xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีวันสิ้นโลก การรื้อถอนมายาภาพ (1)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ช่วงเวลาวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มักจะถือเป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับผู้คนที่ออกไปเที่ยวสนุกสนานกัน สำหรับผมโดยส่วนตัวชอบไปเที่ยวชมธรรมชาติ และแอบใช้ช่วงเวลาสั้นๆ นี้นั่งสมาธิอยู่เงียบๆ หวนคิดเรื่องราวเก่าๆ ที่ผ่านมา

ปีนี้ ผมได้คิดย้อนไปถึงช่วงเวลาในอดีต เวลาที่ผมได้เปลี่ยนผ่านทางความคิดและความเชื่อของตัวเอง

โชคดีมากที่ผมมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกจากกลุ่มนักคิดที่เรียกตัวเองว่า “แนวคิดระบบโลก” ซึ่งมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ผมเปลี่ยนฐานคิดของตัวเองหลายๆ เรื่อง

ฐานคิดสำคัญคือการติดยึดในความเชื่อว่า ทฤษฎีต่างๆ ล้วนมีความจริงแท้แน่นอน ในยุคก่อนนั้น คนที่เรียนทางวิทยาศาสตร์และคนที่เรียนทางสังคมศาสตร์ไม่มากก็น้อยจะเชื่อว่า ทฤษฎีทั้งหลายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาและได้มีการทดลองพิสูจน์จนเห็นชัดว่า ‘จริง’ มีความเป็น “ศาสตร์” (หรือเป็นกฎที่ถูกต้องซึ่งสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้)

เราจึงไม่เคยคิดว่าคำว่า ศาสตร์ (หรือสิ่งที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์) ล้วนมีความจำกัดด้วยกันได้ทั้งนั้น

ในทางสังคมศาสตร์ ทฤษฎีทางสังคมส่วนใหญ่ก็จะอ้างความเป็นศาสตร์ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ถ้าใครเป็นฝ่ายซ้ายก็จะเชื่อแบบสุดๆ ว่า ลัทธิมาร์กซ์เป็นวิทยาศาสตร์ หรือ ทฤษฎีที่สามารถค้นพบกฎแห่งการวิวัฒนาการทางสังคม ซึ่งมีขั้นมีตอนในการพัฒนาเป็นขั้นๆ ที่แน่นอน จากระบบสังคมแบบทาสสู่ศักดินา จากศักดินาสู่ทุนนิยม และจากทุนนิยมสู่สังคมนิยม และจากสังคมนิยมสู่สังคมคอมมิวนิสต์ โดยมีพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์คือ ‘การปฏิวัติพลังการผลิต’ ที่จะก้าวหน้าขึ้นไปเป็นขั้นๆ และในช่วงการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ จะเกิดการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนถึงปัจจุบัน เพื่อนๆ ผมหลายคนก็ยังคงคิดเช่นนี้ อย่างเช่น เพื่อนสีแดงมักจะเชื่อว่า ต้องโค่นล้มศักดินา เพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ทุนนิยม เนื่องจากชนชั้นศักดินาไทยเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาสู่ทุนนิยม ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นประเทศทุนนิยมไปนานแล้วก็ตาม

แนวคิดระบบโลกแม้ว่าจะมีรากและมีอิทธิพลแนวคิดมาจากสายทฤษฎีทางสังคมนิยมและลัทธิมาร์กซ์ แต่น่าจะถือว่าเป็น ‘พวกลัทธิแก้’ เพราะเป็นแนวคิดที่มาจากสายสังคมนิยมฝรั่งเศส (สายประวัติศาสตร์) ฐานคิดจึงแตกต่างจากนักทฤษฎีสังคมนิยมเก่าๆ อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวระบบโลกได้โยนคำว่า ‘ทฤษฎี’ ทิ้ง พวกเขาหันมาเชื่อว่า ที่แท้แล้ว ‘ทฤษฎีต่างๆ’ ก็คือส่วนประกอบอันหนึ่งของความจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หรือ ประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงก็คือความเป็นทั้งหมดของสายธารความรู้และเป็นที่มาของบรรดาทฤษฎีต่างๆ

หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งได้ว่า เราสร้าง “ทฤษฎี” ขึ้นมาจากการศึกษาเรื่องราวที่เป็นจริงในทางประวัติศาสตร์ และที่สุดแล้วก็ใช้ทฤษฎีดังกล่าวหันกลับไปสร้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาชุดหนึ่ง

