xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-มาเลย์ผนึกดับไฟใต้ ดัน” ฮาลาล “ลุยตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส. อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาฯบีโอไอ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ไทยและมาเลเซียบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและบริการฮาลาลให้ได้รับมาตรฐานสากล โดย “บีโอไอ” รับเป็นตัวกลางผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนา 5 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นศูนย์กลางผลิตฮาลาลในอาเซียนตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจและบริการฮาลาล ปี 2553-2557 ภายใต้มาตรฐานคุ้มครองผู้บริโภค HACCP/GMP ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนป้อนตลาดโลก 20% ไทยมั่นใจกระตุ้นเม็ดเงินการลงทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ด้านมาเลย์ชี้ปัญหาไฟใต้ไม่มีผลต่อความร่วมมือและการลงทุน

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับ Halal Industry Development Corporation (HDC) ประเทศมาเลเซีย จัดสัมมนาเรื่อง “อาหารฮาลาล: โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับไทย-มาเลเซีย” ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ท่ามกลางบริษัทผู้เข้าร่วมจากมาเลเซียประมาณ 30 บริษัทและบริษัทจากไทยกว่า 50 บริษัท โดยมีนายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน

การสัม,นาครั้งนี้ เป็นการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยกับนักลงทุนมาเลเซียในการเจรจาหารือ และมองความเป็นได้ถึงโอกาสเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และพื้นที่รัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย อีกทั้งเป็นการเร่งเสริมสร้างศักยภาพในการผลิต เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดชายแดนไทย เป็นพื้นที่ที่มีความพรั่งพร้อมของวัตถุดิบทางเกษตรกรรม สะท้อนได้จากสัดส่วนตลาดอาหารฮาลาลที่ป้อนสู่ตลาดโลกที่ผ่านมาที่มีมากถึงร้อยละ 20 ของมูลค่าอาหารทั่วโลก
ดาโต๊ะ ดร. โซแอด จาลาลุดีน โซแอด ซาลิม ประธาน HDC
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีแผนการทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างฐานผลิตสินค้าและบริการฮาลาลในอาเซียนและของโลก โดยการยกระดับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเสมือนศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาล (Halal Food Production Hub) เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ จ.ปัตตานี ภายใต้มาตรฐานการตรวจรับรองจากศูนย์วิจัยต่างๆ และเครื่องหมายรับรองฮาลาลจากทางสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

“ขณะนี้สินค้าฮาลาลไม่เพียงแต่เฉพาะเจาะจงที่ตลาดชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังตลาดอาหารสุขภาพ (Healthy Food) ซึ่งสามารถเจาะยังกลุ่มทั่วไป (Non-Muslim) ได้อีกทาง ผนวกกับไทยมีนโยบายสนับสนุนด้านการลงทุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น บีโอไอ ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) ที่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท” น.ส. อัจฉรินทร์กล่าวต่อและว่า

นอกจากนี้ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจและบริการฮาลาล ปี 2553-2557 ขึ้น โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารฮาลาลให้ผ่าน HACCP/GMP ซึ่งเป็นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับอันตรายจากอาหาร รวมไปถึงการดูแลด้านสุขลักษณะของอาคาร สถานที่ทำการผลิต เครื่องจักรอุปกรณ์ และควบคุมกระบวนการผลิต ที่ไทยและมาเลเซียบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและบริการฮาลาลให้ได้รับมาตรฐานสากล โดยล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลของจุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินการ
เสรี ศรีหะไตร
ส่วนทางด้านแผนการพัฒนาศักยภาพของระบบลอจิสติกส์ รัฐบาลไทยได้มีการเร่งพัฒนาเพื่อสอดรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมฮาลาล เช่น การปรับปรุงเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา-เบตง ที่จะช่วยให้การขนส่งสินค้าจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไปยังท่าเรือในรัฐปีนังของมาเลเซีย สะดวกง่าย ซึ่งสินค้าจะถูกส่งผ่านด่านชายแดนด้าน อ.เบตง จ.ยะลา แทนเส้นทาง อ.สะเดา จ.สงขลา สามารถย่นระยะขนส่งได้ 80 กิโลเมตร หรือทางหลวง 418 เชื่อมต่อระหว่างจ.ปัตตานี-ยะลา สู่ท่าเรือสงขลาไปยังท่าเรือปากบารา จ.สตูล นับเป็นการเปิดประตูสินค้าฮาลาลเชื่อมระหว่างแถบชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

