xs
xsm
sm
md
lg

หลักการของ “มาร์ค” - หลักกูของพรรคร่วม ใครจะชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ซึ่งมีมติไม่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น
มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันอังคารที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ที่ไม่เข้าร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นับเป็นการประกาศท่าทีอย่างชัดเจนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะไม่ตามใจพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไป

หลังจากที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ต้องตามใจพรรคร่วมฯ มาตลอด ตั้งแต่การจัดสรรตำแหน่ง รัฐมนตรีที่พรรคร่วมจะส่งใครมาก็ได้ โครงการเมกโปรเจกต์ต่างๆ แม้จะใช้สถานะนายกฯ คัดค้านบ้าง ก็เฉพาะโครงการที่ส่อทุจริตน่าเกลียดเกินไป อย่าง รถเมล์เอ็นจีวี เป็นต้น แต่สุดท้ายก็ให้ผ่านอยู่ดี

นายอภิสิทธิ์เพิ่งจะมาเล่นบทแข็งกับพรรคร่วมบ้าง ก็ตอนปลายปี 2552 เมื่อผลตรวจสอบการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุขออกมา ซึ่งนายกฯ ยืนยันตามหลักการกฎเหล็ก 9 ข้อ ให้นายมานิต นพอมรบดี จากพรรคภูมิใจไทย ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แทนที่จะลาพักตามที่นายมานิตเสนอ แต่หลังจากนั้น การเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรีแทนนายมานิต ก็ยังปล่อยให้เป็นเรื่องของมุ้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในพรรคภูมิใจไทยเจ้าของโควตาเดิม

การประกาศในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมว่าจะไม่ยอมให้พรรคร่วมฯ มาข่มขู่กดดันอีกต่อไป จึงเป็นการแตกหักพรรคร่วมครั้งแรกอย่างเป็นทางการจริงๆ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปล่อยให้พรรคร่วมเดินเกม มาขู่ผ่านสื่อมวลชนว่าจะสลับขั้วบ้าง จะไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้แทนบ้าง รวมถึงการเดินสายของนายบรรหาร ศิลปอาชา และนายเนวิน ชิดชอบ ไปเจรจากับพรรคต่างๆ สร้างกระแสข่าวรายวันให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า จะแก้ไข 2 ประเด็น คือ มาตรา 94 เรื่องเขตเลือกตั้ง โดยจะเปลี่ยนจากระบบเขตใหญ่ เรียงเบอร์ เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว และมาตรา 190 จะแก้ไขให้การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ไม่ต้องผ่านรัฐสภา

การเดินเกมของพรรคร่วมในเชิงข่มขู่กดดัน คงทำให้นายอภิสิทธิ์อึดอัดมานานแล้ว และมาระเบิดเอาตอนประชุมพรรค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แสดงให้พรรคร่วมได้เห็นว่า ตั้งแต่บัดนี้พรรคร่วมจะขึ้นขี่คอนายกฯ หน้าละอ่อนคนนี้ ไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว

หลายคนคงคาดการณ์ว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ มีมติขัดใจพรรคร่วม ย่อมจะนำมาซึ่งการล่มสลายของรัฐบาล แต่พอเอาเข้าจริง พรรคร่วมก็แสดงท่าทีผิดหวังพอเป็นพิธีเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จาdคดียุบพรรค ที่ให้สัมภาษณ์อย่างมีอารมณ์ว่า ต่อไปนี้ คงจะเริ่มนับถอยหลังอายุรัฐบาล ซึ่งก็มีความหมายโดยนัยเป็นการข่มขู่ว่า พรรคร่วมจะไม่อยู่กับประชาธิปัตย์แล้วนั่นเอง แต่พอตกบ่าย กลับบอกว่า ไม่ได้หมายความอย่างนั้น ที่บอกว่านับถอยหลังหมายถึงอายุรัฐบาลตามวาระเหลืออีกเพียงปีเศษเท่านั้น เวลาที่เหลืออยู่จะต้องรีบทำงานแก้ไขปัญหาให้ชาติบ้านเมือง

ความจริงนักวิเคราะห์หลายคนฟันธงมานานแล้วว่า พรรคร่วมไม่กล้าถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์แน่นอน เพราะเมื่อบวกลบคูณหาร ดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว เป็นรัฐบาลต่อไปคุ้มกว่าการหาเรื่องป่วนจนทำให้นายกฯ ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และการจะกลับไปจับมือกับพรรคนอมินีของทักษิณ ชินวัตรนั้น คงไม่อาจจะประสานกันได้สนิทอีกต่อไป