เรา “สร้างประวัติศาสตร์” ได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นกับว่า ทฤษฎี และ ประวัติศาสตร์ที่เราค้นพบและเขียนขึ้นนั้น สามารถอธิบายความเป็นจริงได้แค่ไหน

การเรียนรู้เพื่อ สร้างทฤษฎี และ สร้างประวัติศาสตร์ จึงเหมือนกับการเคลื่อนไปเคลื่อนมาระหว่าง โลกแห่งความจริง และ โลกทางทฤษฎี ผลที่ตามมาและหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การปรับเปลี่ยนทฤษฎี (หรือการสร้างทฤษฎีขึ้นใหม่) แทนที่ทฤษฎีเก่าเพื่อเพิ่มหรือขยายความสามารถอธิบายโลกที่เป็นจริงได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ชาวระบบโลกจึงเชื่อว่า ‘ทฤษฎี’ คือสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่มี ‘ทฤษฎี’ ที่ใด ที่ดำรงอยู่ได้ในฐานะที่เป็นสูตรสำเร็จรูปแบบตายตัว

เราอาจจะค้นพบกฎการเคลื่อนตัวของประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่ง ในเวลาหนึ่ง แต่เราอาจจะพบกฎที่แตกต่างออกไปในพื้นที่อื่นๆ ในช่วงเวลาที่ต่างออกไปก็ได้

กล่าวได้ว่า แต่ละพื้นที่ แต่ละเวลา และแต่ละเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องมีกฎของการเคลื่อนตัวทางประวัติศาสตร์ที่เหมือนกัน แต่อาจจะดูคล้ายๆ กันบ้างก็ได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราต้องตระหนักชัดว่า ‘ทฤษฎี’ (ไม่ว่าจะดีแค่ไหน) ก็ไม่ใช่มีค่าเท่ากับความจริง เพราะ ‘ความจริง’ ถึงอย่างไรก็สลับซับซ้อนกว่า หรือยุ่งเหยิงกว่า หรือกล่าวได้ว่าความจริงละเอียดอ่อนกว่าโลกทางทฤษฎี

ชาวระบบโลกจึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักทฤษฎี’ เพียงแต่ขอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักประวัติศาสตร์ (โลก)’ เท่านั้น แต่พวกเราจะเป็นนักประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ทั่วไปตรงที่ไม่ได้ใช้กรอบของประเทศหรือเรื่องราวของชนชาติหนึ่งชาติใดในการศึกษาประวัติศาสตร์โลก

ผมนั่งย้อนคิดถึงเรื่องนี้ เพราะช่วงปีที่ผ่านมาผมเองต้องถกกับบรรดาเพื่อนเก่าๆ จำนวนหนึ่งที่ติดหลงอยู่กับความเชื่อเรื่อง ความสมบูรณ์สูงสุดของทฤษฎี คิดว่า ‘ทฤษฎี’ คือความจริงแท้แน่นอน เป็นกฎที่ตายตัวที่กำหนดเหนือเส้นทางประวัติศาสตร์

วันหนึ่งเจอเพื่อนเก่าสีแดงค่อนข้างจัดคนหนึ่งในวงสนทนาแห่งหนึ่ง ผมกำลังกล่าวถึงความจำกัดทางทฤษฎี

ในวงสัมมนา ผมกล่าวขึ้นว่า

“ถ้าเรายึดติดคิดว่า ทฤษฎี คือความถูกต้องสมบูรณ์ ทฤษฎีในตัวเองจะกลายเป็นมายาภาพแบบหนึ่ง”

ท่านกลับแย้งผมว่า

“ทฤษฎีเรื่องความขัดแย้งแบบไดอะเล็กติกน่าจะเป็นกฎประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และการต่อสู้ทางชนชั้นคือพลังที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์”

ผมตอบว่า

“นี่ก็คือความเชื่อทางปรัชญาสายหนึ่งหรือทฤษฎีชุดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้อง ถูกต้อง เสมอไป”

