xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯ จี้สอบอัยการถ่อย ฟิวส์ขาดตะคอก ปชช.กลางศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรมการสิทธิฯ เห็นด้วยเทียบเชิญ “อานันท์” ร่วมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด ชี้ข้อสรุปพิสูจน์ภาวะผู้นำมาร์ค ขณะเดียวกัน เตรียมสอบ “อัยการ” ละเมิดสิทธิภาคประชาชนต่อการมีส่วนร่วม ระหว่างการไต่สวนคดีต่อหน้าบัลลังก์ศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ (5 พ.ย.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเห็นด้วยกับการที่จะมีการเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด เพราะนายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคราชการ หรือภาคประชาสังคม อีกทั้งยังเคยเป็น กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์อีกด้วย ส่วนเรื่องบทบาทของคณะกรรมการ4 ฝ่ายนั้นคงต้องขึ้นกับนายอานันท์จะเป็นผู้กำหนด เพราะในคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีสัดส่วนของทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในภาคต่างๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ บริษัทด้านพลังงานอย่าง ปตท. และเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งสังคมต้องพร้อมรับการเผชิญหน้า และตนเชื่อว่านายอานันท์จะสามารถบริหารจัดการความขัดแย้งได้

นพ.นิรันดร์ ยังเห็นด้วยที่ภาครัฐต้องจัดให้มีกรรมการอิสระมาเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อน มีทั้งผลดีผลเสีย อีกทั้งยังส่งผลกระทบถึงเรื่องความเชื่อมั่นในการบริหารของทางรัฐบาล ทั้งนี้ตนไม่ได้มองเพียงแค่กรณีมาบตาพุดเท่านั้น แต่กรณีนี้จะนำไปเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันของพื้นที่อื่นได้

เมื่อถามว่า มองว่ารัฐจะนำข้อสรุปของกรรมการชุดนี้ไปใช้มากน้อยเพียงใด นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์ภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพราะการบริหารต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องเจอกับคนที่ไม่เห็นด้วย หรือต้องเข้าไปตรวจตราหน่วยงานต่างๆ แต่หากนายกฯ ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้วไม่ทำตามแนวทางที่เสนอไป ประชาชนก็อาจจะหมดหวังได้ อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมานั้น ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของการซื้อเวลาแต่อย่างใดถ้าหากจะตั้งขึ้นมาแล้วสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเรื่องนี้เราให้อำนาจฝ่ายบริหารเป็นผู้ตัดสินใจ

นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงกรณีตัวแทนอัยการแสดงท่าที่ไม่เหมาะสมต่อคู่กรณีขณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดไต่สวนเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ทางกรรมการสิทธิฯ จะตรวจสอบว่ามีการใช้กิริยาวาจาอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่ เพราะหากมีการกระทำเช่นนั้นจริงก็จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นศาลหรือไม่ พฤติกรรมดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และไม่ควรจะเป็นการแสดงออกของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคนที่เป็นตัวแทนภาครัฐต้องแสดงออกถึงความมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ เพราะเรื่องนี้จะส่งผลถึงความศรัทธาเชื่อมั่น โดยคณะกรรมการสิทธิฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าตรวจสอบในคณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และติดต่อไปยังประธานศาลปกครอง เพื่อขอข้อมูลและเทปบันทึกเหตุการณ์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น