และถ้าจะว่าไปแล้ว 2 ประเด็นที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากยังแก้ไม่สำเร็จ ก็ใช่ว่าพรรคร่วมจะสูญเสียอะไรไปมากกว่าที่เป็นอยู่

เชื่อกันว่า การเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมนั้น มีเป้าหมายหลักเพียง 2 อย่าง คือ 1.เผื่อสบโอกาส แอบสอดไส้การแก้ไข มาตรา 237 เพื่อปล่อยผีอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค เพื่อให้แกนนำตัวจริงของพรรค ไม่ว่าจะเป็น นายบรรหาร ศิลปอาชา นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ฯลฯ พ้นโทษออกมากุมบังเหียนพรรคได้อย่างเต็มไม้เต็มมือเสียที

ส่วน 2 มาตราที่ยกมา ทั้ง 94 และ 190 เป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อให้มีการบรรจุวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา เพราะถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว ไม่มีความจำเป็นอันใดเลย ที่จะเร่งรีบแก้ไขทั้ง 2 ประเด็นให้ผิดใจกับพรรคแกนนำรัฐบาลเสียเปล่าๆ

เป้าหมายที่ 2 พรรคร่วมต้องการสร้างอำนาจต่อรอง ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีของพรรคแกนนำและพรรคร่วมตกเป็นเป้าหมายที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเห็นได้ว่า มีการเอาเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างในการปล่อยฟรีโหวต ในช่วงการลงมติหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นการขู่พรรคประชาธิปัตย์กรายๆ ว่า ถ้าอยากให้รัฐมนตรีประชาธิปัตย์รอด ก็ต้องยกมือให้รัฐมนตรีพรรคร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจอท่าทีที่เด็ดขาดขึ้นมาของนายอภิสิทธิ์ เห็นทีพรรคร่วมต้องไปปรับความคิดใหม่ ส่วนข้อตกลงที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล เคยรับปากไว้ตอนเจรจาจัดตั้งรัฐบาลนั้น บางข้ออาจต้องลืมๆ ไปเสียบ้าง เพราะถ้า ข้อไหนที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แล้วยังดึงดันที่จะทำให้ได้ ก็จะนำความหายนะมาสู่รัฐบาลทันที

ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์วันที่ 26 มกราคม 2553 นั้น ผู้ใหญ่ในพรรค ได้ปล่อยประโยคเด็ดส่งผ่านไปแทงใจดำแกนนำพรรคร่วมกันหลายประโยคทีเดียว โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคนั้น ฟันธงชัดเจนว่า การเดินแกมแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวให้แก่นายบรรหาร และนายเนวินเท่านั้น

ส่วนหากพรรคประชาธิปัตย์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคที่คบยาก นายชวนบอกว่า ถ้าคบจะกันเพื่อมาทุจริต ก็ไม่เห็จะต้องคบ

ส่วนนายอภิสิทธิ์ ได้ระบายความอึดอัดต่อที่ประชุมพรรคว่า การเข้ามาเป็นรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่มาหาเงินเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง แต่เข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง พร้อมยืนยันว่าพรรคไม่เคยหักหลังใคร หากจะสู้กับระบอบทักษิณ ต้องเรียกศรัทธาคืนจากประชาชนและต้องไม่กลัวยุบสภา ไม่ให้ใครมาขู่ได้ และต้องเป็นหลักให้บ้านเมือง อย่ากลัวแพ้เลือกตั้ง หรือกลัวปฏิวัติ

“ผมยอมรับไม่ได้ที่จะเป็นรัฐบาลที่พรรคร่วมคอยกดดัน ข่มขู่ หากเขาขู่ได้ก็จะขู่เรื่อยไป หากเป็นรัฐบาลในสภาพการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้สมาชิกพรรคตัดสินใจให้ดีอีกครั้ง อย่าไปกลัว หรืออย่าไปสนแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขู่ยุบสภา หรือยกมือโหวตไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริง"เสียงเข้มจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในที่ประชุมพรรควันที่ 26 ม.ค.

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ประกาศท่าทีชัดเจนเช่นนี้แล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลต่อจากนี้ไป จึงขึ้นอยู่กับว่า คนอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ฯลฯ จะลดความเห็นแก่ตัวลง และหันมาเห็นแก่ชาติบ้านเมืองมากขึ้นเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น