล่าว
ภก.ธีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การที่ภาครัฐรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกอย่าง ทำให้โรงงานผลิตยาต้องลดราคายาแข่งขันกัน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนายาและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในประเทศอย่างมาก และในอนาคตยาจะกลายเป็นสินค้าปลอดภาษี ถ้าไทยไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ ยาจากต่างประเทศจะทะลักเข้ามาแบบหนีภาษี ดังนั้น การร่วมจ่ายสามารถทำให้กำหนดหลักเกณฑ์คุณภาพของบริษัทยาได้ เช่น หากได้รับการรับรองมาตรการการผลิต (จีเอ็มพี) เป็นเวลา 1 ปี ควรขายต่ำกว่าราคากลางที่ภาครัฐกำหนด หากได้จีเอ็มพีเป็นเวลา 2 ปี สามารถขายเท่ากับราคากลาง ส่วนที่ได้จีเอ็มพีมาตรฐานสากลของยุโรปสามารถขายได้สูงกว่าราคากลางไม่เกิน 10% ทำให้บริษัทยาภายในประเทศมีกำไรเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยได้
“ตั้งแต่มีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมา ทำให้การซื้อยาของประชาชนจากร้านขายยาลดลงจากปี 2542 มี 34% เหลือเพียง 21% ในปี 2551 ในขณะที่การได้รับยาจากโรงพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 66% เป็น 79% จึงแสดงให้เห็นว่าประชาชนใช้บริการในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้แพทย์มีภาระงานหนักขึ้น แต่หากสนับสนุนให้มีการซื้อยาจากร้านขายยามากขึ้นก็จะเป็นการช่วงลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐอีกทางหนึ่ง โดยให้ประชาชนแบ่งเบาภาระ” ภก.ธีระ กล่าว
ภก.ธีระ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ในปี 2551 ไทยมีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ข้อมูลของบริษัท ไอเอ็มเอส เฮลท์ ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลตลาดยาทุกประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาผ่านทางร้านขายยาและโรงพยาบาลจำนวน 9.9 หมื่นล้านบาท โดยยาที่มีการบริโภคยาที่สุด คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท หรือเป็น 18% ของยาทุกชนิด รองลงมา คือ ยาด้านโรคหลอดเลือดและหัวใจ 1.6 หมื่นล้านบาท และยาระบบทางเดินอาหาร 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ที่น่าเป็นห่วงที่พบว่ามีการอัตราเติบโตมาจนน่ากลัวมาก คือ ยาในกลุ่มรักษาโรคมะเร็ง เพราะมีมูลค่า 7 พันล้านบาท และมีอัตราเติบโต 21% ต่อปี สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของการเติบโตของตลาดยาของไทยที่อยู่ที่ 14% เท่านั้น
“ทั้งนี้ การที่อัตราการเติบโตของยาในกลุ่มมะเร็งเพิ่มขึ้นนั้น หากมองในแง่ดีก็อาจเป็นเพราะว่าผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น หรือมีอายุในการเจ็บป่วยนานขึ้น จากโรคร้ายแรงเป็นโรคเรื้อรัง แต่หากแง่มุมลบก็อาจเป็นการใช้ยาสิ้นเปลือง” ภก.ธีระ กล่าว
ภก.ธีระ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดและบริษัทสมาชิกยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงสาธารณสุข ที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี ภญ.สำลี ใจดี เป็นประธานได้พิจารณายาที่มีความจำเป็นแต่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งยา 3 รายการที่มีความจำเป็นคือ ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ริทุกซิแมบ และยารักษาโรครูมาตอยด์ หรือปวดข้ออักเสบอินฟิกซิแมบ และอีธานเนอเซบ โดยไม่ทราบเรื่องเจรจาต่อรองใดๆ รวมถึงการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ด้วย เนื่องจากพรีม่าคิดว่าซีแอลควรเป็นวิธีสุดท้ายที่จะดำเนินการ