xs
xsm
sm
md
lg

นัดถกตร.จับดื่มแล้วขับขังคุก เตรียมบังคับใช้ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายรณรงค์เมาไม่ขับ นัดถกอธิบดีศาลภาค 2 และตำรวจภาค 2 สัปดาห์หน้า เล็งลงโทษคนดื่มแล้วขับด้วยการกักขัง นำร่องใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกแล้ว เตรียมบังคับใช้ทั่วประเทศ ระบุดื่มแล้วขับรถจักรยานยนต์ติดคุกทันที 5 วัน รถยนต์ 7-10วัน

ภาพจากเว็บไซต์ www.carabao.net/Webboard
วันที่ 19 ธันวาคม นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการโครงการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการรณรงค์ลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของคนไทยว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ที่เสนอให้มีการเพิ่มโทษและลงโทษอย่างจริงจังกับการดื่มแล้วขับ จึงได้ประชุมหารือกับผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อเร็วๆ นี้ โดยนำผลโพลไปบอกกับทุกฝ่ายปรากฏว่าทางผู้พิพากษาบอกว่าสามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษาว่าจะลงโทษเบาหรือหนัก ต่อไปนี้สามารถลงโทษหนักได้เลย

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ศวปถ.จะประชุมหารือร่วมกับอธิบดีศาล ภาค 2 และตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 ที่จังหวัดชลบุรี เพราะจังหวัดในภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้เริ่มพิพากษากักขังคนดื่มแล้วขับไปแล้วหากตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดนจับกักขังทันที นำร่องโดยจังหวัดตราด จากสถิติพบว่าในเดือนมีนาคม–กันยายน 2552 โดนกักขังทันทีไปแล้ว 16 ราย และหลังจากนั้นเราจะเดินสายไปประชุมร่วมกับศาล อัยการและตำรวจ ในภาคต่างๆ ต่อไป

ผู้จัดการโครงการ ศวปถ. กล่าวถึงบทลงโทษตามกฎหมายว่า ปกติเมื่อดื่มแล้วขับคือ หากตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนด อัยการจะส่งฟ้องศาลภายใน 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นศาลจะพิจารณาลงโทษตามมาตรการหลักคือ ปรับ 5,000-20,000 บาท จับ/กักขัง เพิกถอน/ระงับใบอนุญาต คุมประพฤติ จำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่มาตรการใหม่เมื่อตรวจพบก็จะถูกจับกักขังทันที สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กักขัง 5 วัน ขับรถยนต์ 7-10 วัน จำนวนวันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ บทลงโทษตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกเหนือจากดื่มแล้วขับแล้ว หากดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางร่างกายหรือทางจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1-5 ปี ปรับไม่เกิน 20,000-100,000 บาท ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสจำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตามจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-2000,000 บาท ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
กำลังโหลดความคิดเห็น