xs
xsm
sm
md
lg

เหล้า : ห่วงโซ่มัจจุราชปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ท้าทายภาครัฐและประชาสังคมทีเดียวในการเปลี่ยนเทศกาลปีใหม่ให้ปลอดอุบัติเหตุท้องถนน ด้วยทุกๆ ปีห้วงยามนี้ใช่จะมีแต่ความสุขสมหวังจากการพบปะญาติสนิทมิตรสหาย หากทว่าคลาคล่ำด้วยความทุกข์ของผู้คนไม่น้อยที่เดินทางไปไม่ถึง ‘บ้านเกิด’ กลับได้ไป ‘บ้านเก่า’ หรือไม่ก็โรงหมอกันแทนที่ เนื่องจากระหว่างทางต้องผจญภัยยวดยานหลากชนิดที่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองเพราะฤทธิ์สุรา

เดิมสถิติอุบัติเหตุของประเทศไทยในช่วงเวลาปกติก็สูงอยู่แล้ว แต่ห้วงเทศกาลปีใหม่ที่ผู้คนมากมายใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือพาครอบครัวสังสรรค์ท่องเที่ยวกลับสูงกว่าหลายเท่า ดังข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่ระบุว่าระหว่างปี 2550-2552 ในช่วงปกติจะมีอุบัติเหตุเฉลี่ย 280 ครั้ง/วัน มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 35 คน/วัน ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่อุบัติเหตุเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 607 ครั้ง/วัน มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 58 คน/วัน อันมีสาเหตุจากการเมาแล้วขับเป็นสำคัญ

เมาแล้วขับครองอันดับหนึ่งมานานนักหนาแล้ว อย่างน้อยสุด 3 ปีที่ผ่านมาการเมาสุราก็เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่สูงถึงร้อยละ 41.97, 40.80 และ 41.08 ในปี 2550, 2551 และ 2552 ตามลำดับ สูงกว่าการขับเร็วเกินกำหนดที่เป็นสาเหตุอันดับสองของการเกิดอุบัติเหตุกว่าเท่าตัว

ทุกๆ ปีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะเป็นกลุ่มวัยแรงงานกว่าร้อยละ 50 ตามมาด้วยกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีราวร้อยละ 30 โดยรถจักรยานยนต์ครองอันดับหนึ่งเหนียวแน่นต่อเนื่อง มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุอยู่ระหว่าง 3,000-4,000 ครั้ง หรือกว่าร้อยละ 80 ของรถทั้งหมดที่เกิดอุบัติเหตุห้วงเปลี่ยนปี รถปิกอัพอันดับสองตามมาห่างๆ ที่ร้อยละ 6 ขณะช่วงเวลากลางคืนก็ครองแชมป์การเกิดอุบัติสูงสุดกว่าร้อยละ 60 มานาน 3 ปีติดเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงสุด

อีกทั้งอัตราการเกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาก็เกิดนอกทางหลวงแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่เฉลี่ยถึงร้อยละ 64 โดยเกิดบนถนน อบต./หมู่บ้านราวร้อยละ 30 ถนนในเมือง/เทศบาลร้อยละ 13 ขณะที่เกิดบนทางหลวงแผ่นดินประมาณร้อยละ 34

โดยสถิติเหล่านี้ยึดโยงกับการบริโภคเหล้าอย่างยิ่งยวด ด้วยปรากฏการณ์รวมหมู่สังคมไทยคือการขี่รถจักรยานยนต์ออกไปดื่มเหล้าละแวกบ้านช่วงรอยต่อระหว่างเย็นกับกลางคืนเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่กับเพื่อนฝูงญาติมิตร โดยเฉพาะคืน 31 ธันวาคม ก่อนจะประสบอุบัติเหตุเพราะเมามาย

