xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมขึ้นค่าแรงต้นปีหน้าภูเก็ตเพิ่ม9บาท-กทม.ได้2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2552 ว่า ขณะนี้อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ 76 จังหวัด ได้เสนอขอปรับค่าจ้างมายังคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง เพื่อพิจารณาแล้ว โดยได้เสนอให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1- 9 บาท ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมีการปรับเพิ่มมากที่สุด 9 บาท
ทั้งนี้ มี 20 จังหวัดที่อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดไม่ขอปรับเพิ่ม แต่คณะอนุกรรมการวิชาการฯได้พิจารณาแล้ว เหลือเพียง 6 จังหวัดที่ไม่ปรับเพิ่ม ส่วนอีก 14 จังหวัดที่เห็นว่ามีการปรับเพิ่มเนื่องจากพิจารณาจากอัตราค่าขนส่งสินค้า ค่าครองชีพ ราคาสินค้าต่างๆ เป็นหลัก ดังนั้นในปีนี้มีทั้งหมด 70 จังหวัด ที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งจะนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ หากในที่ประชุมมีมติที่ชัดเจนว่าควรปรับขึ้นทั้ง 70 จังหวัด จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณา เห็นชอบในปลายเดือน ธ.ค. คาดว่าไม่เกินต้นปี 2553 ผู้ใช้แรงงานจะได้ทราบข่าวดีต้อนรับปีใหม่
ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 2 บาท สำหรับการปรับโซนค่าจ้างเพื่อให้อัตราค่าจ้างอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่เลื่อมล่ำกันมาก อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้ศึกษาควบคู่กับการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ.
นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนตา มาตรา 40 พ.ศ... เพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ
ทั้งนี้เห็นชอบให้มีการแก้สิทธิจากเดิม 3 กรณี จากคลอดบุตร ทุพลภาพและตาย โดยเพิ่มอีก 2 กรณีคือ เจ็บป่วยและชราภาพ เพื่อจูงใจในการสมัครเป็นผู้ประกันตน ในมาตรา 40 และให้เกิดความคุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เพราะปัจจุบันต้องจ่าย ฝ่ายเดียว จำนวน 3,360 บาทต่อปี โดยแก้ไขให้จ่ายเงินสมทบจากปีเป็นเดือนละ 280 บาทได้ คาดว่าจะมีแรงงานนอกระบบสมัครเข้าใช้สิทธิประโยชน์ได้ถึง 9 แสนคน จากเดิมปี 2550-2552 มีแรงงานนอกระบบสมัครเพียง 51 คน โดยเฉพาะปี 2550 ปีแรกมีผู้สมัครเพียง 3 คน
แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ได้เสนอความเห็นว่า รัฐบาลควรจะร่วมจ่ายเงินเป็นรายเดือนอยู่ภายใต้ข้อเสนอว่า รัฐบาลจะสามารถจ่ายเงินค่าช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้หรือไม่ โดยรัฐบาลจะไม่จ่ายเงินก้อน แต่ร่วมสมทบจ่ายเดือนละ 160 บาท เฉพาะเดือนที่มีการจ่ายสมทบในช่วงปี 2553 เท่านั้น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1,800 ล้านบาทในปี 2553
อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีบทบัญญัติให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงิน สมทบ ซึ่งเงินจำนวนคนละ 2,000 บาทจากโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพฯ เปรียบเสมือนเป็นเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับแรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
ครม.ยังไม่เห็นชอบเรื่องนี้ โดยเห็นว่า กฎหมายไม่สามารถเปิดช่องให้ทำได้ แม้รมว.แรงงาน จะเสนอให้รัฐบาลช่วยจ่ายรายเดือนให้กับผู้ประกันตนนอกระบบ เพื่อเป็นโปรโมชั่น จูงใจแรงงานนอกระบบให้มาร่วมประกันตน ส่วนการที่จะโยกเงินจากในระบบมาช่วยนอกระบบก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่มีใครคัดค้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น