ผ่านไปแล้ว สำหรับอีเวนต์แรกในปี 2010 ของคนเสื้อแดง นั่นคือการชุมนุมใหญ่ที่เขายายเที่ยง หน้าบ้านพักตากอากาศของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา
หลายฝ่ายประเมินออกมาว่า ม็อบประเดิมศักราช 2553 ของคนเสื้อแดง ไม่สมราคาคุยที่แกนนำเคยประกาศว่าจะระดมมวลชนมาร่วมชุมนุมถึง 100,000 คน เพื่อกดดันให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่า ช่วงที่มีมวลชนร่วมชุมนุมสูงสุดอยู่ที่ระดับ 3,000 คนเท่านั้น ยิ่งถ้าหักจำนวนร่มกันแดดออกไป อาจจะอยู่แค่ 1 พันต้นๆ ด้วยซ้ำ
สาเหตุที่การชุมนุมบนเขายายเที่ยง ขาดพลังในการระดมมวลชน นอกจากเพราะสถานที่ที่เดินทางเข้าถึงลำบากแล้ว ยังเป็นเพราะประเด็นที่นำมาใช้สร้างกระแสค่อนนั้นขาดน้ำหนัก
กลุ่มคนเสื้อแดง ชูประเด็นว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยงโดยไม่ถูกต้อง ขณะที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแล ไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับ พล.อ.สุรยุทธ์ ถือเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน เมื่อเทียบกับกรณีชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าด้านล่างของเขายายเที่ยง ถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกลงโทษจำคุกไปแล้ว
แต่เกมนี้ ได้ถูกลดกระแสลง ก่อนกำหนดวันชุมนุมไม่กี่วัน เมื่อโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาแถลงว่าอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาเขต 3 ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ ในคดีบุกรุกป่าสงวนเขายายเที่ยง ไปตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 แล้ว เนื่องจากเห็นว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ขาดเจตนาที่จะบุกรุก ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มติ ครม.วันที่ 29 เมษายน 2518 ให้จัดสรรเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎร โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้ตกทอดถึงทายาทโดยธรรมเ แต่ต่อมานายเบ้า ผู้ได้รับจัดสรรพื้นที่ดังกล่าว ได้ขายที่ดินให้กับบุคคลอื่น จนตกมาถึง พล.อ.สุรยุทธ์
ดังนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จึงครอบครองโดยใช้สิทธิ์ของนายเบ้า และถือว่าขาดเจตนาที่จะบุกรุกตามข้อกล่าวหา และ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 อัยการจังหวัดสีคิ้ว ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของแผนงานจัดที่ดินให้แก่ราษฎรในรูปหมู่บ้าน ป่าไม้และสหกรณ์การเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2518 แล้ว ซึ่งต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ยืนยันว่าพร้อมจะปฏิบัติตาม
กรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงแตกต่างจากกรณีของชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เกินไปจากพื้นที่ตามมติ ครม.ปี 2518 ซึ่งจะมีความผิดในข้อหาบุกรุกป่าสงวนทันที
ข้อหา 2 มาตรฐานที่คนเสื้อแดงยกมาอ้าง จึงเบาหวิวลงไปทันที แม้จะมีความพยายามนำไปเปรียบเทียบ กับคดีซื้อขายที่ดินรัชดาที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ต้องถูกตัดสินจำคุก 2 ปี แต่โดยข้อเท็จจริงทั้ง 2 คดี ก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง
กลางคืนวันที่ 11 มกราคม แกนนำคนเสื้อแดงพูดบนเวทีว่าจะปักหลักอยู่บนเขายายเที่ยง จนกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จะลาออกจากการเป็นองคมนตรี หรือแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการบุกรุกพื้นที่เขายายเที่ยง
แต่พอถึงเช้า เมื่อผู้ร่วมชุมนุมเหลืออยู่แค่หลักร้อย แกนนำคนเสื้อแดง ก็รีบประกาศสลายการชุมนุม โดยการทำพิธีเปิดหมู่บ้าน 2 มาตรฐาน เป็น “กิมมิก” ปิดท้าย ก่อนแยกย้ายกันลงจากเขา ทิ้งไว้เพียงขยะและสิ่งปฏิกูลกองโตยังสถานที่ชุมนุม
