xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีวันสิ้นโลก การรื้อถอนมายาภาพ (4)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

มายาภาพเรื่อง “วันสิ้นโลก”

วันก่อน มีนักข่าวช่อง 11 มาขอความเห็นเรื่อง “2012 วันโลกพินาศ”

“อาจารย์คิดว่า วันสิ้นโลกจะเกิดขึ้น ณ วันที่ 21 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2012 หรือไม่”

ผมตอบว่า

การบ่งบอกเรื่องเวลา เป็นวัน เดือน ปี เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางเป็นไปได้เพราะโลกปัจจุบันกำลังเคลื่อนตัวสู่วิกฤตใหญ่ จึงมี ความพลิกผันอย่างยิ่ง เป็นฐาน

ความพลิกผันอย่างยิ่ง นี้คือ กฎแห่งอนิจจัง ที่ชาวพุทธกล่าวถึงมานานแล้ว

กฎนี้จะปรากฏให้เราเห็นได้ชัดเจนมากในช่วงเวลาที่ชีวิต (ทั้งผู้คนและระบบสังคม) ก้าวใกล้สู่ความตาย

ความพลิกผันจะปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ไม่มีใครสามารถบ่งบอกอย่างเฉพาะเจาะจงได้แน่ๆว่า “จะเกิดอะไรในวันไหน ในช่วงเวลาใด ในอนาคต”

หรือพูดง่ายๆ ความสามารมในการคาดการณ์ (อนาคต) ของเราจะลดลง

ความพลิกผันไม่แน่นอน การแตกหักกระจัดกระจายเป็นเสี่ยงๆ รวมทั้งความไร้เสถียรภาพจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จนในที่สุด ระบบเก่าจะสิ้นสุดลงไป แต่อย่าไป “กลัว” เพราะการสิ้นสุดกับการเกิดใหม่คือปรากฏการณ์ที่แยกจากกันไม่ได้

ในช่วงเวลานี้ เราจะพบสภาวะวิกฤตแบบรอบด้านที่ถาโถมประกอบกันเข้ามา ราวกับเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต จนบางครั้ง เราไม่รู้ว่า “อะไรเป็นรากที่แท้จริงของวิกฤตเหล่านี้กันแน่”

ตัวอย่างเช่น เวลาเราป่วยเป็นโรคมะเร็งร้ายแรง อย่าไปมั่นใจว่าเราจะสามารถหาสาเหตุพบ เพราะสาเหตุอาจจะมีต้นตอหลายประการประกอบกัน ราวกับห่วงโซ่แห่งเหตุปัจจัย อาจจะเกินกว่า 10 ประการ และไม่รู้ว่า “อะไรน่าจะคือสาเหตุหลักหรือรอง”

เมื่อเราหาสาเหตุไม่พบก็ยากที่จะแก้จากต้นเหตุได้ เราก็ต้องแก้แบบปลายเหตุ ซึ่งยิ่งแก้บางครั้งก็จะยิ่งหนักขึ้น ยิ่งดิ้นรนมากก็ยิ่งเคลื่อนไปสู่ความตายแบบรุนแรงและรวดเร็วกว่าเดิม

เราจึงต้องเรียนรู้คุณค่าของ “ความสงบ” (หรือเรื่องสมาธิที่เน้นความสงบเย็น) เมื่อสงบได้แล้ว ปัญญาจะเกิด แล้วจึงค่อยๆ คิดแก้ไข ไม่ต้องเร่งร้อนจนเกินไป

แต่ช่วงเวลานี้ การสรุปแบบง่ายๆ มักจะเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น เรามักจะหลงไปโทษเชื้อโรคตัวใดตัวหนึ่ง เป็นต้น

ไอ้เชื้อโรค อย่างเช่น ไวรัส 2009 จึงกลายเป็นแพะรับบาปไป

นี่คือ ที่มาแห่งมายาภาพอีกแบบหนึ่ง

หรือกรณีเกิดวิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็โทษเพียงแต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จนทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก (Green House Effect)

