xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินสะเทือน ความหวั่นไหวของคนบนที่สูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาการบิดขี้เกียจของแผ่นเปลือกโลกที่เรียกว่าเกือบจะเป็นข่าวรายสัปดาห์ ไล่ตั้งแต่ต้นปีที่เฮติ ตามมาด้วยชิลี เร็วๆ นี้ก็ญี่ปุ่น ไต้หวัน ล่าสุดก็ที่ตุรกี ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดอาการวิตกจริตพอประมาณ จนพานนึกถึงคำทำนายของชาวมายาและภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่กวาดรายได้ไปเมื่อปีที่แล้ว

เรื่องโลกแตกเป็นเรื่องไกลตัว แต่เรื่องแผ่นดินไหวใกล้ชิดเรามากกว่าที่คิด และประเทศไทยก็ใช่ว่าจะไม่เคยเกิด ความเสี่ยงก็ดูจะสูงขึ้นทุกวัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเกิดหรือไม่ เกิดเมื่อไหร่ แต่มันอยู่ที่ว่าเราพร้อมรับมือแค่ไหน

ดูอย่างชิลีซึ่งเพิ่งจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ ไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่โตที่สุดครั้งหนึ่งของโลก มันรุนแรงเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 5 หมื่นล้านตัน และรุนแรงกว่าที่เฮติ 501 เท่า แต่การสูญเสียชีวิตผู้คนกลับน้อยกว่ามาก (ชิลีมาตกม้าตายก็ตรงไม่ยอมแจ้งเตือนภัยสึนามิ) นั่นหมายถึงการเตรียมรับมือของชิลีค่อนข้างมีความพร้อมสูง

ย้อนมาที่เมืองไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของตึกสูงที่อยู่กันอย่างแออัด คนกรุงจำนวนมากอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีกฎหมายที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่การมีกฎหมายก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตคนบนที่สูงจะปลอดภัย เพราะกฎหมายมีช่องโหว่ให้รอดเสมอ

4,300 อาคาร รองผู้ว่าฯ บอกไม่ถล่มแน่

สุระชัย ชูผกา อดีตหัวหน้าผู้วิจัยโครงการจัดการความรู้เพื่อการรณรงค์ป้องกันภัยแผ่นดินไหวในอาคารสูง อธิบายว่า พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว การสั่นสะเทือนและการโยกตัวของอาคารก็จะมีมากกว่าพื้นที่ที่เป็นดินแข็ง ดังนั้น การเอาอภิมหาตึกเกือบหมื่นแห่งวางแปะไว้บนดินโคลนจึงเป็นเรื่องน่าหวาดเสียวเอาการ

“แต่ทางหน่วยราชการ โดยเฉพาะกรมโยธาฯ เขาก็ควบคุมดูแลนะครับ เพิ่งมีประกาศกระทรวงเมื่อปี 2550 นี่เองว่า การจะก่อสร้างอาคารสูงในกรุงเทพฯ ต้องได้รับการควบคุมมาตรฐานเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว แต่ปัญหาก็คือมันบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 แต่อาคารก่อนหน้านี้ไม่ถูกบังคับใช้”

จากการสอบถามไปยัง พรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่าใน กทม. มีอาคารอยู่ประมาณ 9,300 แห่ง เป็นตึกที่สร้างหลังปี 2550 ประมาณ 4,300 แห่ง และสร้างก่อนปี 2550 อีกประมาณ 5,000 กว่าแห่ง พรเทพอธิบายว่า

“หากสังเกตจะพบว่า เวลามีแผ่นดินไหว พวกตึกสูงมักจะไม่ค่อยล้มลงมาหรอก ที่ล้มส่วนมากจะเป็นตึก 4 ชั้น 7 ชั้น เพราะส่วนใหญ่เจ้าของมักจะลงทุนค่อนข้างต่ำและประหยัด คือสร้างเพื่อขายให้เสร็จๆ ไป แต่พอหลังจากปี 2550 ทุกตึกไม่ว่าจะเป็นตึกใหญ่ ตึกเล็ก ต้องเข้าตามกฎพวกนี้หมด แล้วนอกจากนี้ยังมีข้อบังคับต่างๆ อีก เช่น ประกันวินาศภัย หรือแม้แต่เรื่องป้ายที่ไปติดบนหลังคา การต่อเติมออกมาจากแบบที่อนุมัติเอาไว้ พวกนี้ก็จะต้องมีการปรับ ซึ่งมีเยอะมากนะ