หลักไดอะเล็กติก คือความเชื่อในเชิงการเคลื่อนตัวแบบวิวัฒน์ไปข้างหน้า แบบขดลวดที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ หลักนี้อธิบายการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ดี แต่ก็จะมีความสามารถที่ ‘จำกัด’ ถ้าหากว่าระบบโลกเคลื่อนตัวสู่ช่วงหดตัวและหายนะใหญ่ เช่น ถ้าเกิดหายนะขนาดใหญ่ทางธรรมชาติในอนาคตขึ้นจริง

กฎการต่อสู้ทางชนชั้น ก็มีความจำกัดเช่นกัน ถ้ามองย้อนประวัติศาสตร์โลก เราจะพบเรื่องราวการลุกขึ้นสู้ของบรรดาทาสในสมัยโรมัน แต่ถ้าศึกษาลึกลงไปเราจะพบว่าบรรดาทาสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ไม่สามารถโค่นล้มอาณาจักรโรมันลงไปได้ พลังที่โค่นล้มอาณาจักรโรมันกลับกลายเป็นบรรดาชนเผ่าที่ป่าเถื่อนจากยุโรปและจากเอเซีย

หรือกล่าวว่า การต่อสู้ทางชนชั้นมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์บ้าง แต่พลังที่มีบทบาทมาก อาจจะไม่ใช่สงครามทางชนชั้น แต่อาจจะเป็นสงครามทางชนชาติและการแผ่ไปของศาสนาต่างๆ

นอกจากนี้ เราพบว่าอาณาจักรโบราณหลายแห่งพังพินาศลงไปเนื่องจากเกิดวิกฤตใหญ่ทางธรรมชาติ อย่างเช่น กรณีอาณาจักรอินคา และ อาณาจักรขอม

ในวงสนทนานี้ ผมก็เจอคำถามคล้ายๆ กันจากเพื่อนสีเหลืองคนหนึ่ง

ท่านถามผมว่า “ทฤษฎีที่ว่า พวกเจ้าศักดินารวมทั้งอำมาตย์จะถูกโค่นล้มด้วยพลังชาวนาหรือคนยากจน จะเป็นจริงหรือไม่”

ผมก็ตอบแบบปลอบใจว่า

“ถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์ในยุคที่เรียกว่า ยุคศักดินาของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาถึงยุครัตนโกสินทร์ เราก็ยังไม่พบว่ามีประวัติศาสตร์ที่พลังชาวนาหรือไพร่ลุกขึ้นสู้และสามารถโค่นล้มระบบศักดินาของไทยลงไปได้ แต่กลับปรากฏว่า ระบบศักดินาไทยสมัยอยุธยาถูกโค่นล้มโดยระบอบศักดินาพม่า

ในกรณีของจีน พลังชาวนาจีนมักจะลุกขึ้นสู้โค่นล้มเจ้าศักดินาจากต่างถิ่นที่เข้ามายึดครองประเทศจีน อย่างเช่น การโค่นล้มเจ้าศักดินามองโกล แต่ชาวนาจีนมักจะยกย่องบูชาเจ้าศักดินาฮั่นและเจ้าศักดินาถัง และถือว่าเป็น จ้าวศักดินาที่ดี

ผมกล่าวกับเพื่อนต่อว่า

“ทฤษฎี ก็คือ ทฤษฎี อาจจะถูกหรืออาจจะใช้ได้ และใช้ไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน ขึ้นกับเงื่อนไขที่เป็นจริง ซึ่งจะสลับซับซ้อนกว่าหลักการทางทฤษฎี

เราอาจจะพบเรื่องราวการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์แบบของฝรั่งเศส แต่เรื่องการปฏิวัติแบบฝรั่งเศสอาจจะไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ อย่างเช่นที่ประเทศอังกฤษ หรือไม่เคยเกิดขึ้นได้เลยในกรณีของรัฐศักดินาทิเบตและภูฏาน”

เพื่อนถามต่อว่า

“แล้วแดงทั้งแผ่นดินจะเกิดขึ้นได้หรือไม่”

ผมตอบว่า

“ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเป้าหมายโค่นล้มคือ มหาอำมาตย์ชื่อว่า เปรม ซึ่งถูกประณามว่ามหาเลวหรือชั่วสุด มีการปล่อยข่าวว่าท่านคิดจะเป็นกษัตริย์เสียเอง และปล่อยข่าวอีกว่าท่านเป็นชู้กับใครบางคนที่ผมเอ่ยชื่อไม่ได้”

