xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน:นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ฟองสบู่ลูกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าผู้อ่านติดตามงานเขียนของผมอาจจะสังเกตว่าผมเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจฟองสบู่ค่อนข้างบ่อยในช่วงหลัง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผมมีความเห็นว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสุดโต่งที่หลายประเทศทำกันอยู่ มีโอกาสที่จะนำเศรษฐกิจไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต และเป็นที่น่าสังเกตว่าฟองสบู่ระยะหลังเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยกว่าในอดีต

วารสาร “The Economist” ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2553 ได้ลงพิมพ์ 2 บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีความเห็นว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขั้วจนถึงขั้นพิมพ์เงินในกรณีของสหรัฐฯและญี่ปุ่น และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ของหลายประเทศ ทั้งในอังกฤษและกลุ่มประเทศใช้เงินยูโร ทำให้ราคาสินทรัพย์กลับเพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าฟองสบู่อาจจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งทั้งในประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบวิกฤติการเงิน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาประเภทตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศกำลังใช้อยู่ คาดว่าอาจจะทำให้ประเทศพัฒนาแล้วเข้าสู่ภาวะฟองสบู่อีกครั้งหนึ่ง หลักฐานก็คือ ดัชนี MSCI ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 จากระดับต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2552 วารสาร The Economist ยังเน้นอีกว่า แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯในปัจจุบันจะยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในปี 2550 ประมาณร้อยละ 25 แต่มูลค่าตลาดก็ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตถึงประมาณร้อยละ 50 นอกจากนี้ราคาบ้านในหลายประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับต่ำสุดในปี 2552 แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นต่อ โดยราคาบ้านในอังกฤษสูงกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตประมาณร้อยละ 30 ขณะที่ในออสเตรเลีย ฮ่องกงและสเปน สูงกว่าในอดีตถึงประมาณร้อยละ 50

ปัญหาฟองสบู่ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่มีวิกฤติการเงินเท่านั้น แต่ขยายตัวไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในกลุ่ม Emerging Markets ด้วย โดยผ่านกลไก 3 ด้าน คือ (1) Carry Trade (การกู้ยืมจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) (2) การเคลื่อนย้ายเงินทุนตามปกติ และ (3) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นเองที่สนับสนุนให้เกิดฟองสบู่

สาเหตุที่ประเทศตลาดเกิดใหม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มาก มาจากการที่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้เกิดปัญหาการเงิน และโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก ข้อมูลจาก The Economist พบว่าการทำ Carry Trade มีมูลค่าสูงมากในปีที่ผ่านมา โดยนักลงทุนและสถาบันการเงินได้กู้เงินจากองทุน Money Market ในอัตราดอกเบี้ยต่ำถึงประมาณ 468,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปลงทุนในประเทศที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ส่วนกรณีการลงทุนข้ามประเทศโดยปกตินั้น นักลงทุนตะวันตกได้ลงทุนในกองทุนประเทศเกิดใหม่แล้วประมาณ 64,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีก่อน นอกจากนี้การที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายค่อนข้างมาก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่ได้ง่ายกว่าปกติ บางประเทศ เช่น จีนที่ใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสุดโต่ง ทำให้สินเชื่อขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 30 ยิ่งเป็นปัจจัยที่ดีในการทำให้เกิดฟองสบู่มากกว่าประเทศอื่น

สัญญาณหนึ่งของการเริ่มต้นของฟองสบู่ในประเทศเหล่านี้ก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศพุ่งขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในจีน บราซิล และอินโดนีเซีย สัดส่วน P/E ของตลาดเกิดใหม่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่สัดส่วนของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่นในดัชนี MSCI กลับลดลง จากร้อยละ 73 ในปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 59 ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งการลดลงดังกล่าวเกือบทั้งหมดถูกทดแทนด้วยตลาดหลักทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ เช่น จีนและฮ่องกง ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง ทำให้ราคาสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะทองคำที่ราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ปัจจุบันมีการตั้งกองทุนจำนวนมากเพื่อเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากสภาพคล่องที่สูงและอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ

ผลจากวิกฤติการเงินที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ผมคาดว่ารัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกจะยังคงใช้มาตรการการเงินที่ผ่อนคลายอย่างสุดโต่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งผลที่ตามมาคือ การเก็งกำไรก็จะยังคงอยู่ และราคาสินทรัพย์จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ส่งผลให้โอกาสที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าในปัจจุบันราคาสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อสังหาริมทรัพย์อื่นๆ และโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูงกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตมาก ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าราคาสินทรัพย์เหล่านั้นจะอยู่เช่นนี้ตลอดไป มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตหลายครั้งที่เสดงว่า หลังจากฟองสบู่แตก ราคาสินทรัพย์ก็ไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่ในระดับที่เคยสูงสุดในอดีตได้ เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ตลาด NASDAQ ของสหรัฐฯ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีในตลาดเหล่านี้ก็ยังมีระดับต่ำกว่าระดับสูงสุดในอดีตไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ส่วนกรณีของทองคำ ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดถึง 835 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ออนซ์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 และต่อมาก็ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ใน 20 ปีต่อมา ด้านราคาน้ำมันนั้น หลังจากขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2551 ที่ 147 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปัจจุบันราคาก็ยังสูงได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของราคาเดิม ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาสินทรัพย์อาจจะลดลงได้อีกในอนาคต เพราะประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ และเศรษฐกิจฟองสบู่ก็ยังคงเป็นบทเรียนที่ไม่เคยจำของมนุษยชาติต่อไป

                      Bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น