มติคณะอนุกรรมการซีแอลฯ ไม่พอใจผลเจรจาต่อรองราคายารักษา "มะเร็งเม็ดเลือดขาว-รูมาตอยด์" ให้ "หมอศิริวัฒน์" ต่อรองราคาใหม่ เหตุบริษัทยาไม่ยอมลดราคา แต่ใช้วิธีแถมเท่ากับลด แถมให้เฉพาะผู้ป่วยบัตรทองไม่คลอบคลุมประกันสังคม สวัสดิการราชการ ระบุต้องลดลงมากกว่านี้ ด้าน “อ.สำลี” กลุ้มยาจิตเวชผู้ป่วยก็ยังไม่ได้รับยา เพราะ "วิทยา" ยังไม่ยอมเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการยาแห่งชาติ
รายงานข่าวจากคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพที่มี ภญ.สำลี ใจดี เป็นประธานแจ้งว่า คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาฯ ยังไม่เห็นชอบกับราคายา3 รายการ คือยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรครูมาตอยด์ ริทูซิแม็บ ของ บ.โรช จำกัด (ประเทศไทย) ยารักษาโรครูมาตอยด์ อีธาเนอเซป ของ บ.ไวเอท และยารักษาโรครูมาตอยด์ อินฟลิซิแม็ป ของ บ.เชอริง พราวด์
ทั้งนี้ แม้คณะทำงานต่อรองราคายาฯ สามารถต่อรองราคายาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรครูมาตอยด์ ริทูซิแม็บลงมาเท่ากับประมาณ 1 เท่าของGDP จากราคาเดิม หรือราคาอยู่ที่ 1.3 แสนบาทต่อการรักษาผู้ป่วย 1 คนหรือลดลงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ทางบริษัทใช้วิธีการแถมแทนการลดราคา อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมทั้ง 3 ระบบคือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง จึงมีมติให้คณะทำงานกลับไปเจรจาต่อรองราคายาอีกครั้ง
ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ได้เสนอผลการเจรจาต่อรองราคายา 3 รายการให้กับคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาฯ ไปแล้ว ซึ่งหากคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาฯไม่พอใจผลการเจรจาก็ยินดีที่จะเจรจาต่อรองกับบริษัทยาใหม่
“ราคายาที่บริษัทยายอมลดเป็นราคาที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ หากยาดังกล่าวถูกบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งอาจต้องใช้เวลาแต่จะทำให้ผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการได้รับอานิสงส์ไปด้วย ดังนั้น ในการเจรจาได้ราคาเดียวกับคลอบคลุม3ระบบ หรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็น"นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
ด้าน ภญ.สำลี ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์โดยกล่าวแต่เพียงว่า การช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาทั้ง 3 รายการข้างต้นยังมีขั้นตอนอีกมาก เพราะแม้กระทั่งยาจิตเวชที่ดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาก่อนหน้านี้ โดยเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.51 จนถึงขณะนี้ผู้ป่วยจิตเวชก็ยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เนื่องจากต้องมีการบรรจุรายการยาดังกล่าวเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ในระบบหลักประกันได้ โดยนำให้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา แต่จนถึงขณะนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเสนอตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติซึ่งต้องนำเสนอต่อพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีว่า กำลังรอรายชื่อจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำเสนอมายังตน ซึ่งหากได้รับแล้วจะนำเสนอต่อไป