เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีไต่สวนยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 7 หมื่น 6 พันล้านบาทรวมดอกผล องค์คณะผู้พิพากษาศาลฯ ท่านมีคำสั่งให้คู่ความแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2553 เป็นต้น และนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13.00 น.
โดยในการขึ้นให้การนัดสุดท้ายของพยานเพิ่มเติม ที่ศาลฯ ท่านเรียกมา นอกจากจะมี นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ยุคหลังทักษิณ ผู้เข้ามารับหน้าเสื่อยกเลิกมติ ครม.อัปยศ ที่ให้มีการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจตัวเอง ในยุคทักษิณแล้ว
ยังมีนักวิชาการอย่าง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ที่จับงานวิจัยเรื่องความเสียหายที่ชาติได้รับจากนโยบายฉ้อฉลของนโยบายรัฐบาลไทยรักไทย โดยเฉพาะนโยบายข้างต้น และในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.สมเกียรติ ยังได้เบิกความเรื่อง ความสัมพันธ์ของมูลค่าหุ้นชินคอร์ป ผ่านมุมมองเปรียบเทียบ “สายสัมพันธ์การเมืองกับตลาดหุ้นไทย” ได้อย่างน่าสนใจมาก
แน่นอนครั้งหนึ่ง พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก เคยอธิบายไปแล้วว่า คดียึดทรัพย์ 7 หมื่น 6 พันล้านนั้น มี 2 ข้อพิสูจน์สำคัญที่ถือเป็นหัวใจของคดีนี้
หนึ่ง คือการพิสูจน์ให้ได้ว่า ทักษิณ ชินวัตร ยังคงถือครองหุ้นชินคอร์ปนับตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งถึงวันที่มีการขายโอนหุ้นให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้ง หมายความว่า เป็นนายกฯ แล้วก็ยังคงถือหุ้นจำนวนมหาศาลต่อไป นั่งสองขา ขาหนึ่งทำธุรกิจตัวเอง ขาหนึ่งบริหารประเทศ อันเป็นต้นธารของ “การมีพฤติกรรมที่นำไปสู่ผลประโยชน์ขัดกัน หรือ Conflict of interest”
และสองคือ การพิสูจน์ให้ได้เห็นว่า ช่วงที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมีการออกนโยบายประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้ นอกจากจะพิสูจน์ได้ในรูปความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศ ค่าเสียโอกาสที่ประเทศได้รับแล้ว ที่พูดถึงกันเยอะมาก ก็คือ การเพ่งมองไปที่มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นของหุ้นทักษิณในช่วง 4 – 5 ปีที่บริหารประเทศแล้ว
จึงเป็นที่มาของทฤษฎีสมคบคิดที่ดังกระหึ่มไปทั่ว เรื่องยึดครึ่ง คืนครึ่ง ยึด 3 คืน 4 ...เป็นเสียงที่มีทั้งคนที่รู้ และไม่รู้ ทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ งุนงนตกลงหมายความว่าอย่างไรกัน เพราะถ้าจะอธิบายกันง่ายว่า ด้วยหลักสมการง่ายๆ คือ เอามูลค่าหุ้นจำนวน 1,487.74 ล้านหุ้น ของปี 2549 รวมกว่า 7 หมื่น 6 พันล้านบาท มาลบออกด้วยทุนเดิม คือมูลค่าหุ้นจำนวนเท่ากันของเมื่อปี 2544 (ก่อนเข้ามาบริหารประเทศ) ที่มีมูลค่าเพียง 3หมื่นกว่าล้าน ส่วนที่เหลือ คือส่วนเกินที่งอกเงยออกมา และมาอย่างไม่ชอบมาพากล ใครคิดง่ายแบบนี้ จะมองว่าเป็นการดูเบา กระบวนการพิจารณาคดีที่เต็มไปด้วยความรอบคอบของกระบวนการยุติธรรมบ้านเราไปหน่อยก็ว่า
จริงอยู่แม้ตลอดช่วงที่ผ่านมา สื่อมวลชนจะพากันรายงานข่าวกระหึ่มบ้านกระหึ่มเมืองว่า ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2549 เป็นช่วงที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ- คุณหญิงพจมาน ชินวัตร” ครองอำนาจสูงสุดทางการเมือง จะเป็นช่วงเดียวกับที่ ‘ชิน คอร์ปอเรชั่น’ (SHIN) หุ้นในมือตระกูลนายกรัฐมนตรี จะทำกำไรสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์รวมกันกว่า 4 หมื่นล้านบาท
... ถึงกับมีการจ่ายเงินปันผลกลับคืนให้กับครอบครัวชินวัตร เป็นเม็ดเงิน (สด) สูงถึง 8,033 ล้านบาท หรือเท่ากับ 25% ของกำไรสุทธิทั้งหมดที่ ‘ชินคอร์ป’ ทำได้ในช่วง 5 ปี…
... และเฉพาะปี 2547 ‘ครอบครัวชินวัตร’ รับเงินปันผลจากหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) เพียงปีเดียว 2,975 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 8.15 ล้านบาท หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 3.4 แสนบาท เพียงครึ่งปีแรก 2548 ‘ครอบครัวนายกฯ’ รับเงินปันผลหุ้น SHIN ไปอีก 1,859 ล้านบาท ยังไม่นับรวมผลประโยชน์ จากการลงทุนต่อเนื่องอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน…(ลงใน กรุงเทพธุรกิจฯ, 20 มค. 2549)
...แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขบนโต๊ะที่เราๆ ท่านๆ มองเห็นผ่านรายงานจากตลาดหลักทรัพย์ฯ!?!
