เริ่มต้นปีใหม่มาได้ไม่กี่วัน ก็ดูท่าว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปีที่ผ่านมานั้น ได้ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่างๆที่เริ่มทยอยประกาศออกมา ก็ดีเหนือความคาดหมาย แต่ก็มีบ้างที่พบว่าตัวเลขไม่ได้ปรับตัวไปตามที่คิดกันไว้ ....ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น พร้อมทั้งกล้าที่จะกลับเข้ามาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนให้แก่ตนเองอีกด้วย
สำหรับในภาคของการลงทุน การที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นนั้นได้ ส่งผลดีต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีมาให้นักลงทุนได้เข้าลงทุน แต่ก็อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มีด้านเดียวเสมอไป เพราะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น เป็นการปรับตัวที่แท้จริงหรือเป็นเพียงแค่การปรับตัวแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่อยากให้นักลงทุนมองข้ามไป นั้นคือ **ความเสี่ยง**ที่อาจจะเกิดขึ้น โดย ศูนย์วิจัยนครหลวงไทย หรือ SCRI ได้ประเมินว่าปัจจัยความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ที่จะต้องติดตามจำแนกได้ 4 ประการดังนี้
1.มาตรการกระตุ้นศก.ภาครัฐ (Stimulus Packages) ของรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกจะชะลอลง โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีความเสี่ยงสำคัญประการหนึ่ง คือ ไม่สามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐได้ตลอดไป เนื่องจากปัญหาหนี้สินสาธารณะหรือหนี้สินภาครัฐ (Public Debt) โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วกำลังถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศสำคัญไปหลายประเทศ เช่น กรีซ สเปน เป็นต้น และส่งสัญญาณเตือนประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ในอัตราที่สูงกว่า 60% ให้เร่งดำเนินการลดหนี้สินสาธารณะมิฉะนั้นอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเกณฑ์การก่อหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ถือเป็นเพดานการก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ส่งผลลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
หากทางรัฐบาลของประเทศที่มีหนี้สินสาธารณะต่อ GDP อยู่ในอัตราที่สูงกว่า 60% ต่อ GDP ยังคงดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ผลที่ตามมาคือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรจะต้องปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อไปยังตลาดการเงินให้ได้รับผลกระทบผ่านการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยที่สุดแล้วจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ลดลงแต่หากทางภาครัฐไม่ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อและสถาบันการเงินยังคงไม่สามารถกลับมาปล่อยสินเชื่อได้ นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจจะขาดแรงส่งสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสุดท้ายเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวช้าลงหรือชะลอลง
2.การกลับมาสะสมสินค้าคงคลัง (Re-Stocking) ของภาคเอกชนจะสิ้นสุดลง สำหรับการกลับมาสะสมสินค้าคงคลังของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 เกิดมาจากในช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมานั้น ทางภาคเอกชนได้เกิดความกังวลในเรื่องอุปสงค์ในการซื้อสินค้าและบริการที่คาดว่าจะลดลง และด้วยความกังวลดังกล่าว ทำให้ภาคเอกชนจึงมีปฏิกิริยาคล้ายๆกันทั่วโลกคือลดกำลังการผลิต ลดการสต๊อกสินค้าเพื่อตอบสนองต่อการคาดการณ์ว่าอุปสงค์จะลดลง
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกได้รับการอัดฉีดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลต่างๆทั่วโลก ได้ส่งผลให้อุปสงค์ในการซื้อสินค้าและบริการจากเดิมที่คาดว่าจะอ่อนแอนั้นกลับมาฟื้นตัว และภาคเอกชนพบว่าสินค้าในสต๊อกของตนเองกำลังจะหมดไป ทำให้ภาคเอกชนจึงจำเป็นที่จะต้องกลับมาเดินเครื่องจักรและเริ่มกระบวนการผลิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผลคือเศรษฐกิจโลกได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการกลับมาผลิตสินค้าใหม่ การสั่งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายแล้วนำไปสต๊อคเป็นสินค้าในคลังสินค้า ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ตาม การกลับมาฟื้นตัวของสินค้าคงคลังและนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะให้ภาพที่ลวงตาแก่ผู้ติดตามเศรษฐกิจโลกได้เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการสะสมสินค้าคงคลังจะมีลักษณะการขยายตัวอย่างมากทว่าผลของการขยายตัวนี้กลับดำรงเพียงระยะสั้นหรือชั่วคราว เพราะในที่สุดเมื่อระดับการสต๊อกสินค้าหรือการสะสมสินค้าใกล้เคียงกับอุปสงค์ ภาคเอกชนจะลดการผลิตลงและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบให้ชะลอลงโดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจยังไม่สามารถหาแหล่งที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่าการสะสมสินค้าคงคลังได้
3.ปัญหาฟองสบู่ของสินทรัพย์ (Asset Bubbles)
สำหรับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกผ่านมาตรทางการเงิน เช่น การกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้เคียง 0% (Zero Interest Rate Policy : ZIRP) และการใช้มาตรการทางการเงินที่เรียกว่าการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing : QE) โดยการที่ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล
โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาพิมพ์ธนบัตรผ่านโครงการ QE ประมาณ 1.73 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12% ของ GDP สหรัฐ เข้าไปในระบบการเงินส่งผลทำให้เกิดภาวะสภาพคล่องล้นระบบเมื่อผนวกกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ต่ำใกล้เคียง 0% ผลคือผู้จัดการกองทุน นักลงทุนและนักเก็งกำไรต่างพากันกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีต้นทุนการเงินที่ต่ำไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญ คือ กู้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ซึ่งโดยมากมักจะเป็นประเทศเกิดใหม่ ภาวะดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า “Dollar Carry Trade” และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์และราคาสินทรัพย์ทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก
4.อัตราการว่างงานในระดับสูง (Unemployment)
แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างแท้จริงและต่อเนื่องแต่อัตราการว่างงานนั้นจะไม่ลดระดับลงในทันทีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะอัตราการว่างงานนี้จะเปลี่ยนแปลงตามหลังการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจนั่นเอง ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าในช่วงวิกฤตินั้น ภาคธุรกิจจะปลดแรงานส่วนเกินที่ไม่จำเป็นอย่างแท้จริงต่อการผลิต แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ระดับการจ้างงานยังคงไม่ปรับขึ้นตาม
โดยที่ตัวเลขล่าสุดของอัตราว่างงานประเทศสำคัญโดยเฉพาะกลุ่ม G-3 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญของโลกได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นยังอยู่ในอัตราที่สูงโดยสหรัฐอเมริกา ณ เดือน ธ.ค. 2552 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ 10% สหภาพยุโรป ณ พ.ย. 2552 อยู่ที่ 9.5% ในจำนวนนี้ สเปนเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 19.4% ในขณะที่ญี่ปุ่นของเดือน พ.ย. 2552 อยู่ที่ 5.2%
อัตราการว่างงานในระดับสูงของกลุ่ม G-3 ไม่เพียงแต่กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ G-3 หากแต่ส่งผลไปยังการนำเข้าของ G-3 หรืออีกด้านหนึ่งคือการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมากให้ไม่สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงได้ ซึ่งถ้าภาวะอัตราการว่างงานของกลุ่มประเทศ G-3 ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี นั่นหมายความว่า การส่งออกไม่อาจจะขยายตัวอย่างยั่งยืนได้เพราะการบริโภคใน G-3 ได้รับแรงกดดันจากปัญหาการว่างงาน