เราไม่คิดว่ารากของปัญหามีมากมายและอาจจะลึกกว่าเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การเน้นความเจริญทางวัตถุ ลัทธิอุตสาหกรรมนิยม รวมทั้งลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิบันเทิงนิยม

นอกจากนี้ ปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญก็ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วมโลกเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัญหามากมายซ้อนๆ ทับกันอยู่ในเวลาเดียวกัน

ที่ยุ่งไปกว่านี้คือวิกฤตสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแยกไม่ได้จากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองด้วย เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยิ่ง การขยายตัวดังกล่าวจะมีส่วนโดยตรงทำให้สิ่งแวดล้อมโลกจะแย่ลงในอัตราเร่ง หรือ ในช่วงที่ระบบการเมืองสามารถตอบสนองความต้องการ (ด้านการบริโภคและบันเทิง) ของคนส่วนใหญ่ได้มากเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมก็จะแย่ลงได้เช่นกัน

เรารู้แน่ๆ ว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกมีแต่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในวันหนึ่งข้างหน้าก็อาจจะเกิดหายนะใหญ่ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

เรารู้ได้เพียงแค่นี้

การคาดการณ์อนาคตก็ยากขึ้นทุกที

เท่าที่ผ่านมามีการคาดการณ์ (หรือคาดเดาอนาคต) กันอยู่บ้าง แต่การคาดการณ์กันแบบหยาบๆ อย่างเช่น ในช่วงสัก 20 ปีที่ผ่านมาก็คาดกันว่าอีกประมาณ 100 ปีจะเกิดหายนะใหญ่ ต่อมาก็คาดกันว่า 40 หรือ 50 ปี ช่วงปัจจุบันการคาดการณ์ก็ดูจะให้จำนวนปีลดลงเหลือประมาณ 20 ถึง 30 ปีข้างหน้า ที่ผู้คนต้องเผชิญหายนะใหญ่

นี่พิจารณาเฉพาะเรื่องการคาดการณ์เท่านั้น จะเห็นว่าต้องปรับเป็นช่วงหรือผิดพลาดกันมาตลอด

แต่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่คาดการณ์เรื่องหายนะใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมจะค่อยๆ หดสั้นลงเรื่อยๆ

ในยุคนี้เราจึงหันมาเชื่อว่า แม้แต่ ‘เวลา’ ก็มีความไม่แน่นอนเป็นฐาน

กล่าวคือ เวลากลายเป็นสิ่งที่ยืดได้และหดลงได้ ขึ้นกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่พลิกผันไปและการเคลื่อนตัวไปของพลังแวดล้อมต่างๆ ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษยชาติเอง

ผมจึงไม่เชื่อว่า “จะมีใครสามารถอ้างว่า บ่งบอกเวลาที่เจาะจง (หรือแน่ๆ) ได้” หรือ “บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตรงไหน อย่างไร เมื่อไหร่แบบชัดๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์” ไม่ว่าคนที่อ้างนั้นจะอ้างว่าตนเองมีญาณพิเศษมาจากไหน

เท่าที่ผ่านมาก็มีศาสดาพยากรณ์จำนวนหนึ่งที่อ้างว่าสามารถทำนายวันเวลาได้อย่างชัดๆ ตรงๆ หลายคน อย่างเช่น บาทหลวงเจมส์ อุสเซอร์ บาทหลวงลี ยางริม เอ็ดการ์ เคซีย์ และคนอื่นๆ

ปรากฏชัดว่า ที่ผ่านมาคำทำนายของคนเหล่านี้ซึ่งมักอ้างว่ามีญาณพิเศษสามารถบ่งบอกเวลาได้อย่างชัดว่าโลกจะพินาศเมื่อไหร่ ล้วนแล้วแต่ ‘ผิดพลาด’ จนกลายเป็น ‘ศาสดาจอมปลอมลวงโลก’ ด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าคำทำนายเรื่อง 21 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ก็น่าจะเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

ไม่นานมานี้ผมไปสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และกล่าวถึงวิบัติใหญ่ 2012 และความเป็นไปไม่ได้ที่จะบ่งบอกแบบชัดๆ ถึงวันและเวลาที่จะเกิด

