xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจ: เชอร์ล็อกโฮล์มส์พิชิตอุบัติเหตุจราจร

เผยแพร่:   โดย: นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

การลดอุบัติเหตุและการตายบนท้องถนนกำลังเป็นวาระสำคัญระดับชาติ (National agenda) ของประเทศไทยในเวลานี้ โดยรัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2553 เป็นปีแห่งความปลอดภัย ภายใต้คำขวัญ ‘คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข’ ทว่ากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สถิติอุบัติเหตุจราจรก็ยังคงสูงดังเดิม โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ด้วยเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงมากในการลดอุบัติเหตุทางท้องถนน เพราะนอกจากจะเป็นหน่วยงานในการกำกับควบคุมให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจรเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นหน่วยงานรวบรวม จัดการ และนำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุที่สำคัญสุดหน่วยหนึ่ง รวมถึงสามารถยกระดับข้อมูลมหาศาลที่มีเพื่อดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุอย่างยั่งยืนได้ ขอเพียงให้ความสำคัญกับการจัดการฐานข้อมูลมากกว่านี้

ทั้งนี้ สถานการณ์ประเทศไทยสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในมือของตำรวจจำนวนมาก หากแต่ถูกนำมาใช้ศึกษาหรือเขียนรายงานเพียง 1 ใน 3 และในจำนวนนั้นถูกยกระดับมาสู่มาตรการแก้ปัญหาที่ใช้ในการปฏิบัติจริงเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายยิ่งสำหรับสังคมไทยว่าจะทำอย่างไรให้ตำรวจเพิ่มการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหา และยกระดับการจัดการข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ตำรวจมักเขียนบันทึกประจำวันว่าเกิดจาก ‘ความประมาท’ ของคนขับรถ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของบันทึกประจำวันนั่นเอง ส่งผลให้หลายกรณีไม่มีการสืบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอย่างแท้จริงว่าเป็นเพราะคนขับประมาทอย่างเดียว หรือมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ทั้งๆ ที่การสรุปและเขียนบันทึกประจำวันเช่นนั้นไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุได้

ดังนั้น ตำรวจต้องผันตัวเองมาเป็น ‘นักสืบ’ และ ‘ผู้ดูแลระบบ’ ด้านอุบัติเหตุจราจร โดยบทบาทของผู้บริหารจะเป็นปัจจัยสำคัญสุดในการเปลี่ยนบทบาทของตำรวจให้เป็น ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์’ สืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจรเพื่อคลี่คลายแก้ไขวิกฤตความสูญเสียอย่างยั่งยืน เพราะเมื่อใดที่ผู้บริหารเรียกดูข้อมูล หรือจัดเวทีนำเสนอข้อมูล เมื่อนั้นจะเป็นตัวเร่งสำคัญในการพัฒนา ‘ข้อมูล’ รวมถึง ‘คนทำงาน’ ซึ่งจะค่อยๆ ยกระดับตนเองเป็น ‘นักข้อมูล’ (Information man) ได้ในที่สุด

โดยหลักการง่ายๆ สำหรับผู้บริหารในการเปลี่ยนตำรวจเป็นนักสืบอัจฉริยะคือการเรียกดูข้อมูล ‘5W’ จากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ได้แก่ What - ปัญหาคืออะไร (รถ ถนน คน หรือปัจจัยอื่น) Where - เกิดที่ไหน (นำไปสู่การจัดทำแผนที่อุบัติเหตุ) When - เกิดเมื่อไร (นำไปสู่การจัดทำนาฬิกาอุบัติเหตุ) Who - เกิดกับใคร และ Why - ทำไมจึงเกิด ซึ่งสองส่วนหลังจะนำไปสู่การหามาตรการป้องกันได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุมีนัย 2 ระดับ คือ 1) ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อนำไปสู่การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และ 2) ข้อมูลการตาย เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดการตายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารมักสนใจข้อมูลแรกมากกว่า โดยการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุนั้นปัจจัยหลักมุ่งไปที่ ‘คน’ แต่เมื่อถามถึงข้อมูลการตาย ปัจจัยหลักจะเปลี่ยนไปอยู่ที่ ‘ถนนและตัวรถ’

ดังสถิติอุบัติเหตุบนทางหลวง ปี 2550 ที่พบว่าร้อยละ 43 เกี่ยวข้องกับการชนวัตถุข้างทาง โดยในจำนวนนั้นนำไปสู่การตายถึงร้อยละ 34 ซึ่งแปรความหมายได้ว่าสภาพถนนในเมืองไทยยังสุ่มเสี่ยงพอสมควร หากพลาดก็มีสิทธิชนกับสิ่งกีดขวางหรือต้นไม้ข้างทางเสียชีวิตได้ง่ายๆ ดังนั้น ระบบความปลอดภัย (Safety system) จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