... แล้วตัวเลขใต้โต๊ะที่แท้จริงล่ะ…!?! ตัวเลขแท้จริงของจำนวนทรัพย์สินที่ได้มาจากพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจเอื้อธุรกิจครอบครัวตัวเอง อันเป็นการทับซ้อน ประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมที่นำไปแอบซ่อนในชื่อของบุคคลในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด มีเท่าไหร่กันแน่...
กรุงเทพธุรกิจฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2547 พาดหัวข่าว “เปิดผลวิจัยนโยบายรัฐดันหุ้นชิน พุ่ง 2 แสนล้าน” เนื้อข่าวระบุ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แฉธุรกิจการเมืองไทยครอบตลาดหุ้นสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เปิดข้อมูลกลุ่มชิน คอร์ป เดินหน้าโกยกำไรปีเดียว 2 แสนล้านบาท ฟันธงนโยบายรัฐดันหุ้นทักษิณพุ่งกระฉุด ทั้งไอทีวี เอไอเอส ชินแซทฯ …
ตอนหนึ่งของผลการวิจัยเขียนชัดว่า
‘...ในช่วงปี 2546 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่หุ้นกลุ่มหนึ่งซึ่งนักลงทุนเรียกว่า ‘หุ้นทักษิณ’ มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างง่าย หรือ simple average ของตลาด ซึ่งอยู่ในระดับร้อยละ 58 อาทิ หุ้นไอทีวี, หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หุ้นบริษัท เอไอเอส และหุ้นบริษัทชิน แซทเทลไลท์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเครือญาติหรือไม่…’
‘...หุ้นทักษิณมีอัตราการตอบแทนดีกว่าหุ้นอื่นๆ ในตลาดร้อยละ 141 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 184 หากตัดหุ้นของธนาคารทหารไทย ซึ่งชิน คอร์ป ถือหุ้นข้างน้อยออกไป ดังนั้นหุ้นในกลุ่มหุ้นทักษิณมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ทักษิณ พรีเมียม’ ในระดับสูงมาก เมื่อประเมินโดยใช้ค่าทักษิณ พรีเมียมในระดับ 141 จะพบว่าการที่มูลค่าของทั้ง 5 บริษัทดังกล่าวที่สูงขึ้น 316,374 ล้านบาท ในปี 2546 นั้น สามารถอธิบายได้จากตัวแปรของการเป็นหุ้นทักษิณถึง 205,276 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดจากปัจจัยอื่นๆ และการเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้ถือหุ้นทักษิณมีความมั่งคั่งอย่างมหาศาลในเวลา 1 ปี…’
บทความเดียวกันนี้อธิบายด้วยว่า ความเป็นหุ้นทักษิณ จะได้สิทธิพิเศษอะไรบ้าง ก็อาทิ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างกำแพงกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ในกับกลุ่มโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ที่มีเอไอเอสได้มากที่สุด, การที่ กระทรวงไอซีทีพยายามแก้กฎเกณฑ์การคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่าส่งผลให้บริษัทเอไอเอสได้ประโยชน์ทันที 2,186 ล้านบาท แต่บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น และบริษัท เทเลคอมเอเซีย กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
การที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ มีมติส่งเสริมการลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจนได้ประโยชน์กว่าหมื่นล้านบาท และการลดค่าสัมปทานไอทีวี พร้อมเปิดให้ไอทีวีสามารถปรับผังรายการได้ ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ค่าตอบแทนของหุ้นทักษิณมีราคาสูงขึ้น
จะอ้างว่า ร่ำรวยมาก่อนแล้ว มีมาก่อนแล้ว รวยมาแล้ว รวยแล้วไม่โกง คงฟังไม่ขึ้น เมื่อสมัยมีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ เคยเปิดโปงเส้นทางรวยของพ.ต.ท.ทักษิณ ผ่าน “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 4” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แทบจะหมดเปลือก
ในปี 2533 สมัยเป็นพ่อค้าโทรศัพท์มือถือได้รับการสัมปทานโทรศัพท์ 900 เป็นเวลา 20 ปี สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ปี 2535 วิ่งเต้นขอรับสัมปทานดาวเทียมไทยคมจากรัฐบาลเผด็จการ รสช.
ปี 2544 สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีมีการแปรสัญญาสัมปทานให้ กสท.และ ทศท อ่อนแอ
มาปี 2546 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ยกเว้นภาษีให้ดาวเทียมไอพีสตาร์กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ปีเดียวกันมีการลดค่าสัมปทานไอทีวี ถัดมามีการลงทุนแอร์เอเชีย บริษัทชิน คอร์ป รุกทำธุรกิจสินเชื่อในนามบริษัทแคปปิตอลโอเค มีรายได้ทั้งเครือกว่า 7 หมื่นล้านบาทเกือบเท่า ปตท. และบริษัทในเครือยังมีมูลค่าเพิ่มในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546 กว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความร่ำรวยด้วยการวิ่งเต้น และอิงอำนาจมาตลอด
นอกจากจะไม่ใช่ “รวยแล้วไม่โกง” แต่ยังเข้าข่ายขอเข้ามา “โกงให้รวย” อีกด้วย ตามสามัญสำนึกทั่วไป ชาวบ้านคงอย่างเห็นการเรียกคืนสิ่งที่ประเทศควรได้รับอย่างสาสม อย่างเต็มที่ แต่ท้ายที่สุด ศาลท่านจะเห็นปรานี เห็นสมควรเช่นไร ก็คงต้องรอฟังด้วยใจเคารพในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้