การบาดเจ็บล้มตายมากมายภายใต้บรรยากาศสนุกสนานรื่นเริงจึงเป็นที่มาของ ‘เทศกาลกำหนดความตาย’ ของไทยในทุกๆ ปี โดยปี 2553 ที่กำลังจะมาถึงได้กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องสามารถลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ (Admit) ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2552-4 มกราคม 2553 ให้ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเทศกาลปีใหม่ 2552

อุบัติเหตุ 3,824 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 367 คน และผู้บาดเจ็บ 4,107 คนในช่วงปีใหม่ 2552 จะต้องลดเหลืออุบัติเหตุไม่เกิน 3,633 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 349 คน และผู้บาดเจ็บ 3,902 คน ในปีใหม่ 2553

การกำหนดเป้าหมายให้อุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บล้มตายลดน้อยถอยลงเช่นนี้มีการดำเนินการจากภาครัฐอยู่พอควร ดังมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2549 เรื่องการดำเนินการตามมาตรการและแผนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ โดยให้ถือเป็นภารกิจสำคัญและต้องดำเนินการต่อเนื่องทุกปี ที่ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องตั้งงบประมาณไว้ และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เรื่องจัดตั้ง ศปถ. ตลอดจนมี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นกลไกเคลื่อน

แต่ก็ยังไม่เข้มข้นและตรงประเด็นวิกฤตเท่ากับภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิเมาไม่ขับที่เคี่ยวกรำการสร้างจิตสำนึกไม่ขับรถขณะเมาสุรามาช้านาน และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่ใช้ความรู้สู้อุบัติเหตุเพื่อสร้างสรรค์ความปลอดภัยทางถนนทั้งระดับชาติและพื้นที่ขึ้นมาโดยการพัฒนาความรู้วิชาการและระบบข้อมูลอุบัติเหตุจราจรทางบกรวมถึงเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ เพื่อกำหนดนโยบายบนฐานความรู้และข้อมูล มากกว่าจะตัดสินบนเหตุผลทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ

เพราะเหตุผลการเมืองกับเศรษฐกิจเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้วิกฤตการณ์อุบัติเหตุจราจรดำรงอยู่ยาวนานต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ 3 ปีที่ผ่านมามาตรการหรือข้อเสนอแนะเพื่อหยุดยั้งหรือลดทอนการดื่มสุรา ไม่ว่าจะเป็นการห้ามการส่งเสริมการขาย การห้ามขายช่วงเทศกาล หรือการขอติดฉลากรูปแบบใหม่ ก็ถูกต่อต้านขัดขวางผ่านการข่มขู่ทางเศรษฐกิจและล็อบบี้ทางการเมืองเสมอมา ทั้งๆ ที่สาเหตุไปไม่กลับหลับไม่ตื่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็เป็นหลักฐานชัดเจนแล้วว่าสุราเป็นตัวการสำคัญ

กอปรกับวัฒนธรรมไทยที่ทุกเทศกาลงานรื่นเริงต้องมีสุรายาเมาเป็นตัวคูณความสนุกเองก็เร่งให้เมาแล้วขับเป็นประพฤติผิดร้ายแรงแต่ยอมรับได้ในสังคมไทย ทั้งไม่เพียงไม่ถือโทษทัณฑ์ ซ้ำร้ายยังมองเป็นสิ่งสนุกสนานโก้เก๋ถ้าฝ่าฝืนขืนขัดคำสั่งเจ้าพนักงานในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้

อย่างไรก็ดี ในร่องรอยเปลี่ยนผ่านการรณรงค์ต่อต้านเมาแล้วขับนั้นมีรูปธรรมนำร่องที่โดนใจผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ทว่าน่าครั่นคร้ามสำหรับกลุ่มคนเมาแล้วขับคือการพิพากษาจำคุกคนขับที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกฎหมายกำหนด ไม่ใช่เพียงปรับหรือให้บริการสังคมดังก่อน