การตระหนักว่ามนุษย์ผิดพลาดได้เสมอเช่นนี้ทำให้สวีเดนที่เป็นประเทศต้นแบบระบบความปลอดภัยของโลกกล้าประกาศ ‘Vision Zero’ ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะไม่มีคนตายบนท้องถนนถึงแม้จะยังคงเกิดอุบัติเหตุอยู่ก็ตาม ด้วยเชื่อมั่นว่าระบบความปลอดภัยของถนนและตัวรถมีคุณภาพสูงจนไม่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันอัตราการตายบนท้องถนนต่อแสนประชากรของสวีเดนน้อยกว่า 4 คนต่อแสนประชากร ขณะประเทศไทยสูงถึง 17.77 คนต่อแสนประชากร กอปรกับระบบช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุของสวีเดนก็มีประสิทธิภาพและมีการเตรียมพร้อมเต็มที่ ขาดก็แต่ ‘คนไข้’ เท่านั้น

แม้นกรณีที่ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่อาจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ปลอดภัยได้ ผู้ดูและระบบของประเทศสวีเดนก็ยังสามารถทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ได้ คือทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

บทเรียนด้านระบบความปลอดภัยของประเทศสวีเดนจึงสำคัญยิ่งต่อประเทศไทยที่กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งความปลอดภัย เพราะจะทำให้ไม่พุ่งเป้าไปที่ความประมาทของคนขับ ความบังเอิญ หรือข้อบกพร่องใดหนึ่งเดียวเหมือนที่แล้วมา แต่มองหลายเหตุปัจจัยพร้อมกัน เพราะอุบัติเหตุทางท้องถนนที่รุนแรงเกิดจากความไม่ลงตัวพร้อมกันของหลายปัจจัยในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบถนนไม่ถูกต้อง ไม่ควบคุมคุณภาพรถ สภาพผู้ขับขี่ไม่พร้อม หรือระบบป้องกันการเสียชีวิตไม่มี

ดังนั้น บทบาทสำคัญของตำรวจที่สวมบทบาทเชอร์ล็อก โฮล์มส์คือทำ ‘การสืบสวนอุบัติเหตุ’ วิเคราะห์เหตุปัจจัยของเหตุการณ์อย่างถี่ถ้วนบนพื้นฐานการเข้าใจระบบความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัตินั้นต้องแยกองค์ประกอบหลักที่นำไปสู่อุบัติเหตุรุนแรงออกเป็นรถ ถนน คน แล้ววิเคราะห์ความสัมพันธ์ทั้งหมด ทั้งก่อน ขณะ และหลังอุบัติเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ระบบป้องกันหรือระบบความปลอดภัยทำงานหรือไม่ เหนืออื่นใดตระหนักเสมอว่าเป้าหมายไม่ใช่การสืบหาคนผิดอย่างที่คุ้นเคย หากแต่เป็นการหาสาเหตุเพื่อนำไปวิเคราะห์หามาตรการป้องกันที่ได้ผลจริง

โดยหัวใจสำคัญสุดคือการนำข้อมูล (Data) ที่มีมาแปลงเป็นข้อมูลข่าวสาร (Information) เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น คิดอัตราการเสียชีวิตเทียบกับจำนวนประชากร หรือจัดทำข้อมูลจุดเสี่ยง รวมถึงนำมาประมวลเหตุและผลเพื่อวิเคราะห์ แก้ไข และทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลเป็นข่าวสารความรู้ได้แล้ว ก็ต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ด้วย เช่น นำเสนอผู้เกี่ยวข้องด้วยวิธีน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอประกอบ หรือถอดบทเรียนคนทำงานภาคปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนความรู้ของคนทำงานซึ่งเปรียบเสมือนความรู้ล่อนจ้อนให้เป็นความรู้นุ่งผ้าโดยผ่านกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งทั้งสองแบบจะเผยแพร่วงกว้างได้

ไม่เท่านั้น เพื่อความยั่งยืนในการป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนน ยังต้องเพิ่มเติมข้อมูลเชิงลึกที่ผู้บริหารควรเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเก็บข้อมูลด้วย โดยเฉพาะข้อมูลด้านการจัดการ (3M) ทั้งกำลังคน (Man) งบประมาณ (Money) และอุปกรณ์เครื่องมือ (Material) เพื่อสะท้อนทรัพยากรที่มี และสามารถกระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตอุบัติเหตุจราจรไทยได้ในที่สุด เพราะจะทำให้ข้ออ้างตลอดมาว่าขาดแคลนงบประมาณและเครื่องมือต่างๆ ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าฝ่ายบริหารระดับไหนก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอได้ ด้วยมีข้อมูลเชิงลึกและผลสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรองรับกับทุกๆ มาตรการและนโยบายป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุจราจรที่เสนอไป

ท้ายสุดประเทศไทยจะบรรลุผลลดอุบัติเหตุลงใกล้ ‘0’ ได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาฐานข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา และนำเสนอมาตรการแก้ไขวิกฤตอุบัติเหตุจราจรอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการสวมบทบาทสืบสวนคลี่คลายสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจร เหมือนดังเชอร์ล็อก โฮล์มส์สืบเสาะความจริงเบื้องลึกแห่งปริศนาสุดซับซ้อน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น