xs
xsm
sm
md
lg

‘การปล่อยปละเชิงระบบ’ โจทย์อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเยาวชน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

จากจำนวนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว 4,143,210 ฉบับ ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์หนึ่งปี 1,996,686 ฉบับ ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ 5,467,375 ฉบับ และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ตลอดชีพ 6,005,393 ฉบับ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2552 นั้นดูเสมือนจะสอดคล้องกับปริมาณรถจักรยานยนต์ทั้งสิ้นในประเทศ 16,549,307 คัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552

หากทว่าแท้จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย ด้วยรถจักรยานยนต์นับล้านคันตกอยู่ในความครอบครองของเด็กที่วัยไม่ถึงเกณฑ์ทำใบอนุญาตขับขี่ เพราะข้อเท็จจริงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้วัดว่าใครจะได้ขี่รถจักรยานยนต์หรือไม่นั้นขอแค่ขาถึงหรือเกือบถึงพื้นถนนก็พอเพียงแล้ว นอกเหนือนั้นก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจครอบครัว การรวมเพื่อนฝูงกลุ่มก้อน ตลอดจนสถานศึกษาที่ล้วนแล้วแต่เอื้ออำนวยเป็นใจให้เด็กกระทำผิดกฎหมายภายใต้ข้ออ้างว่าแค่ไปตลาดซื้อของ ขับเที่ยวแถวบ้าน หรือสะดวกไปโรงเรียน

ความเคยคุ้นเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นรูปธรรมเลวร้ายชัดเจนในห้วงเทศกาลปีใหม่ที่กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถูกดำเนินคดีกรณีไม่มีใบขับขี่ถึง 149,024 ราย หรือร้อยละ 33 ขณะไม่สวมหมวกนิรภัย 137,238 ราย หรือร้อยละ 30 และถ้าเจาะลึกตามข้อมูลสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์นเรนทร) จะพบว่าร้อยละ 53 ของผู้เสียชีวิตที่ขี่รถจักรยานยนต์สัมพันธ์กับการดื่มสุรา และร้อยละ 82 ยังไม่สวมหมวกนิรภัย โดย 2 ใน 3 ที่ประสบอุบัติเหตุจะเสียชีวิตทันทีที่เกิดเหตุ ไม่ก็พิการตามมา

การสั่งสมสืบทอดพฤติกรรมทำลายสมองดื่มแล้วขับ และละเลยไร้อุปกรณ์ป้องกันศีรษะบาดเจ็บห้วงปีใหม่คร่าชีวิตเยาวชนไทยอายุ 16-20 ปีถึงร้อยละ 18.6 และที่สำคัญร้อยละ 6.6 ของผู้เสียชีวิตที่ขี่รถจักรยานยนต์อายุน้อยกว่า 15 ปี ทั้งๆ ที่กลุ่มนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้ขับขี่ ขณะถ้ารวมทั้งกลุ่มบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ใช้รถจักรยานยนต์จะพบว่าร้อยละ 38.6 อายุต่ำกว่า 20 ปี

อันที่จริง ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้นที่เด็กและเยาวชนเป็นทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการขี่รถจักรยานยนต์ เนื่องเพราะการขาดทักษะการขับรถ ประสบการณ์การตัดสินใจเฉพาะหน้า และความรับผิดชอบต่อกฎจราจรสร้างความเศร้าโศกสู่สังคมไทยและสูญเสียสู่ครอบครัวเสมอมา

ขนาดหลักปฏิบัติง่ายๆ เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยของตนเองดังการสวมหมวกนิรภัยที่บังคับใช้เป็นกฎหมายครอบคลุมทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2539 ก็ยังถูกปัดปฏิเสธ ทั้งๆ ป้องกันการเสียชีวิตหรือพิการได้สะดวกแค่สวมใส่ ทั้งยังไม่ต้องคอยหลบตำรวจเลี่ยงเสียค่าปรับ 500 บาทด้วย