มีนักศึกษาท่านหนึ่ง ได้ถามผมขึ้นว่า

“ถ้าอาจารย์ไม่เชื่อเรื่อง 21 ธันวา 2012 น่าจะหมายความว่า ชาวมายาได้ทิ้งคำทำนายแบบลวงโลกไว้ชุดหนึ่งให้คนปัจจุบันได้ตื่นเต้นกันเล่นๆ ซิครับ”

ผมตอบว่า

“อย่าไปเข้าใจว่าชาวมายาสร้างมายาคติเรื่องเวลาแบบบ่งบอกวันเวลาที่ชัดเจน ผมไม่คิดเช่นนั้น

ผมเชื่อว่า ที่มาของการเกิดการบ่งบอกวันเวลาที่ชัดเจน มาจากนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในยุคปัจจุบันนี่เอง ที่สนใจปฏิทินมายาแล้วพยายามคำนวณหาเวลาแบบชัดๆ ขึ้นมา โดยหาว่ายุคที่ชาวมายาเรียก ยุคตะวันที่ 5 เริ่มเกิดขึ้นวันไหนแน่ๆ และจะสิ้นสุดในวันไหน”

เมื่อนักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาในยุคปัจจุบันคิดคำนวณกันเองจนพบว่าจุดเริ่มของยุคตะวันที่ 5 เริ่มขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 3114 ก่อนคริสต์ศักราช และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2012

ตัวเลขวันเดือนปีแบบนี้ไม่ได้มีในบันทึกของชาวมายาเอง

ผมเองเชื่อว่า คนโบราณไม่น่าจะเชื่อเรื่องเวลาแบบตายตัว

และที่สำคัญ ชาวมายาก็ไม่ได้บ่งบอกแม้แต่น้อยว่า วันที่ 21 ธันวา คือวันสิ้นโลก น่าจะหมายถึง วันสิ้นยุค เท่านั้น

เกือบทั้งหมดคือมายาหรือความเชื่อของคนในยุคปัจจุบันที่สร้างจินตนาการต่อเติมขึ้นมาเองจนทำให้ วันสิ้นยุคสมัย กลายเป็น วันสิ้นโลก

ผมเองเชื่อว่า คนสมัยโบราณไม่สนใจว่าการสิ้นสุดมีความสำคัญมากนัก เพราะคนโบราณมักจะถือว่า ‘การเกิด’ กับ ‘การตาย’ คือเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง

ความเชื่อเรื่อง ความแน่นอนที่สามารถบ่งบอกได้ รวมทั้ง ความกลัวเรื่องความตาย นี้น่าจะมาจากความเชื่อของคนในโลกตะวันตกในยุคที่เรียกว่ายุควิทยาศาสตร์

คำว่า วิทยาศาสตร์ กำเนิดขึ้นมาจากวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 18 มาจากฐานความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีความสามารถที่จะใช้ระบบคิดแบบเหตุและผล ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่า “อะไรจะเกิดขึ้นตรงไหนแน่ๆ และจะพลิกผันไปทางไหน ตรงไหน ในเวลาเท่าไหร่”

นี่คือที่มาของ มายาลวงโลก ของผู้คนในยุควิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าสามารถคำนวณจนบ่งบอกแบบชัดเจนได้

ที่น่าสังเกตคือ บรรดาผู้ที่มายืนยันนั่งยันหรือพยายามเสนอข้อมูลเรื่อง ‘วันสิ้นโลก’ ว่าเป็น จริง คือบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน

การรื้อถอนมายาเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก

น่าจะเริ่มจากการตั้งคำถาม “วันที่ 11 สิงหาคม 3114 ก่อน ค.ศ. ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดยุคตะวันที่ห้า มีความหมายจริงทางประวัติศาสตร์หรือไม่”

คำตอบเท่าที่พบ ไม่ว่าคุณจะศึกษาแบบย้อนยุคไปตั้งแต่จุดเริ่มของอาณาจักรอียิปต์โบราณ อาณาจักรจีนโบราณ หรือการถือกำเนิดของอาณาจักรโบราณอื่นๆ ของโลก ช่วงเวลากำเนิดของอาณาจักรเหล่านี้ไม่ได้มีวันเวลาที่ตรงกันเลย

