xs
xsm
sm
md
lg

พธม.เล็งถอด102ส.ส. ยื่นแก้รธน.ขัดม.122

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - พันธมิตรฯ เตรียมหารือฝ่าย กม.เข้าชื่อถอดถอน 102 ส.ส.กระทำการขัด รธน.มาตรา 122 หลัง 5 พรรคร่วมยื่นญัตติแก้ไข รธน.แล้ว 2 มาตรา แถรธน.50 ก่อปัญหา สร้างความแตกแยก องค์กรอิสระทำตามอำเภอใจ ใช้ 2 มาตรฐาน เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ฝัน ส.ส.ปชป.ร่วมโหวตหนุน "ชัย" ไม่ถือเป็นวาระเร่งด่วน


ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้ (3 ก.พ.) แกนนำสพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พล.ต.สนั่นขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรค ภูมิใจไทยชาติพัฒนา นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นพ. วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายไชยยศ จิระเมธากร เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน นายชยุต ภูมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคกิจสังคม ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 2 ประเด็นคือมาตรา 94 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ส.ให้มาจากการเลือกตั้งเขตละคนและมาตรา 190 เกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา โดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับญัตติดังกล่าว

นายบุญจง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้มา 2 ปีเศษ ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน สร้างความแตกแยกในสังคม องค์กรอิสระทำงานตามอำเภอใจ มีข้อครหาว่า 2 มาตรฐาน ตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาพิเศษ มิได้มุ่งหวังต่อยอดพัฒนาประชาธิปไตย ให้เดินไปข้างหน้า ตรงกันข้ามกลับฉุดให้การพัฒนาประชาธิปไตยต้องย่ำอยู่กับที่ ถอยหลังไปสู่วังวนการเมืองแห่งอดีต รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งงานต้องล่าช้าเสียศักดิ์ศรีและเสียผลประโยชน์ในเวทีระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกจำนวนมากที่สร้างความ ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่มบางพวก ซึ่งมีทั้งผู้มีส่วนร่วมในการยกร่างและเห็นชอบโดยเฉพาะไม่มีการแยกคนดีคนไม่ดี ไม่มีการแยกน้ำแยกปลาออกจากกัน คนทำผิดไม่แยกออกจากคนไม่ได้ทำผิด ส่งผลให้สังคมต้องประสบความวุ่นวาย แตกแยก ยากจะเยียวยาได้จนถึงทุกวันนี้

นายบุญจง กล่าวว่า ส.ส.ดังที่มีรายนามแนบท้าย มีความห่วงใย ในสถานการณ์แตกแยก 2 มาตรฐานและความไม่เป็นธรรมและเสมอภาคที่กำลังเป็นปัญหาของสังคมอยู่ขณะนี้ จึงเห็นพ้องต้องการว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประธานรัฐสภาแต่งตั้งสามารถเยียวยาและแก้ไขวิกฤตสังคมและรัฐธรรมนูญได้ไม่มากก็น้อยสมควรได้รับการต่อยอดให้เป็นรูปธรรม ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ต้องเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องและเหมาะสม แก่สภาวการณ์ปัจจุบัน ถ้าไม่ทำอาจถูกกล่าวหาว่าละเลยไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้นส.ส.ดังมีรายนามแนบท้าย จึงขอต่อยอดข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯให้เป็นรูปธรรม โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 โดยในเบื้องต้นแก้ไขรวม 2 ประเด็น ใน 6 ประเด็น คือมาตรา 94 เกี่ยวกับที่มาของส.ส.ให้มาจากการเลือกตั้งเขตละคนและมาตรา 190 เกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากประสบผลสำเร็จ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ผลงานชิ้นโบว์แดงของลูกผู้ชายชื่อ ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา

**ชัยไม่บรรจุเป็นวาระด่วน

จากนั้น นายชุมพลและพล.ต.สนั่นได้มอบญัตติดังกล่าวพร้อมลายเซ็นส.ส. 102 คนที่สนับสนุนญัตติดังกล่าวแก่ประธานรัฐสภา