ด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่อินังขังขอบในความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและคนอื่นภายใต้โครงสร้างสังคมไทยที่ขาดแคลนวัฒนธรรมความปลอดภัยทางท้องถนน ก็ทำให้ข้อวิเคราะห์ของ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่ว่าสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มาจากสังคมไทยไม่เคยส่งเสริมทางเลือกอื่นแก่เยาวชน เช่น รถจักรยาน รถนักเรียน หรือรถโดยสารสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ไม่เตรียมพร้อมด้านการขับขี่ของเยาวชน นับแต่กระบวนการสอบใบอนุญาตขับขี่ที่มีคุณภาพ จนถึงการเรียนรู้ทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัย จนเกือบทั้งหมดของผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตช่วงเจ็ดวันระวังอันตรายปีนี้ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย เป็นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี การขจัดปรากฏการณ์กำลังสำคัญของชาติที่จากไปก่อนวัยอันควรจำต้องทบทวนโจทย์อุบัติเหตุจราจรเสียใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างความปลอดภัยเพื่อคลายรากเหง้าปมปัญหา เพราะการตั้งโจทย์หรือคำถามถูกต้องย่อมสำคัญกว่าคำตอบที่ได้รับจากถ้อยคำถามผิดๆ มิเช่นนั้นก็จะวนเวียนแก้ปัญหากระพี้ปลีกย่อย โดยไม่ได้แตะต้องแก่นแกนโครงสร้างหรือระบบดั่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน

การตั้งโจทย์ถูกต้องจึงเริ่มต้นทุกสิ่ง เพราะทำให้รู้ว่าขณะนี้ต้องทำอะไรก่อนหลังตามลำดับความสำคัญ ก่อนพิจารณาหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไปโดยใช้กระบวนการใคร่ครวญขบคิด รวมถึงฝึกฝนความคิดคลี่คลายปัญหาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ออกแบบหมวกนิรภัยคุณภาพสูงลดการกระแทกของศีรษะหลังประสบอุบัติเหตุ ออกแบบรถจักรยานยนต์ไม่เน้นเร็วแรง บังคับใช้กฎหมายจราจรเคร่งครัด จนถึงปลูกฝังจิตสำนึกความปลอดภัยในเยาวชนป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น

จุดสำคัญในการตั้งโจทย์เพื่อป้องกันความผิดพลาดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์โดยเยาวชนที่เกิดซ้ำซากจึงอยู่ที่การเรียนรู้ประเทศอื่นๆ ที่กำลังแก้ไขโจทย์คล้ายคลึงกับเรา ก่อนประยุกต์แนวทางเหล่านั้นมากำหนดมาตรการป้องกันหรือรับมือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในไทยโดยอิงอาศัยจินตนาการบนฐานข้อมูลและเงื่อนไขข้อจำกัดทั้งด้านกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม มาคิดแก้โจทย์ที่เคยตีไม่แตกนี้

การฝึกฝนจินตนาการมีค่าต่อการเรียนรู้ความผิดพลาดเพราะทำให้เห็นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด พร้อมๆ กับเผยแนวทางพิชิตวิกฤตด้วยการคิดค้นจนค้นพบทางเลือกที่ต่างออกไป ดังกรณีเยาวชนสวมหมวกนิรภัยแบบครึ่งใบหรือใส่หมวกคล้ายหมวกนิรภัยแต่ไม่มีประสิทธิภาพลดการกระแทกศีรษะเพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรจะแก้ไขด้วยการกวาดล้างผู้ผลิตและจำหน่ายหมวกนิรภัยด้อยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือแค่ตั้งด่านตรวจจับว่าสวมหมวกนิรภัยก็พอ

ทั้งนี้ ถ้าไม่เคยฝึกฝนจินตนาการมาก่อนก็คงแก้ปัญหาแบบเดิมๆ คือ บังคับใช้กฎหมายจับปรับตรงด่านตรวจเท่านั้น ไม่มีการแจกหมวกนิรภัยทุกรายหลังการจับปรับและตักเตือนเหมือนตำรวจโคราชตามโครงการปันน้ำใจในสังคม ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100% ในช่วงรณรงค์ปีใหม่