ถ้าถามว่า อารยธรรมอียิปต์ และจีนโบราณ เริ่มแรกก่อเกิดเมื่อไหร่ นักประวัติศาสตร์ทั่วไปก็มักย้อนไปสักประมาณ 5,000 ปีซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มการเกิดชุมชนที่เริ่มทำเกษตรกรรมและประมง ไม่ใช่ประมาณ 3,000 ปี

ช่วงประมาณ 3,000 ปี น่าจะเป็นช่วงกำเนิดยุคเมืองตามลุ่มน้ำขนาดใหญ่ แต่เราก็ไม่พบว่า วันที่ 11 สิงหาคม 3114 ก่อน ค.ศ. มีความหมายหรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แต่อย่างไรทั้งสิ้น เพราะบรรดาเมืองตามลุ่มน้ำขนาดใหญ่ไม่ได้ก่อเกิดในวันและเวลาเดียวกัน เช่นกัน

เมื่อเวลา ณ จุดเริ่ม ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันความสำคัญได้ แล้วเวลา ณ จุดจบ เล่าจะมีความหมายอะไร

ยิ่งไปนำเอาเรื่องแกนแม่เหล็กโลก เรื่องพายุสุริยะ เรื่องดาวดวงหนึ่งซึ่งกำลังจะวิ่งมาชนโลก แทนที่จะน่าเชื่อ กลับทำให้ไม่น่าเชื่อยิ่งขึ้น

เพราะทุกข้ออ้างหรือทฤษฎีไม่ว่าจะเรื่องแม่เหล็กโลก เรื่องพายุสุริยะ ล้วนตั้งอยู่บนฐานรู้ที่จำกัดทั้งหมด

ใครจะบ่งบอกได้ว่า แกนแม่เหล็กโลกพลิกผันแล้วจะเกิดอะไรขึ้นจริงๆ และทำไมต้องพลิกในวันที่ 21 ธันวา 2012 ด้วย พลิกก่อนหน้า หรือพลิกหลังจากนี้ ไม่ได้หรือ?

ยิ่งเรื่องมี ดวงดาวจะวิ่งเข้ามาชนโลก จริง โดยอ้างข้อมูลลับจากองค์การ NASA ยิ่งดูไปกันใหญ่

ดูคล้ายกับบรรดานิยายที่ฮอลลีวูดใช้สร้างภาพยนตร์ มากกว่าเรื่องที่เป็นจริงๆ

เรื่องนี้อ้างว่าได้พบวงโคจรของดาวดวงหนึ่ง ที่จะโคจรซ้อนทับเข้ามาที่ระบบสุริยะ ดวงดาวนี้ชื่อว่า “ดาวนิบิรุ”

ดาวดวงนี้ มีวงโคจรพิเศษอย่างมากๆ คือ เป็นวงโคจรจากนอกสุริยะผ่านวงโคจรของระบบจักรวาล (หรือสุริยจักรวาล)ได้ และจะพุ่งเข้าชนโลก ณ วันที่ 21 หรือ 22 ธันวา 2012

ผู้เขียนอ้างว่าดาวนี้เคยโคจรผ่านโลกมาแล้วและทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ในยุคประมาณ 60 ล้านปีมาแล้ว

ถ้าข้ออ้างนี้ “จริง” ก็หมายความว่า ดาวนี้จะเคลื่อนผ่านหรือชนโลกทุกๆ 60 ล้านปี สมมติว่าเราเชื่อว่า “จริง” ดังนั้นเราจะพบความจริงว่าโลกได้รอดพ้นการชนของดาวดวงนี้อย่างน้อยก็นับพันๆ ครั้งหรือมากกว่ามาแล้ว