ถ้าท่าน ‘เลว’ อย่างนั้น ‘จริง’ ท่านน่าจะถูกโค่นล้มได้ และจะเกิดแดงทั้งแผ่นดิน

แต่แน่หรือว่า “คุณเปรมคือ คนมหาเลว”

นี่ก็คือความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นว่า เป็นความจริงแท้ “แน่นอน”

ทั้งหมดอาจจะเป็นเพียง ‘มายาภาพ’ ที่ถูกสร้างและถูกขยายให้เป็นจริง ด้วยการใช้เครื่องมือทางสื่อทั้งในระบบและนอกระบบ

ทฤษฎีว่าด้วยการโค่นล้มอำมาตย์ชั่วร้าย นี้เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศจีนโบราณ ทฤษฎีนี้เสนอว่าขุนนางจีนจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ‘ตงฉิน’ อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ‘กังฉิน’

ประวัติศาสตร์จีนจะมีบางช่วงที่พวกขุนนางกังฉินครองเมือง อาจจะเนื่องจากกษัตริย์อ่อนแอหรือยังเยาว์วัย ขุนนางกังฉินเหล่านี้ก็จะใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงรีดนาทาเร้นประชาชนจนผู้คนเดือดร้อนไปทั่วแผ่นดิน

บรรดาผู้รักชาติและชาวนาจึงลุกขึ้นสู้เพื่อโค่นขุนนางชั่วร้ายลงไป จึงเกิดเรื่องราวสงครามชาวนา อย่างเช่นเรื่อง ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน (หรือซ้องกัง)

แนวคิดเรื่อง ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ จะเกิดขึ้นได้จริง คุณเปรม คุณสุรยุทธ์ คุณอภิสิทธิ์ต้องเป็นขุนนางกังฉิน ปล้นชาติ และกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างหนัก

ผมเองคิดว่า ถ้าเอาเรื่อง กังฉิน หรือ ตงฉิน มาเป็นมาตรฐานวัดกันแล้ว คุณเปรมน่าจะตงฉินมากกว่าบรรดาอำมาตย์อื่นๆ รวมทั้งคุณทักษิณ

แต่ต้องระวังเช่นกัน ยุคนี้คือยุคแห่งการสื่อสารที่มีพลังอำนาจสูงมากในการสร้างมายาภาพ

‘ความจริง’ คือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นได้จากความไม่จริง โดยการเสริมแต่งจากความจริงเล็กๆให้ดูใหญ่โตขึ้น ด้วยการปล่อยข่าวทุกวัน หรือพูดให้คนฟังทุกวัน ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

ความไม่จริง (หรือมายาคติ) ก็สามารถแปรเป็นความจริงแท้แน่นอนได้


ความจริงปลอมนี้สามารถหยั่งรากฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกของผู้คนจำนวนหนึ่งได้จนเชื่อแบบฝังใจว่า “ทั้งหมดที่ได้ยินและได้ฟังมา คือ ความจริงแท้แน่นอน”

เมื่อเชื่อว่า “จริงแท้แน่นอน” ผู้คนที่หลงอยู่ในโลกของข่าวก็จะถูกทำให้เป็น ‘เครื่องมือที่มีชีวิต’ ที่แยกโลกแบบซ้ายหรือขวา... โลกที่เลวสุดๆ กับ โลกที่ดีสุดๆ ได้

เมื่อกลายเป็นคนมีจิตสำนึกแบบสุดขั้ว ความสุดขั้วนี้จะฝังรากใน “ใจ” ก็จะหลงเชื่อแบบสุดๆ และคิดแต่จะทำลายสิ่งที่เรียกว่า “ชั่ว”

การฟังหรือดูข่าวด้านเดียวทุกวันจึงไม่ต่างนักจากผู้คนที่ถูกสะกดจิตต่อเนื่องทุกวัน ด้วยความเชื่อว่า “เลว เลว... เลว และเกลียด เกลียด... เกลียด”

ไม่เพียงแต่ผู้ฟังเท่านั้นที่ถูกสะกดจิต แม้แต่คนที่ขึ้นเวทีหรือบรรดาผู้นำก็พลอยช่วยกันสะกดจิตตัวเองไปด้วย

สงครามสื่อแบบทำลายล้างกันนี้จะก่อผลที่ตามมาคือ ปรากฏการณ์การแยกค่าย แยกฝ่าย แยกสี และจะตามด้วยสงครามกลางเมือง