จินตนาการผนวกการไม่ละเลยในสิ่งที่ควรจะต้องทำ จะทำให้ท้ายสุดลดอุบัติเหตุได้ ด้วยสามารถแก้ไขอุปกรณ์และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ไปพร้อมๆ กับให้ความรู้วินัยจราจรแก่เยาวชน

หากแต่ด้วยข้อเท็จจริง เอ่ยถ้อยคำผิดหวังยังน้อยไปสำหรับประเทศไทย เพราะมิเพียงอับจนไร้สิ้นจินตนาการ ทว่าที่ผ่านมายังสืบสาน ‘การปล่อยปละเชิงระบบ’ จนลุกลามกัดกร่อนสังคมไทยไปทุกอณูเนื้อ นับแต่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายไม่เคร่งครัดและเลือกปฏิบัติยิ่งกว่าสองมาตรฐาน ทำนองขอกันได้ถ้าใหญ่หรือให้ใต้โต๊ะ พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นแก่ความสะดวกสบายอนุญาตให้ลูกขี่รถจักรยานยนต์ได้แม้วัยไม่ถึงทำบัตรประชาชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาไม่อนาทรสอนวินัยจราจรแก่นักเรียนนักศึกษาเมื่อถึงวัยนำรถจักรยานยนต์มาได้ ในขณะเดียวกันการสอบใบขับขี่ของเยาวชนหน้าใหม่ก็ใช้เวลาอบรมและสอบทฤษฎีน้อยกว่าน้อย โดยทางปฏิบัติก็ขอแค่ทรงตัวตอนขับขี่ได้ก็เพียงพอ

เช่นนี้การปฏิบัติตามกฎจราจร ทั้งสวมหมวกนิรภัย ไม่ซ้อนสาม ไม่ขี่ย้อนศร ในเยาวชนไทยจึงไม่เกิดขึ้นจริง ยิ่งความรับผิดชอบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นอย่างตั้งแก๊งซิ่งตามถนนหลวง หรือชนแล้วหนี ยิ่งไม่มี ดีไม่ดีจะถูกประทุษร้ายร่างกายเอาได้ง่ายๆ เพราะแค่ขัดสายตาก็กราดกระสุนใส่ได้

ในการปล่อยปละเชิงระบบโดยระดับปัจเจกเกือบทุกภาคส่วนสังคมร่วมก่อร่างสร้าง รู้เห็นเป็นใจ หรือขยิบตาให้เช่นนี้ เนิ่นนานออกไปยิ่งจะขยายปริมาณความผิดพลาด กระทั่งไม่อาจคำนวณย้อนกลับให้รู้ถึง ‘สาเหตุ’ และ ‘กลไก’ เพื่อลงมือแก้ไขและคิดค้นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำซากได้ในที่สุด เพราะเด็กและเยาวชนไทยที่ไม่มีใบอนุญาตก็ไม่ได้ขี่รถจักรยานยนต์บนท้องนาที่ไหน

ดังนั้น การละเลยของบุคคลที่ประกอบสร้างเป็นระบบ และระบบที่หล่อหลอมบุคคลให้เห็นดีงามความฉ้อฉลเช่นนั้นย่อมต้องถูกทบทวนถอนรื้อ เพราะคือความผิดพลาดที่ก่ออันตรายร้ายแรงแก่ผู้อื่น จึงควรต้องได้รับโทษหนักตามหลักการเรียนรู้ความผิดพลาดที่ความผิดพลาดจากการปล่อยปละรุนแรงกว่าความผิดพลาดจากการลงมือทำ ทำนองเดียวกับการลงโทษเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นตามมาตรา 157 ด้วยถือเป็นการกระทำรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

ถึงที่สุดแล้วการไม่ปล่อยปละเชิงระบบจะนำไทยหลีกเลี่ยงความซ้ำซากจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเยาวชนได้ ใช่เท่านั้นปัญญาเรียนรู้และสร้างสรรค์ความผิดพลาดยังอาจผลิบานเป็นแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่นานาประเทศที่มี ‘โจทย์’ คล้ายคลึงไทยใช้เรียนรู้ได้ด้วย

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น