“ที่ผ่านมา ผมเองก็พยายามเข้าไปตรวจสอบดูแล คือเขาต้องส่งพิมพ์เขียวให้แก่เราก่อน โดยมีการคำนวณทางด้านวิศวกรว่าสามารถรองรับได้ ทั้งการยึดติดของขั้วต่อ เหล็กเชื่อม ความลึกของเสาเข็ม หรือ 1 ตารางเมตรสามารถรองรับได้เท่าไหร่ ทั้งด้านตั้ง ด้านนอน อะไรพวกนี้มันจะมีข้อกำหนด พอส่งแบบแล้ว เราก็ต้องเขาไปควบคุมดูแลด้วยว่า เขาสร้างตามแบบที่วิศวกรให้การรับรองหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เราก็มั่นใจว่า 4,300 แห่ง ที่สร้างหลังจากปี 2550 จะไม่ถล่มแน่นอน”

แต่อีก 5,000 อาคาร ยังเสี่ยง

แม้ว่ารองผู้ว่าฯ จะรับประกันว่า อาคารอย่างน้อย 4,300 แห่งใน กทม. จะไม่ถล่ม แต่อีก 5,000 อาคารจะมีใครกล้ารับประกันบ้าง ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่ดูเหมือนว่าทาง กทม. ก็ยังหาทางออกที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะเขายังบอกเองว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามจะเข้าไปดูแล โดยเฉพาะพวกที่หนีบกระจกหน้าต่างประตู ซึ่งโดยทั่วไปแล้วยึดติดด้วยซิลิโคน ทำให้มีโอกาสจะตกแตกเวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้มาก แม้จะสั่นไหวเพียงแค่ 2-3 ริกเตอร์ก็ตาม

“ในส่วนของตึกเก่าๆ เราคงต้องใช้ข้อบังคับอื่นๆ อย่างเรื่องหน้าต่างประตูแทน ถือเป็นการบรรเทาในเรื่องของความปลอดภัยไปก่อน เพราะคงไม่สามารถใช้บังคับย้อนหลังได้ ถือเป็นเรื่องที่เราหนักใจเหมือนกัน ยิ่งบางตึกสร้างก่อนปี 2522 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการควบคุมอะไรทั้งสิ้น และก็มีหลายตึกที่เอาตรงนี้มาอ้าง บางทีก็มีการเอื้อประโยชน์กัน พอเราเข้าไปตรวจสอบก็เตี๊ยมกันมาบ้าง เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน”

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบอาคารที่สามารถลดทอนความร้ายแรงของแผ่นดินไหว บอกว่า ถึงแม้จะมีกฎกระทรวงที่พูดถึงการสร้างอาคารที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหวแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ยังมีการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในประเด็นนี้อยู่มาก ทั้งอาคารที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับ และอาคารเล็กๆ ที่นอกเหนือจากข้อบังคับ

“ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่า เมืองไทยยังไม่ให้ความสำคัญ แม้จะมีกฎกระทรวงออกมาภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยที่อาคารสูง 15 เมตรขึ้นไปและอาคารสาธารณะจะต้องปฏิบัติตาม แต่อาคารส่วนมากที่มีอยู่มักจะมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร และอาคารเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเลย และมันก็ถูกสร้างมาโดยไม่มีการวางแผน

“ช่องโหว่ด้านกฎหมายของบ้านเราจะต้องมีการทบทวนกันอีกครั้ง เพราะถึงแม้จะมีการกำหนดแล้วก็อาจจะมีบางที่ที่ไม่ทำตาม ซึ่งเกิดจากระบบการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ ในกระบวนการออกแบบก่อสร้างของบ้านเรา ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรองมาตรฐานในการออกแบบ แต่แบบเหล่านี้จะไม่มีการตรวจ แต่จะเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานความรับผิดชอบของวิศวกรและสถาปนิก ถ้าเกิดมีเรื่องราวขึ้นมาก็ค่อยมาตรวจกัน ดังนั้น ถ้าออกแบบผิดก็ไม่มีใครรู้ ตราบใดที่ยังไม่เกิดเรื่อง กลายเป็นว่าคนที่ทำผิดได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น และคนที่ทำถูกต้องกลับเป็นฝ่ายเสียประโยชน์”

เทคโนโลยีและการป้องกัน

ถามว่าเทคโนโลยีตอนนี้เพียงพอที่จะรับมือแผ่นดินไหวได้หรือไม่ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า ได้ เนื่องจากในปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้อาคารรับมือกับแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น ทั้งวัสดุที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตหรือเหล็กเส้นปกติ โดยไปใส่ใจที่การออกแบบรูปทรงโครงสร้างและเทคนิคในการก่อสร้าง

อีกแบบเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น BRB (Buckling-Restrained Braced) หรือการออกแบบอาคารให้มีความยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่น อาคารที่สร้างมาจากคอนกรีตสำเร็จรูปที่สามารถมีความยืดหยุ่นบริเวณจุดเชื่อมต่อ หรือจะเป็นการทำ Isolate ฐานราก โดยการใส่ยางลงไป เพื่อที่เวลาแผ่นดินเกิดการสั่นสะเทือน อาคารจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมาก ซึ่งการทำระบบป้องกันจะทำให้ราคาก่อสร้างสูงขึ้น ประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์