ด้านนายชัย กล่าวว่า การยื่นญัตติดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำในนามส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ใช่ในนาม ครม. การดำเนินการต่อไปจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่สภา ไม่ใช่นายชัย ทั้งนี้ ตนจะส่งเจ้าหน้าที่กองการประชุมตรวจสอบรายละเอียด และลายเซ็นสมาชิกว่าครบตามเกณฑ์ 1 ใน 5 หรือไม่ และจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ทันที ถ้าทำเสร็จวันนี้ก็สามารถบรรจุในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เลย อย่างไรก็ตามญัตติที่เสนอมาไม่ได้บันทึกเป็นเรื่องด่วน จึงไม่ไม่บรรจุ เป็นวาระเร่งด่วน ส่วนจะบรรจุต่อท้ายวาระอื่นหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของสมาชิกและข้อบังคับการประชุม ซึ่งตนจะปฏิบัติโดยเคร่งครัด

ส่วนที่ประธานวุฒิสภา ระบุว่าอาจบรรจุเข้าสู่การพิจารณาไม่มันในเดือน ก.พ.เพราะมีวาระอื่นค้างอย่มาก นายชัย กล่าวว่า ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของประธานวุฒิสภา แต่ถ้าประธานรัฐสภาซึ่งก็คือตน ต้องบรรจุเข้าสู่วาระ เพราะหลักเกณฑ์ถูกต้อง ตนก็เก็บญัตติเอาไว้ไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าตรวจสอบญัตติเสร็จภายใน 7 วัน จะนัดประชุมได้ทันทีหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า อยู่ที่เจ้าของญัตติต้องการด่วนหรือไม่ ตนไม่ทราบ

** เสธ.หนั่นขอเร็ว "ปู่ชัย" ไม่รับปาก

ด้านพล.ต.สนั่นกล่าวว่า เมื่อยื่นญัตติแล้วก็ต้องการให้เร็วสุด ขณะที่นายชัยกล่าวต่อว่า ตนจะปฏิบัติตามระเบียบไม่ทำให้ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญก็แล้วกัน ก็ดูเอาแล้วกันว่าจะเสร็จเมื่อไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ นายชัยกล่าวว่าแล้วสื่อเห็นว่าเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ อยากให้เป็นรถด่วนหรือรถไฟ แต่ถ้าอยากเป็นรถไฟก็ช้า ฉึกฉักฉึกฉัก เมื่อถามย้ำว่าจะนัดประชุมได้ภายในเดือน ก.พ.หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ปัญหาคือ ตนต้องหารือกับประธานวุฒิสภาก่อน เพราะเป็นการประชุมร่วมกัน ตนคนเดียวก็ไม่ไหว ต้องมีประธานทำหน้าที่สลับกันสองคน แต่ละคนก็แก่แล้ว

ส่วนจะพิจารณาไปพร้อมญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชนกลุ่ม คปพร.ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้เสนอหรือไม่นั้น นายชัย กล่าวว่า ญัตติดังกล่าวค้างอยู่ในสภาฯเป็นวาระด่วนอยู่ ก็ต้องถามที่ประชุมว่า จะเอาอย่างไร จะให้รวมหรือแยกพิจารณา อยู่ที่มติของที่ประชุม เมื่อถามว่า อาจจะมีปัญหาการชุมนุมคัดค้านของกลุ่มต่างๆ นายชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่สำหรับสภา ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไปเพราะเป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ

**วาดฝัน ส.ส.ปชป.ร่วมโหวตหนุน

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้รายชื่อที่ยื่นญัตติจะมีเพียง ร้อยกว่าคนแต่หลังจากนี้จะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ส.ส.หลายคนเห็นว่า เขตเล็กมีประโยชน์สำหรับเขา แต่จะให้ไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เอาด้วย ก็ต้องแยกกันเดินคนละทาง แม้แต่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีหลายคน ที่อยากจะแก้ แต่เมื่อมีมติพรรคออกมาแบบนั้นก็คงยาก แต่ขณะนี้ยังมีเวลาพรรคประชาธิปัตย์อาจจะทบทวนมติก็ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะบางส่วนยกมือร่วมแก้ไขด้วยก็ได้ ส่วนพรรคอื่นๆ ที่ปล่อยฟรีโหวตก็น่าจะมีมาร่วมกับเรา ส่วนส.ว.นั้นยังไม่ได้ประสานแต่เชื่อว่าก็คงมีที่เห็นด้วยกับเรา และคาดว่าหลังจากนี้อาจจะมีกลุ่มส.ว.ยื่นเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเข้ามาในสภาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการต่อสายพูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลานั้น ขณะนี้ยังมีเวลาที่จะหาเสียงมาสนับสนุน ซึ่งพรรคร่วมทั้ง 5 พรรคต่างก็แยกย้ายกันไปหาเสียงมาช่วยกัน