ก็น่าจะสรุปได้ว่า

ที่จริงแล้ว ดาวดวงนี้ไม่เคยเคลื่อนเข้ามาชนโลกได้เลย เวลาเคลื่อนเข้ามาก็อาจจะเกิดหายนะทางธรรมชาติอยู่บ้าง อย่างเช่น ไดโนเสาร์ซึ่งเคยครองโลกสูญพันธุ์ แต่หลังจากยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ระบบชีวิตในโลกธรรมชาติกลับพัฒนาขยายตัวและวิวัฒน์ขึ้น

นี่น่าจะหมายความในเวลาเดียวกันว่า ดาวดวงนี้ไม่ใช่นำความวิบัติ (หรือหายนะ) มาให้ แต่นำมาซึ่งการวิวัฒน์ (หรือมีส่วนช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนในแง่บวก)

ระบบชีวิตใหม่ก่อเกิดขึ้นแทนที่ระบบชีวิตธรรมชาติแบบเก่า

ผมเองจะเชื่อหลักทฤษฎีที่ชื่อว่า Chaos ซึ่งคนทั่วไปจะเรียกว่า ทฤษฎีแห่งความปั่นป่วน (หรือวิกฤตซ้อนวิกฤต) แต่หลักพื้นฐานของทฤษฎีกลับเชื่อว่า ชีวิตธรรมชาติและจักรวาลมีการจัดวางระบบที่ยิ่งใหญ่ เป็นความเป็นระบบธรรมชาติที่เอื้อต่อกันและมีชีวิตอยู่ด้วยกัน

การจัดระบบคือ ฐานชีวิตของธรรมชาติและชีวิตมนุษย์

แต่ “ชีวิต” (หรือสรรพสิ่งทั้งมวล) มีสภาวะ Chaos ที่ปั่นป่วนซ่อนอยู่ภายใน

ระบบชีวิตธรรมชาติจึงมีช่วงที่พลิกผันไปตลอดเวลาแบบไม่เป็นเส้นตรง แต่ในช่วงดังกล่าว แม้แต่ในช่วงพลิกผัน ก็มีระเบียบเรียกว่า ระเบียบในช่วง Chaos เพราะแม้ว่าในช่วงนี้ระบบเก่าจะพังทลายลง แต่ระบบหรือระเบียบใหม่จะก่อเกิดขึ้นแทนที่

ทฤษฎีนี้จึงปฏิเสธเรื่อง ‘ไอ้ตัวเกเร’ หรือ ‘ไอ้ตัวชั่วแบบตัวเดียว’ ที่นักวิทยาศาสตร์แบบเก่าๆ หลงเชื่อกันว่าคือ “ไอ้ตัวสาเหตุ”

อย่างเช่น เวลาเราป่วยไข้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มักจะโทษตัวเชื้อโรคตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

ผมเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเกิดจากการพลิกผันของระบบทั้งระบบ ซึ่งต้องมีปัจจัยกำหนดมากมายมากำหนด (และเป็นไปอย่างเป็นระบบเช่นกัน)

กล่าวง่ายๆ คือ “พังก็พัง อย่างเป็นระบบ พังทั้งระบบอย่างมีจังหวะและอย่างมีระเบียบ การเกิดก่อใหม่ก็เกิดอย่างเป็นระบบและมีระเบียบด้วยเช่นกัน”

เมื่อธรรมชาติมี ‘ความเป็นระบบ’ เป็นฐาน การวิเคราะห์เรื่องวิกฤตใหญ่ก็ต้องวิเคราะห์ผ่านการเปลี่ยนผ่านเรื่องราวของชีวิตระบบและทั้งระบบ

นี่คือ การเข้าใจการเปลี่ยนผ่านแบบบูรณาการหรือองค์รวม

ตัวอย่างเช่น สังคมไทยปัจจุบันกำลังเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่เราต้องเข้าใจเรื่องวิกฤตนี้ในกรอบของระบบโลกเพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก

สาเหตุใหญ่ของวิกฤตมีรากมาจากระบบโลกทั้งระบบก้าวสู่ช่วงวิกฤตใหญ่ ประเทศไทยจึงเคลื่อนตัวสู่วิกฤตใหญ่ด้วยเช่นกัน