“สำหรับเทคนิควิธีการที่ใหม่ๆ อย่าง BRB นั้น ในต่างประเทศมีการใช้อย่างแพร่หลาย ในญี่ปุ่นก็ใช้กันมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ในบ้านเรายังอยู่ในห้องแล็บตามมหาวิทยาลัยอยู่”

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว ความรู้ด้านการป้องกันตนเองจากภัยพิบัติก็เป็นสิ่งสำคัญ จากการศึกษาของสุระชัยพบว่า ไม่ค่อยมีสื่อที่คอยกระตุ้นเตือนถึงวิธีหลบภัยที่ถูกต้อง ทั้งที่คนที่อยู่ในอาคารสูง 11 เขตทั่ว กทม. ร้อยละ 80 รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว แต่กลับพบว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว สิ่งที่คนเหล่านี้จะทำมากที่สุดคือ วิ่ง

“แล้วพอคุณวิ่ง คุณจะตายจากการวิ่ง” ซึ่งสุระชัยอธิบายเพิ่มเติมจุดอันตรายตรงนี้อีกว่า

“เราพบอย่างหนึ่งว่า มันมีสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้ประชาชนไปเผชิญกับอันตรายเวลาเกิดแผ่นดินไหวก็คือ ป้ายหนีไฟ เวลาไปห้างสรรพสินค้าจะเห็นป้ายหนีไฟสีเขียวๆ คนก็รู้สึกว่าสีเขียวมันเป็นการสื่อสารภายในตัวว่า เป็นที่ปลอดภัย หลบได้ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คนก็จะรู้สึกว่าแผ่นดินไหวคือภัยชนิดหนึ่งในอาคาร ดังนั้น เขาจะต้องไปยังที่ที่ปลอดภัยคือ ป้ายสีเขียว ก็จะวิ่งไป ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ต้องห้ามอย่างยิ่งในการหลบภัยแผ่นดินไหว เพราะจะทำให้คุณถูกสิ่งของหล่นทับ ระหว่างวิ่งไปบันไดหัก อาคารโคลง สาเหตุการตายส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะเราไม่รู้จักวิธีการหลบภัย”

นี่แหละชีวิตเสี่ยงๆ บนที่สูงแบบไทยๆ เอาเป็นว่าคำแนะนำที่มีตอนนี้คือ ตรวจสอบดูว่าอาคารที่คุณอยู่สร้างเมื่อไหร่ มีโครงสร้างรองรับการเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็จำเป็นต้องมองหาวิธีผ่อนหนักเป็นเบา และเริ่มเรียนรู้วิธีหลบภัยจากแผ่นดินไหว

..........

ปูมแผ่นดินไหวในไทย

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะเป็นสิ่งที่ไกลตัวในความรู้สึกของคนไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนั้น ต้องพบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ.1558 ที่โยนกนคร จนแผ่นดินยุบลงไปกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ หรือจะเป็นในปี พ.ศ.2088 ที่เชียงใหม่ ซึ่งแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ทำให้ยอดของเจดีย์หลวงพังทลายลงมา

และหลังจากที่มีการผลิตเครื่องตรวจวัดความแรงแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 ก็ได้มีการบันทึกว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเกิดขึ้นที่ จังหวัดน่าน มีขนาดความรุนแรง 6.5 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2478 แต่โชคดีที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในป่าเขา จึงไม่มีการบันทึกความเสียหายเอาไว้

หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2549 ก็มีการบันทึกว่า เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่กว่า 80 ครั้ง โดยมี 8 ครั้ง ที่มีความรุนแรงมากกว่า 5 ริกเตอร์ (ที่ชิลีครั้งล่าสุดมีความรุนแรง 8.8 ริกเตอร์) และในแต่ละครั้งนั้นมักจะเกิดที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือและกาญจนบุรีเป็นส่วนมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้

-วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 เกิดแผ่นดินไหวที่ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ความรุนแรง 5.6 ริกเตอร์

-วันที่ 15 เมษายน 2526 ที่ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ความรุนแรง 5.5 ริกเตอร์

-วันที่ 22 เมษายน 2526 ที่ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ความรุนแรง 5.9 ริกเตอร์

-วันที่ 11 กันยายน 2537 ที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ความรุนแรง 5.1 ริกเตอร์

-วันที่ 9 ธันวาคม 2538 ที่ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ความรุนแรง 5.0 ริกเตอร์

-วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ที่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ความรุนแรง 5.2 ริกเตอร์

-วันที่ 13 ธันวาคม 2549 ที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ความรุนแรง 5.1 ริกเตอร์

จากสถิติทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แท้แล้วประเทศไทยก็เสี่ยงกับแผ่นดินไหวไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเลย

(ข้อมูลอ้างอิงจากกรมทรัพยากรธรณี http://www.dmr.go.th)

*************

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK








กำลังโหลดความคิดเห็น