สอดคล้องกับนายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่กล่าวว่า แม้ตอนนี้บทบาทในการร่วมมือกันยังไม่ชัดเจน และความมั่นใจต่อฐานประชาคมโลกยังไม่แข็งแกร่งมาก แต่อยากให้มองความพร้อมในด้านต่างๆ อันเป็นจุดแข็งทางด้านยุทธศาสตร์ (Proficient Strategy) ที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังกลายเป็นจุดศูนย์รวมในด้านลอจิสติกส์ โดยสินค้าฮาลาลจะสามารถส่งผ่านไปยังท่าเรือสงขลาโดยใช้สะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งศรี ดาโต๊ะ ดร. โซแอด จาลาลุดีน โซแอด ซาลิม ประธาน HDC มองว่า เหตุการณ์ก่อความไม่สงบบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจการลงทุนของผู้ประกอบการฮาลาลแต่อย่างใด และไม่อยากให้นำเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวโยงกับทางด้านธุรกิจ เพราะการร่วมมือกันระหว่างสองชาติในครั้งนี้ เป็นการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการแก้ปัญหาโดยธรรมชาติ ในรูปแบบธุรกิจที่นำสู่ตลาดอาเซียนมากกว่า

ด้าน ดาโต๊ะ เสรี จามิล บิดินห์ หัวหน้าผู้บริหาร HDC เปิดเผยว่า แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงเม็ดเงินจากการเปลี่ยนแปลงระบบได้ อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขในอุตสาหกรรมฮาลาลทั่วโลกมีจำนวนถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นโอกาสของไทย-มาเลย์ที่มีฐานการผลิตสินค้าและบริการฮาลาลที่แข็งแกร่ง ในการร่วมมือกันผลักดันเข้าไปสู่ส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ซึ่งขณะนี้ยังเปิดกว้างอยู่มาก

ดังนั้น การที่ไทยและมาเลเซียร่วมมือกันจะกลายเป็นภาพรวมของอาเซียนที่สามารถต่อกรได้กับประเทศส่งออกอาหารฮาลาลในตลาดหลัก ได้แก่ บราซิล นิวซีแลนด์ อเมริกา และจีน ดังจะเห็นได้จากประเทศแคนาดา ที่เร่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมป้อนสู่ตลาดฮาลาล สามารถเพิ่มสัดส่วนในตลาดได้มากถึง 20% คิดว่าคงเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับตลาดฮาลาลที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น
ดาโต๊ะ เสรี จามิล บิดินห์
ด้าน ดาโต๊ะ เสรี จามิล บิดินห์ หัวหน้าผู้บริหาร HDC เปิดเผยว่า แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงเม็ดเงินจากการเปลี่ยนแปลงระบบได้ อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขในอุตสาหกรรมฮาลาลทั่วโลกมีจำนวนถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นโอกาสของไทย-มาเลย์ที่มีฐานการผลิตสินค้าและบริการฮาลาลที่แข็งแกร่ง ในการร่วมมือกันผลักดันเข้าไปสู่ส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ซึ่งขณะนี้ยังเปิดกว้างอยู่มาก

ดังนั้น การที่ไทยและมาเลเซียร่วมมือกันจะกลายเป็นภาพรวมของอาเซียนที่สามารถต่อกรได้กับประเทศส่งออกอาหารฮาลาลในตลาดหลัก ได้แก่ บราซิล นิวซีแลนด์ อเมริกา และจีน ดังจะเห็นได้จากประเทศแคนาดา ที่เร่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมป้อนสู่ตลาดฮาลาล สามารถเพิ่มสัดส่วนในตลาดได้มากถึง 20% คิดว่าคงเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับตลาดฮาลาลที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น