ยิ่งถ้าสามารถแปรหลักการของแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2553 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2552-4 มกราคม 2553 มาสู่ภาคปฏิบัติการจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับเมาแล้วขับได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการห้ามไม่ให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารเมาสุราอย่างเด็ดขาด ขอเพียงเท่านี้สถิติอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ก็จะลดลงรวดเร็วและยั่งยืนยาว

ด้วย ‘ห่วงโซ่มัจจุราช’ จักถูกขจัดออกไป จนปฏิกิริยาลูกโซ่ที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนรูปแบบต่างๆ ถูกทอนลดจนหมดไปได้ในที่สุด ทั้งขับขี่ประมาทคึกคะนอง ขับเร็ว แรง แซงซ้ายป่ายขวาที่คับขัน อันเนื่องมาจากสติถูกมัจจุราชที่เวียนไหลในกระแสเลือดล้างผลาญเสียแล้ว

การกระทำเช่นนั้นได้ จำต้องได้รัฐที่หาญกล้ากำหนดนโยบายสาธารณะบนฐานความรู้ ข้อมูล และประโยชน์ประชาชนกว่าผลประโยชน์กลุ่มทุนธุรกิจการเมือง เจ้าหน้าที่ที่เลิกเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่บังคับใช้กฎหมายจริงจัง รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่มีจิตสำนึกความปลอดภัย เห็นพฤติกรรมเมาแล้วขับน่ารังเกียจเดียดฉันท์เพราะคุกคามสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง ครอบครัว และสังคม

เท่านี้ ความปลอดภัยทางท้องถนนที่เป็นสุดยอดปรารถนายามเดินทางท่องเที่ยว เยี่ยมเยือนญาติมิตรปีใหม่ก็จะเป็นจริงขึ้นมาได้ ไม่ใช่ด้วยการหลอกลวงตัวเองโดยแก้ปลายเหตุปัญหา เพราะไม่กล้าแตะเหล้าที่มีทุนใหญ่กำกับ ที่ท้ายสุดนอกจากทุ่มเทเท่าไรคนเจ็บตายก็เท่าเดิมแล้ว ยังหมดเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยเสียเปล่าด้วย เพราะห่วงโซ่แรกของวิกฤตอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ไม่ถูกถอดออกไป

ในท่วงทำนองเดียวกับการให้เหล้าเป็นของขวัญปีใหม่ ด้วยเป็นห่วงโซ่แรกที่นำไปสู่การทำร้ายสุขภาพของผู้รับจากสารพัดโรคร้ายแรงตามมา มากกว่านั้นถ้านำไปดื่มแล้วขับก็จะตายเร็ววันขึ้น

คนที่ปรารถนาดีต่อกันจึงไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ เท่าๆ กับตักเตือนเมื่อเห็นคนเมาแล้วขับทั้งโดยวาจาตนเอง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรักษาชีวิตคนนั้นไว้ไม่ให้ป่วยโรคร้าย ได้รับอันตราย หรือกลายเป็นฆาตกร เพราะถึงที่สุดแล้วมัจจุราชมักพรากวิญญาณของเหยื่อที่คนเมาขับรถไปชนมากกว่า

ทั้งยังต้องตระหนักว่าลำพังรณรงค์ 7 วันระวังอันตรายไม่เพียงพอทำให้ระยะสั้นอย่างการอนุญาตให้ตาย 349 คนช่วงปีใหม่ 2553 หรือระยะยาวลดอุบัติเหตุลงเหลือ 10 คนจากประชากรแสนคนเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ตราบใดไม่ถอด ‘ห่วงโซ่มัจจุราช’ ล่าสังหารคนในช่วงเวลาปกติเสียก่อน

ด้วยถึงที่สุดมัจจุราชเหล่านี้คุ้นเคยกับการสรวลเสเฮฮาด้วยฤทธิ์สุราแล้วก็ออกมาขับขี่รถล่าสังหารเหยื่อเมาแล้วขับอยู่บนท้องถนนในเมืองไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น