ต่อข้อถามว่าถึงจนถึงวันนี้ยังขุ่นเคืองใจกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ผิดสัญญาอยู่หรือไม่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ไม่ทราบข้อตกลงเพราะตอนนั้นไม่ได้ร่วมประชุมด้วย เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะปฎิวัติรัฐประหาร พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำปฎิวัติรัฐประหาร หากเกิดความรุนแรง เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

**เมินสุเทพให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา กล่าวว่าหลังจากยื่นญัตติไปแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ ของพรรคการเมืองต่อไปเป็นหน้าที่ของสภาที่จะพิจารณา โดยต้องมีการอภิปรายสนับสนุน และคัดค้านจากนั้นก็ลงมติเห็นชอบหรือไม่ ส่วนรัฐสภาจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ คปพร.ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ต้องดูข้อบังคับการประชุม ซึ่งทราบว่ามีข้อยกเว้นให้ที่ประชุมสามารถเลื่อนญัตติที่มีอยู่ต่อท้ายขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา

ส่วนข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ชะลอการ ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเป็นสมัยประชุมหน้านั้น นายชุมพล กล่าวว่า เมื่อเสนอญัตติไปแล้วก็ต้องพิจารณา และควรดำเนินการให้เสร็จๆ ไป หากตกไปก็เสนอเข้ามา ใหม่ได้ แต่ก็ต้องเสนอในสมัยประชุมหน้า

ที่เสนอให้อดเปรี้ยวไว้กินหวานด้วยการรอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมหน้านั้นผมว่า คนมันคอแห้ง ถึงเปรี้ยวก็ต้องกินไว้ก่อน แต่หากรีบร้อนแล้วอาจจะไม่ได้กินก“ไม่เป็นไร ที่บ้านยังมีคนหุงข้าวไว้ให้กินอยู่

**พธม.เตรียมยื่นถอดถอน102ส.ส.
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคยื่นต่อรัฐสภานั้นคงเป็นเพียงแค่การแก้เกี๊ยวหรือรักษาหน้าของแกนนำ พรรคร่วม ภายหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากประเมินจำนวนเสียงในรัฐสภาขณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะเสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้ง ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โอกาสเดียวที่ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านรัฐสภาได้จะต้องมี ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์แหกมติพรรคไปโหวตสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็อาจเป็นเรื่องที่ยากแต่การเมืองไทยก็ไม่แน่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาแล้วอาจถูกใช้เป็นเกมต่อรองการเมือง ในหมู่พรรคการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทยอาจแปรญัตติขยายประเด็นโดยเพิ่มประเด็นที่ตัวเองต้องการเข้ามาเพื่อแลกกับการโหวตสนับสนุนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล หรือใน ส.ว.อาจจะมีการวิ่งเต้นล็อบบี้เพื่อให้มีการเปลี่ยนท่าทีและอาจพ่วง 6 ประเด็นที่ทาง ส.ว.บางส่วนริเริ่มขอแก้ไขก่อนหน้านี้ก็เป็นไปได้

นายสุริยะใส กล่าวว่าประการสำคัญพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค อาจใช้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ฟรีโหวตเพื่อแลกกับการโหวตสนับสนุนรัฐบาลกรณีถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือต่อรองเพื่อปรับ ครม.ชุดใหญ่ ฉะนั้นในรัฐสภาที่นักการเมืองยังไร้จุดยืนก็เป็นเรื่องที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

อย่างไรก็ตามเพื่อหยุดวิกฤติรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมปรึกษาฝ่ายกฎหมายเพื่อดูช่องทางในการถอดถอน ส.ส.ทั้ง 102 คนที่เข้าชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเข้าข่ายความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรา เป็นการแก้ไข เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ขัดกันแห่งประโยชน์ ประชาชนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นรายชื่อ มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 วรรค 3 รวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอนในทันทีเพราะถือว่าการยื่นญัตติมีผลแล้ว ส่วนขั้นตอนการเคลื่อนไหวต่อไปจะมีการหารือกันในแกนนำเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดท่าทีอีกครั้งหนึ่ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลในมาตรา 94 และ มาตรา 109 ว่า ขณะนี้ ครม. เพิ่งส่งกฎหมายลูกตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเข้ามา ซึ่งเราทำได้เฉพาะเรื่องขั้นตอน วิธีการ ส่วนพรรคการเมืองหลายพรรค ที่เสนอแก้ไขเข้าสภาเขาจะเปิดช่องให้ออกกฎหมายว่าด้วยประเภทของหนังสือสัญญา.
กำลังโหลดความคิดเห็น