xs
xsm
sm
md
lg

พธม. – ความหวังครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

โดย...ไสว บุญมา

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ผมเรียนว่าเราต้องเสริมสร้างทุนทางสังคมให้แข็งแกร่งเราจึงจะพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ต่อมาผมเรียนว่า การเสริมสร้างทุนทางสังคมนั้นนับวันจะยิ่งยากเนื่องจากการแย่งชิงทรัพยากรจะเข้มข้นจนผลักดันให้ผู้คนลดมาตรฐานทางจรรยาบรรณและฉ้อโกงกันมากขึ้น ผมเสนอให้ผู้อ่านอาสาออกมาช่วยกันทำอะไรต่อมิอะไรโดยไม่ได้เรียนว่า ความหวังครั้งสุดท้ายอยู่ที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน วันนี้จะเรียนว่าเพราะอะไรผมจึงคิดเช่นนั้น

ณ วันนี้คงไม่เป็นที่กังขาอีกต่อไปแล้วว่า สังคมไทยไม่เคยพร้อมที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยบริหารประเทศ จากปี 2475 การบริหารตามแนวนั้นจึงล้มลุกคลุกคลานตลอดมา ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนต้นเพราะคณะราษฎร์บางคนไม่สนใจที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จากวันนั้น ชนชั้นผู้นำที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่ก็ใช่จะมีศรัทธาอย่างทั่วถึง เราจึงมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร พ่อค้า นักการเมือง นักเลือกตั้งและผู้ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงชั่วคราว พวกเขามักเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องตามรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำให้การแสวงหานั้นสะดวกขึ้น

หลังจากขว้างรัฐธรรมนูญทิ้งไปนับสิบครั้ง เราได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าวางอยู่บนฐานของอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากที่สุด กระนั้นก็ตาม ความทรามของนักการเมืองและนักเลือกตั้งก็ยังทำให้มันถูกขว้างทิ้งจนได้

เราทราบดีว่าระบอบประชาธิปไตยที่เราลอกผู้อื่นมานั้นแยกการบริหารออกเป็นสามฝ่าย ได้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามามักเป็นนักเลือกตั้งที่หวังเข้ามาเพื่อแสวงหาและรักษาประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ร้ายยิ่งกว่านั้น บางคนแสดงสันดานของความเป็นอันธพาลออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยทั่วไปฝ่ายนี้จึงมีคุณภาพต่ำมาก

เนื่องจากฝ่ายบริหารมาจากการคัดเลือกผู้ที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ คุณภาพของฝ่ายบริหารโดยทั่วไปจึงไม่ต่างจากฝ่ายนิติบัญญัติมากนัก เรื่องนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดอยู่แล้ว

ฝ่ายตุลาการมาจากการคัดสรร ฉะนั้น ฝ่ายนี้จึงไม่มีลักษณะของอีกสองฝ่ายยกเว้นในบางกรณีโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการเบื้องต้นอันได้แก่ตอนที่คดียังอยู่ในมือตำรวจและอัยการ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันฝ่ายตุลาการยังพอค้ำชูสังคมไทยให้อยู่กับร่องกับรอยได้ เราโชคดีที่ความพยายามของอดีตฝ่ายบริหารทรามๆ และเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาในตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถทำลายกระบวนการนี้ได้ มิฉะนั้นเมืองไทยก็คงเป็นรัฐล่มสลายสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับโซมาเลียและเฮติไปแล้ว

การบริหารประเทศต้องยึดหลักเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นฐานเช่นเดียวกับที่ทางการเมืองยึดหลักประชาธิปไตย เมืองไทยเรายึดหลักตลาดเสรีแบบผสมผสานมานานแล้ว นั่นคือ รัฐเข้าไปมีบทบาทในตลาดโดยตรงบ้างในบางกรณี เช่น มีรัฐวิสาหกิจและควบคุมราคาสินค้าบางชนิดเมื่อจำเป็น แต่ส่วนใหญ่รัฐปล่อยให้ภาคเอกชนมีอิสระที่จะดำเนินงาน

เท่าที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ของการใช้ระบบตลาดเสรีมีที่มาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้อยู่ในภาครัฐที่มีอำนาจสูงสุดคือรัฐบาลซึ่งมีปัญหาสารพัดดังที่อ้างถึง คนพวกนี้จึงไม่มีความเป็นกลางที่จะเอื้อให้ภาคเอกชนทำงานได้ตามหลักการของตลาดเสรี ร้ายยิ่งกว่านั้น พวกเขายังเข้าไปมีกิจการเสียเอง หรือไม่ก็ให้ความสะดวกแก่พวกพ้องของตนเป็นพิเศษ ส่วนเอกชนที่มีกิจการต่างๆ ก็มักหาทางเอาใจพวกที่อยู่ในภาครัฐเพื่อหวังจะได้โอกาสพิเศษ ภาคเอกชนจึงถูกบิดเบือนไปจนไม่มีลักษณะของภาคเอกชนในตลาดเสรีที่แท้จริง