‘การแก้ปัญหา’ ก็ต้องแก้อย่างเป็นระบบ หรือ สร้างระบบใหม่ขึ้นแทนที่

อย่างเช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม ต้องแก้หลายๆ ด้านอย่างเป็นระบบประสานกัน เช่น ต้องปฏิวัติระบบการใช้พลังงานใหม่ สร้างระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ต้องเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่า ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ต้องเปลี่ยนระบบการเดินทางใหม่ และอื่นๆ

ถ้าโลกใบนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยจักรวาลจะเกิดแตกหรือพังพินาศ ระบบสุริยจักรวาลทั้งระบบต้องเกิดวิกฤตใหญ่ทั้งระบบก่อน

ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีดวงดาวดวงหนึ่งซึ่งไม่ชอบโลก จะเคลื่อนเข้ามาชนโลกง่ายๆ

ผมคิดว่า การเคลื่อนตัวของระบบสุริยจักรวาลทั้งระบบมีพลังมหาศาลมาก มากพอที่สกัดการเข้ามาของดาวดวงใดดวงหนึ่งที่จะวิ่งเข้ามาชนโลก

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ ทฤษฎีว่าด้วยโลกแตก นี้ก็เสนอทางรอดแบบทางเดียวเท่านั้น หรือต้องใช้โทรจิตติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว และขอให้มนุษย์ต่างดาวช่วยโลกโดยการสร้างยานอวกาศขึ้นเพื่อพามนุษย์หนีออกไปนอกโลก

ฟังดูก็คล้ายๆ กับอภิมหานิยายแบบหนีตาย โดยมีพระเอกเป็นมนุษย์ต่างดาว มีพระรองคือผู้มีโทรจิตสูงสุด

นี่คือทฤษฎีของผู้คนที่เห็นแก่ตัว คิดแบบอัตตานิยมและมนุษยนิยม เพราะคนที่จะรอดได้คือ ‘คนที่มีพลังจิตสูง’ เท่านั้น

จริงหรือว่า ในโลกธรรมชาตินี้ มนุษย์เท่านั้นคือสิ่งที่มีค่าควรแก่การรักษาไว้!

แต่ผมกลับเป็นห่วงว่า บรรดามนุษย์ต่างดาวทั้งหลายคงไม่อยากจะคบกับมนุษย์มากนัก เพราะมนุษย์ล้วนมีกิเลสร้ายครอบงำมากมายเหลือเกิน

มนุษย์ต่างดาวจะเอาพันธุ์มนุษย์ที่ไม่ดีนักไปเพิ่มขยายพันธุ์ในจักรวาลอื่นๆ เพื่ออะไรกัน และทำไม?

มายาภาพแห่งความกลัว ความตาย และความสิ้นหวัง มักจะเป็นองค์ประกอบของสิ่งเดียวกัน จนทำให้ผู้คนที่หลงกลัว ไม่คิดแม้แต่จะทำอะไร หรือคิดที่จะหนีโลก หรือไปหาที่เสพสุขแบบสุดๆ ในจักรวาล หรือบางคนก็คิดแค่มุ่งสู่นิพพานแบบอัตตา (เอาตัวรอด) เพราะอีก 3 ปีก็จะจบหมดสิ้นกันหมดแล้ว

ไม่มีใครคิดว่า ทั้งหมดอุดมอย่างยิ่งด้วยมายาภาพ

แต่ “จะเชื่อหรือไม่” ก็ตาม นี่คือเรื่องที่ผู้คนจำนวนมากรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์เองหลงเชื่อว่า “จริง ยิ่งกว่าจริง”

ที่เชื่อกันว่า จริง เพราะมีข้ออ้าง มีข้อมูล มี NASA และอื่นๆ ประกอบกัน จึงต้องจริง โดยที่มนุษย์ปัจจุบันไม่รู้เลยว่าเรากำลังก้าวสู่ ‘ยุคความจริงปลอม’ ที่สามารถปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นได้ จนเราแยก ‘จริง’ ออกจาก ‘ไม่จริง’ ได้ยากจริงๆ (ยังมีต่อ)

กำลังโหลดความคิดเห็น