xs
xsm
sm
md
lg

เผยทฤษฎีใหม่ “ทวิน ทาวเวอร์ส” ถล่มจากแรงระเบิดของปฏิกิริยาเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลุมนอร์ทพูล ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหนึ่งในอาคารแฝดทวินทาวเวอร์ส ซึ่งถูกโจมตีในเหตุวินาศกรรม 9/11
เอเอฟพี - นักวิจัยรายหนึ่งเผยในการประชุมด้านเทคโนโลยี ที่แคลิฟอร์เนีย ระบุส่วนผสมของน้ำจากระบบฉีด และอะลูมิเนียมที่หลอมละลายจากลำเครื่องบิน น่าจะเป็นตัวจุดชนวนระเบิด ซึ่งทำให้ตึกแฝดทวินทาวเวอร์ส ในมหานครนิวยอร์กพังครืนลงมาในเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001

“หากทฤษฎีของผมถูกต้อง อะลูมิเนียมหลายตันได้ไหลลงสู่ตึกแฝด ที่ซึ่งวัตถุหลอมเหลวเหล่านั้นสัมผัสกับน้ำอีก 200-300 ลิตร และจากหายนะครั้งอื่นๆ รวมถึงการทดลองโดยอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ทำให้เรารู้ว่าปฏิกิริยาเช่นนี้จะนำไปสู่การระเบิดรุนแรง” คริสเตียน ไซเมนเซน นักวิทยาศาสตร์ของซินเทฟ สถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีอิสระในนอร์เวย์ชี้

เขายังระบุว่า ด้วยปริมาณของโลหะหลอมละลายดังกล่าว การระเบิดจะมีความรุนแรงพอที่จะทำให้บางส่วนของตึกพังทลายลงมา แล้วนี่ก็จะทำให้ส่วนบนสุดของแต่ละอาคารถล่มใส่ส่วนอื่นๆ ด้านล่างของตึกด้วย

“น้ำหนักส่วนอาคารชั้นบนก็เพียงพอจะบดขยี้ส่วนล่างของอาคารนั้นได้” เขาเสริม

ทฤษฎีอะลูมิเนียกับน้ำนี้จะอธิบายการระเบิดจากภายในอาคารก่อนที่อาคารเหล่านั้นจะพังทลายลงมาได้ โดยยิ่งกระตุ้นถึงทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งแนะว่าโครงสร้างของตึกทั้งสองเป็นเหมือนกับดัก

ทั้งนี้ รายงานอย่างเป็นทางการถึงสาเหตุที่ตึกแฝดถล่มนั้นโยนความผิดให้กับโครงสร้างคานเหล็กส่วนกลางของอาคารที่ร้อนเกินไป
รูปเปรียบเทียบสะพานบรูกลิน และย่านการเงินของนิวยอร์ก เมื่อครั้งที่มีตึกแฝด และไร้ตึกแฝด
ไซเมนเซนนำเสนอทฤษฎีของเขาในที่ประชุมเทคโนโลยีวัสดุนานาชาติในซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย โดยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการคาดคะเนดังกล่าวเป็นบทความลงในวารสารอะลูมิเนียม อินเตอร์เนชันนัล ทูเดย์

เขาระบุว่า ในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียนั้น มีรายงานเกี่ยวกับการระเบิด ที่มีจากการทำปฏิกิริยาของอะลูมิเนียมกับน้ำมากกว่า 250 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา

ในการวิจัยแบบทดลองโดยควบคุมตัวแปร ซึ่งจัดทำโดยบริษัทอัลกัว อะลูมิเนียม พบว่า อะลูมิเนียมหลอมละลาย 20 กิโลกรัม และสนิมเล็กน้อย ทำปฏิกิริยากับน้ำ 20 ลิตร เกิดการระเบิดที่ทำให้ห้องแล็บทั้งห้องระเบิด และยังทำให้เกิดแอ่งขนาดเส้นเผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร

นักวิทยาศาสตร์จากนอร์เวย์รายนี้ยังคำนวณเปรียบเทียบว่า เครื่องบินพาณิชย์ ซึ่งมีอะลูมิเนียม 30 ตัน ถึง 2 ลำพุ่งเข้าไปติดอยู่ภายในตึกระฟ้า ด้วยฉนวนกันความร้อนของอาคาร ทำให้ความร้อนจากตัวเครื่องบินเพิ่มขึ้น และหลอมละลาย เมื่อเจอกับน้ำจากสปริงเคิลในตัวตึก จึงเกิดปฏิกิริยาเคมีจนระเบิด

สำหรับระยะเวลาของการหลอมละลายประมาณ 30-45 นาที ก็ประจวบกันกับเวลาของการระเบิด และเวลาที่ทั้งสองตึกถล่มลงมาพอดี

ไซเมนเซน ชี้ว่า ยังมีบทเรียนอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ หากทฤษฎีของเขาถูกต้อง ซึ่งอาจช่วยหลีกเลี่ยงหายนะ และความสูญเสียกับตึกระฟ้าแห่งอื่น ที่อาจถูกเครื่องบินพุ่งเข้าชนในลักษณะเดียวกันนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น