xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กคลังแย้มไม่เลิกอีออกชั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – คลังยังไม่ตัดสินใจยกเลิกการประมูลแบบอีออกชั่นตามที่ภาคเอกชนเสนอระบุยังมีเวลาทบทวนอีกกว่า 2 เดือน ขณะที่เร่งหามาตรการแก้ปัญหาเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากกว่างบประมาณที่ตั้งไว้

นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดี กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ให้ยกเลิกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์(อีออกชั่น) ที่เกี่ยวกับการประมูลงานก่อสร้าง อยู่ระหว่างการทบทวนว่า อี ออกชั่น มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และหากจะต้องยกเลิกจะใช้ระบบใดแทน ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป เพราะยังมีเวลา 2 เดือนในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งอี ออกชั่น จะมีข้อดีคือ ประกาศรายละเอียดโครงการที่จะประมูลผ่านเว็บไซด์ ถือว่าเปิดกว้างและโปร่งใส

“แม้ว่า จะโปร่งใสแต่ขั้นตอนจะล่าช้ากว่าการเรียกมาเปิดซองประมูลพร้อมๆ กัน เพราะยังเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและปรับปรุงรายละเอียดโครงการใหม่ได้ถึง 2 ครั้ง ทำให้กว่าจะผ่านขั้นตอนประมูลได้ก็ช้า แต่การจะระบุคุณสมบัติงานที่ชัดเจนมาก ก็จะทำให้ได้ราคาแพง เพราะผู้เข้าข่ายประมูลอาจจะมีเพียงรายเดียวเท่านั้น จึงต้องเขียนรายละเอียดให้กว้างไว้ แต่ไม่ว่าจะใช้ระบบประมูลแบบไหน ก็ไม่สามารถหนีการฮั้วการประมูลได้ ตราบใดที่สังคมไทยยังเป็นเช่นนั้น” นายมนัสกล่าว

นายมนัสกล่าวถึงปัญหางบสวัสดิการข้าราชการที่มีการเบิกเกินจำนวนมากว่า ในปีที่แล้วได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ เพราะกรมบัญชีกลางจ่ายไปทั้งสิ้น 5.49 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในปีนี้จึงได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับสรรมาเพียง 4.8 หมื่นล้านบาทเท่ากับปีก่อน จึงได้ชี้แจงไปยังแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ไปแล้ว 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบดูในส่วนที่เพิ่มรวมถึงการทำหนังสือไปด้วยว่า หากพบข้าราชการร่วมทุจริตด้วย จะมีความผิดทางวินัยและอาญาด้วย

“เราได้เสนอออกมาตรการที่รุนแรง เพื่อแก้ไขปัญหาการเบิกสวัสดิการสุขภาพที่สูงเกินจริง ซึ่งได้เสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาเราจะใช้ลักษณะการปะผุมาตลอด หรือคอยแก้ปัญหาตรงจุดที่รั่วไหล แต่ก็ไม่สามารถแก้ได้หมด เพราะที่ผ่านมายังพบว่า ข้าราชการมีพฤติกรรมเวียนเทียน คือไปเบิกยาในหลายๆ โรงพยาบาลที่ห่างกัน เพื่อมาเบิกสวัสดิการจากรัฐ หรือบางแห่งเป็นในลักษณะที่หมอจ่ายยาที่มากเกินจำเป็น โดยเฉพาะยานอกบัญชี” นายมนัสกล่าว

สำหรับการออกพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาท นายมนัสกกล่าวว่า เชื่อว่าในที่สุดจะผ่านการพิจารณาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่หากพ.ร.ก.ไม่ผ่านจริงๆ คงเป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ในฐานะที่เป็นฝ่ายดูแลจัดหาเงินกู้ของรัฐบาล ส่วนกรมกรมบัญชีกลางในฐานะที่ดูแลการเบิกจ่ายเงิน ที่ทำได้คือการชะลอการเบิกจ่ายเงิน ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างออกไปก่อน เหมือนที่เคยทำเมื่อปี 2540 ช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและไทยได้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งจะมีข้องบังคับว่าจะต้องสำรองเงินสดไว้ 1% ของจีดีพี กรมบัญชีกลางจึงต้องชะลอการเบิกจ่ายในบางโครงการออกไปในส่วนที่ทำได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น