xs
xsm
sm
md
lg

กอง BRIC กำไร 92% จบ 11 เดือนหุ้นเอเชียพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อินไซด์ผลงานกองทุนรวมรอบ 11 เดือน พบ "กองทุนเปิดกรุงศรี-อลิอันซ์ จีไอ บริค สตาร์" ค่ายเอวายเอฟ โดดเด่สุด ผลตอบแทนพุ่งกว่า 92% หลังได้อานิสงส์หุ้นยักษ์ 4 ประเทศเกิดใหม่ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ กูรูมองโอกาสยังมี ลุ้นเอเชียวิ่งต่อ โดยมี "จีน-เกาหลีใต้" เป็นตัวนำ ด้านกองทุนหุ้นไทย ผลงานยังนิ่งตามตลาด เหตุการเมืองในประเทศกดดัน แต่จบ 11 เดือน ผลตอบแทนยังสวย สูงสุดเกือบ 70%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยกลุ่มประเทศที่มีการฟื้นตัวชัดเจนที่สุด คือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียและยุโรป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จนทำให้สามารถผ่านจุดต่ำสุดมาได้ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว สะท้อนออกมาถึงการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น กองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ที่ออกไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ จึงมีผลการดำเนินงานค่อนข้างดี ทั้งนี้ จากการสำรวจผลตอบแทนในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา (สิ้นสุด 30 พฤศจิกายน 2552) พบว่า กองทุนต่างประเทศสามารถให้ผลตอบแทนได้สูงสุดถึง 92.16%

โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดังกล่าว คือ กองทุนเปิดกรุงศรี-อลิอันซ์ จีไอ บริค สตาร์ ภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ) ซึ่งกองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ 4 ประเทศ ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ทั้งนี้ สาเหตุที่กองทุนมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างโดดเด่น

นอกจากนี้ ยังพบว่ากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ต่างให้ผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน โดยกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล โบนัส แชนส ของบลจ.เอ็มเอฟซี มาเป็นอันดับ 2 ด้วยผลตอบแทน 76.40% ตามด้วยอันดับ 3 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์เอเชียนอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ตฟันด์ ของบลจ.ไทยพาณิชย์ 76.17% อันดับ 4 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเวสท์ เอเชี่ยน อิควิตี้ ฟันด์ ของบลจ.เอ็มเอฟซีอีกหนึ่งกองทุน ด้วยผลตอบแทน 69.35% และกองทุนเปิดแมนูไลฟ์สเตร็งค์อิเมอร์จิ้งอีสเทอร์นยุโรปเอฟไอเอฟ ของบลจ. แมนูไลฟ์ มาเป็นอันดับ 5 ด้วยผลตอบแทน 68.19%

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า มีการวิเคราะห์กันว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะแข็งแกร่งกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น เนื่องจาก ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีขีดความสามารถในการเติบโตอยู่ในระดับสูง จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น และฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน และเกาหลีใต้ ที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ซึ่งจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ประเทศในกลุ่มเอเชียมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้เร็วในปีหน้า

โดยในปีนี้ดัชนี MSCI AC Asia Pacific ex Japan ได้ปรับเพิ่มขึ้น 61.35% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้น 17.07% และดัชนีโลก MSCI All Country World ปรับเพิ่มขึ้น 24.98% เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และเป็นกำลังสำคัญของในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าพื้นฐานของหุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI AC Asia Pacific ex Japan ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงในการลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนชั้นนำขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า ในปี 2553 บริษัทจดทะเบียนในเอเชียแปซิฟิกจะมีระดับกำไรต่อหุ้น (EPS) ประมาณ 26% และมีอัตราการเติบโตของกำไร ประมาณ 21 % ส่งผลให้หุ้นเอเชียจึงมีความน่าสนใจลงทุนไม่น้อย

โดย บลจ.แอสเซทพลัสเอง ก็อยู่ระหว่างการเสนอขายกองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอเชียรีคัฟเวอรี่ 10/8 (ASP-ASIA10/8) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม นี้ โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนใน Lyxor ETF MSCI AC Asia Pacific ex Japan ซึ่งเป็นกองทุนรวม ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งมีนโยบายเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำและขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเชีย มาเลเชีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย โดยผสมลักษณะของหุ้นระหว่างหุ้นที่มีการเติบโตสูง (High Growth) เช่น เกาหลีใต้ และจีน และหุ้นที่สามารถต้านทานภาวะความผันผวนของตลาดได้สูง (Defensive) เช่น ออสเตรเลีย

หุ้นไทยผันผวนฉุดยิลด์กองทุนนิ่งตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยว่า ในช่วงไตรสามสุดท้ายของปี บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ค่อนข้างผันผวน โดยมีปัจจัยลบทั้งจากต่างประเทศ และปัญหาการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ค่อนข้างนิ่ง โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (30 พ.ย.) ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 53.14%

ในขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบสูงสุด ยังคงเป็น กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แวลูพลัส ปันผล หุ้นระยะยาว กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ภายใต้การบริหารของบลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ด้วยผลตอบแทน 69.23% สูงกว่าผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์อยู่ประมาณ 16.09% อันดับ 2 กองทุนเปิดทิสโก้ ทวีทุน ของบลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 67.06% อันดับ 3 กองทุนเปิด ทิสโก้ หุ้นระยะยาวปันผล ซึ่งเป็นกองทุนแอลทีเอฟของบลจ.ทิสโก้ ซึ่งให้ผลตอบแทนในรอบ 11 เดือนอยู่ที่ 66.93% ส่วนอันดับ 4 และอันดับ 5 เป็นกองทุนของบลจ.ทิสโก้อีกเช่นกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ 66.69% ทั้ง 2 กองทุน นั่นคือ กองทุนเปิดทีซีเอ็ม หุ้นทุน และกองทุนเปิดทิสโก้หุ้นทุนปันผล
กำลังโหลดความคิดเห็น