เมื่อฝ่ายหนึ่งคิด “ฆ่า” อีกฝ่ายหนึ่งราวกับว่าอีกฝ่ายหนึ่งมิใช่คน

อีกฝ่ายหนึ่งก็คิด “ฆ่า” อีกฝ่ายหนึ่งในทำนองเดียวกัน

หน้าที่ของนักวิชาการในยุคนี้สำคัญมาก นอกจากจะทำหน้าที่วิเคราะห์เรื่องราวต่างๆแล้ว ยังจำเป็นต้องมีหน้าที่รื้อถอน ‘มายาภาพ’ จาก “ใจ” ของประชาชน

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากปัจจุบันมีขบวนสื่อสารแบบแยกค่ายก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบ มีเครือข่ายกว้างขวาง มีหน้าที่เฉพาะในการผลิตซ้ำความเกลียด ที่คอยเพิ่มระดับและเพิ่มปริมาณความเกลียดชังให้มากขึ้นทุกๆวัน

คนไทยจำนวนหนึ่งจึงเริ่มหลงเชื่อว่า ‘มีบรรดามหาอำมาตย์สุดชั่วร้ายสุดๆ ครองเมือง คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่กดขี่ประชาชนเท่านั้นยังทำลายประชาธิปไตยด้วย’

ดังนั้น ประชาชนต้องทำสงครามประชาชน ‘ฆ่า’ มหาอำมาตย์ชั่วร้ายทิ้งเสีย แล้วประเทศชาติจะรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ คุณทักษิณสุดที่รักจะได้กลับเข้าประเทศไทย และประเทศจะเป็นประชาธิปไตย

ไม่มีใครตั้งคำถามว่า “สมมติว่าบรรดาอำมาตย์ชั่ว ‘ถูกฆ่า’ หมดแล้ว ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปจริงหรือ” หรือถามว่า “เราจะได้พบกับประชาธิปไตยแบบไหน”

ผมกลับคิดว่าที่เราจะได้แน่ๆ คือ ประชาธิปไตยแบบโกงกิน ซื้อเสียง ปล้นชาติ เช่นเดิมอีก

บางคนก็เชื่อว่า ถ้าทักษิณกลับมาประเทศจะรุ่งเรือง

ผมก็คิดว่า จริง หรือ ไม่จริง ก็ได้ เพราะผมเชื่อว่าถ้าทักษิณกลับมาประเทศจะปั่นป่วนวุ่นวายหนักยิ่งขึ้น เพราะคุณทักษิณมีทั้งกลุ่มคนที่ชอบเขา...มากๆ และเกลียดเขา...มากๆ พอๆ กัน

สงครามสื่อจะเปิดฉากกระหน่ำกันอย่างหนักมากยิ่งขึ้น ระหว่างสื่อสีแดง สีเหลือง และสื่อสีน้ำเงิน ดังนั้นสงครามกลางเมืองจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากมากระหว่างพลังผู้คนที่คิดต่างกันโดยสิ้นเชิง

วันนี้ ผู้คนจำนวนหนึ่งจะหลงติด ชอบฟัง ชอบอ่านบรรดาสื่อเหล่านี้ทุกวัน ถ้าไม่ระวังจะหลงอยู่ในโลกแห่งความเกลียดชังอย่างสุดขั้ว จนในที่สุดกลายเป็นจักรกลหรือเครื่องมือแห่งการฆ่าและทำสงคราม

โลกในยุคนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น “โลกที่ยุคมายาครองเมือง” จะรื้อภาพมายาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

งานชิ้นนี้ผมจึงเขียนขึ้นเพื่อเสนอเรื่องอิทธิพลของมายาภาพต่างๆ ที่เคยมีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนในสังคมไทยและการรื้อมายาภาพดังกล่าวลงไป

การเข้าใจเรื่อง “มายาภาพ” และ “ความจริง” จึงเป็นเรื่องยาก แต่ที่สำคัญมายาภาพได้เกิดเป็น ‘มายา’ ที่มีพลัง ก็เนื่องจากผู้คนไปติดยึดว่า แนวคิดหรือความเชื่อเดิมๆ ที่ยึดถืออยู่คือ ‘วิทยาศาสตร์ที่จริงแท้แน่นอน’ (ยังมีต่อ)

กำลังโหลดความคิดเห็น