ดังที่ผมเรียนไว้ ปัจจัยพื้นฐานกดดันให้ผู้คนลดมาตรฐานทางจรรยาบรรณและฉ้อโกงกันมากขึ้น เมืองไทยจึงมิใช่ประเทศเดียวที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีปัญหาหนักหนาสาหัส คนไทยจำนวนมากทราบดีว่า ทางแก้ได้แก่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคประชาสังคม ภาคนี้มีส่วนประกอบหลากหลายจากการเคลื่อนไหวของบุคคลเพียงคนเดียวไปถึงของกลุ่มใหญ่ในรูปต่างๆ เช่น องค์กรเอกชนและการรวมตัวกันของคนจำนวนมากเป็นครั้งคราวเพื่อประท้วงรัฐบาล ภายในภาคธุรกิจเองก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อเอื้อให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น เช่น การทำกิจกรรมในกรอบแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทห้างร้าน

ความเคลื่อนไหววิวัฒน์ไปค่อนข้างเชื่องช้าเพราะคนทรามพยายามใช้วิชามารแทรกแซงและบิดเบือนโดยออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเองบ้าง จ้างคนอื่นเคลื่อนไหวแทนบ้าง สร้างภาพด้วยการโกหกพกลมบ้าง และกล่าวร้ายผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยแท้จริงบ้าง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวที่ผมเห็นว่าตรงกับความต้องการของสังคมอย่างแท้จริงได้แก่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) การพูดเช่นนี้มิใช่เพื่อยกย่องพวกพ้องกันเอง หากผมได้ติดตามและศึกษาการเคลื่อนไหวจนแน่ใจว่ามาจากพลังบริสุทธิ์จริง

ผมมองว่าความเคลื่อนไหวในแนวของ พธม. เป็นความหวังครั้งสุดท้ายที่จะป้องกันมิให้เมืองไทยเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายซึ่งปราชญ์และโหรบางคนทำนายว่าจะเริ่มในปี 2555 ผู้ทำนายได้แก่ชาวมายา นอสตราดามุส เออร์วิน ลาสซโลและหลวงปู่ฐิติลาโภ ภิกขุ (เออร์วิน ลาสซโล ทำนายไว้ในรูปของทางสองแพร่งโดยทางหนึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนและทางหนึ่งจะนำไปสู่ความล่มสลาย ดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ The Chaos Point ซึ่งมีบทคัดย่อเป็นภาษาไทยในเว็บไซต์ (www.sawaiboonma.com)

เนื่องจากมันเป็นความหวังครั้งสุดท้าย ความเคลื่อนไหวในแนวของ พธม. จะต้องขยายทั้งเครือข่ายและเนื้องานให้กว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น เรื่องนี้ย่อมเป็นที่ตระหนักของแกนนำ พธม. อยู่แล้ว ผมมองว่าผู้อ่าน “ผู้จัดการ” ส่วนใหญ่ก็เข้าใจเป็นอย่างดีและมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความเคลื่อนไหวจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีโอกาสหมดพลังซึ่งอาจเกิดได้จากหลายทางด้วยกัน ผมมองเห็น 3 ประเด็นทันที

ประเด็นแรก พวกที่มีความเลวทรามเป็นสันดานและพวกมารทางเมืองจะพยายามล่อใจพันธมิตรฯ โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในรัฐสภาและรัฐบาลให้ละทิ้งอุดมการณ์ของตน เนื่องจากพันธมิตรฯ ยังเป็นปุถุชน การล่อใจอาจได้ผลตามที่พวกคนทรามหวัง

ประเด็นที่สอง ความเคลื่อนไหวนี้จะมีความยืดเยื้อเป็นเวลานานเนื่องจากพวกมารที่ฝังตัวอยู่ทั่วทุกหัวระแหงจะพยายามหักล้างอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นความอ่อนล้าจะคืบคลานเข้ามาเมื่อไรก็ได้ ความอ่อนล้าในที่นี้ไม่จำกัดอยู่ที่ทางร่างกายเพียงอย่างเดียว หากครอบคลุมไปถึงกำลังใจและกำลังทรัพย์ด้วย

ประเด็นที่สาม ไม่มีใครอยู่ได้ค้ำฟ้า เราเห็นแล้วว่ามีคนมุ่งร้ายต่อผู้เคลื่อนไหวในแนวพันธมิตรฯ โดยเฉพาะแกนนำและเราหลีกเลี่ยงสัจธรรมไม่ได้ อุดมการณ์ของแกนนำรุ่นต่อๆ ไปอาจไม่เข้มข้นเท่าของคนรุ่นปัจจุบัน ฉะนั้น การจะคงไว้ซึ่งศรัทธาจะยากยิ่งขึ้น

ผู้อ่านคงมองเห็นประเด็นอื่นๆ อีก หวังว่าท่านจะออกมาชี้แนะและช่วยกันทำให้ความหวังครั้งสุดท้ายนี้มีผลในทางป้องกันมิให้สังคมไทยเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลาย แต่จะผลักดันให้เดินเข้าสู่ทางแห่งความยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น