พร้อมกับ ประกาศเป้าหมายการชุมนุมครั้งต่อไป ที่หน้าสนามกอล์ฟ สอยดาวไฮแลนด์ ที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ซึ่งมีข่าวการบุกรุกป่าสงวน โดยคนเสื้อแดงพยายามโยง ไปถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องจากสนามกอล์ฟแห่งนี้มีผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ ถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งธนาคารดังกล่าวมี พล.อ.เปรมเป็นที่ปรึกษา และจะใช้ประเด็นนี้ เป็นเหตุผลในการขับไล่ พล.อ.เปรมให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี
แต่ภายในวันเดียวกัน พล.ท.ภารวี ชาญเลขา ผู้จัดการทั่วไปสนามกอล์ฟ สอยดาวไฮแลนด์ ได้ออกมาปฏิเสธว่า พล.อ.เปรม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสนามกอล์ฟแห่งนี้ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากเคยมาเล่นกอล์ฟที่สนามนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 ปีก่อน
จุดเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.เปรม มีเพียง นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งมีข่าวว่าเป็น 1 กลุ่มผู้ถือหุ้นสนามกอล์ฟแห่งนี้ ที่มีอยู่ 10 กว่าตระกูล หากจะเอาข้อหาบุกรุกป่าสงวนไปโยนใส่ พล.อ.เปรม แบบที่กล่าวหา พล.อ.สุรยุทธ์ จึงห่างเป้าเต็มทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 13 ม.ค.มีกระแสข่าวว่า พล.อ.เปรม จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนที่กล่าวหาว่ามีหุ้นในสนามกอล์ฟดังกล่าวแล้ว
แม้ว่าแกนนำคนเสื้อแดง จะวางปฏิทินนำเอาข้อหาการบุกรุกที่ดินขององคมนตรีไปเคลื่อนไหวต่อ โดยในวันที่ 15 ม.ค.แกนนำได้เดินทางไปยังกรมป่าไม้ เรียกร้องให้รังวัดที่ดินเขายายเที่ยงใหม่ จากนั้นวันที่ 17 ม.ค.จะเดินทางไปยังกองปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนิคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์อีกครั้ง ตามด้วยวันที่ 23-24 ม.ค.ที่จะชุมนุมหน้าสนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์
แต่ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้ เพียงแค่ถูกวางให้ครบตามโปรแกรมเท่านั้น ไม่สามารถสร้างกดดันไปยังรัฐบาล หรือ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าอำมาตยาธิปไตยได้แต่อย่างใด เมื่อเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนนั้น มีอยู่ทั่วประเทศ แต่คนเสื้อแดงเลือกจับมาเคลื่อนไหวเฉพาะจุดที่ตัวเองจะได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น จึงไม่สามารถเรียกอารมณ์จากสังคมมาเป็นพลังกดดันไปยังเป้าหมายของพวกเขาได้
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า ทักษิณ ชินวัตร จะหยุดเคลื่อนไหว เพราะเป้าหมายสูงสุด คือการได้อำนาจ-ทรัพย์สินคืน และให้ตัวเองพ้นจากความผิด ยิ่งคดียึดทรัพย์มีกำหนดตัดสินในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้
นช.ทักษิณ กล่าวย้ำในการวิดีโอลิงก์ไปยังเวทีชุมนุมเขายายเที่ยง ว่า จะตามหาความเป็นธรรม(สำหรับตัวเขาเอง) ไม่ว่าจะในนรกหรือบนสวรรค์ และในวันต่อมา นายฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา ผู้มีทักษิณเป็นที่ปรึกษา ก็ออกมาแกว่งปากให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไทยชุดนี้จะอยู่ได้อีกไม่นาน ซึ่งทักษิณก็รับลูกนำไปพูดในรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต วันที่ 12 ม.ค.
นั่นแสดงว่า เป้าหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีอยู่เต็มสมองของนักโทษหนีคดีรายนี้ แต่จะล้มด้วยวิธีใดเท่านั้น
ทั้งนี้ หากจับทิศทางจากคำพูดของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่พูดมาตลอดว่า พร้อมจะใช้ความรุนแรงทุกเมื่อ และพูดถึงการกลับมาของทักษิณด้วยวิธีพิเศษ
จึงต้องจับตาให้ดีว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหลังจากนี้ อาจมีการใช้ “วิชามาร” เพื่อสร้างสถานการณ์ ให้เกิดสภาพที่รัฐบาลเอาไม่อยู่ และต้องมีอำนาจพิเศษลงมาจัดการ ซึ่งคนเสื้อแดงหวังว่า ทางออกจะเป็นการประนีประนอม และทำให้ “ทักษิณ”ได้สิ่งที่ต้องการกลับคืนมา