xs
xsm
sm
md
lg

ซาอุฯพอใจฟ้องคดีอัล ลูไวรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่าในการพิจารณาคดี ที่อัยการยื่นฟ้องพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 กับพวกรวม 5 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัล-ลูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย พระญาติกษัตริย์ไฟซาล ซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนนั้น ตนมอบให้นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นหัวหน้าทีมจัดอัยการไปว่าความ ซึ่งจะมีใครบ้างนายรุจ จะรายงานตนอีกครั้ง

นายธนพิชญ์ กล่าวว่า อัยการจะยื่นบัญชีระบุพยานซึ่งได้เตรียมพยานบุคคล ที่สำคัญๆ หลายปาก แต่ไม่ถึง 50 ปาก เพราะเน้นเฉพาะที่สำคัญจริงๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่อัยการยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 30 ได้เปิดช่องให้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ของนายอัล-ลูไวรี่ ยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าในเวลาใดๆในระหว่างการพิจารณา เพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก็ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องเข้ามา

**อุปทูตซาอุฯพอใจคดี"อัล ลูไวรี่"

ด้านนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า นายนาบิล อัชรี อุปทูตซาอุดิอารเบียประจำประเทศไทย พอใจพอสมควรกับคดีฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัล-ลูไวรี่ ที่มีความคืบหน้า เพราะทางซาอุฯ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น ตอนที่ทางอุปทูตเดินทางไปพบ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งทางนายกษิต ก็ได้พยายามชี้แจงไปว่า กระบวนการยุติธรรมไทยทางรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีก 3-4 เรื่อง ที่ยังค้างคาอยู่ แต่แน่นอนต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนคดีจะหมดอายุความ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสที่ทางกระทรวงพยายามชี้แจงให้ทราบ **โยนให้ต้นสังกัดพิจารณา"สมคิด"
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวว่าหลังจาก อัยการสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พร้อมพวกรวม 5 คน ในคดีฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัล ลูไวรี่ ก็เป็นเรื่องของตำรวจที่มีระบบของเขาอยู่ นักการเมืองไม่ควรเข้าไป ก้าวก่ายในการบริหารงานปกติ ของข้าราชการประจำ ต้องปล่อยให้เขาว่าไปตามระบบ ตามขั้นตอนกฎหมายที่เขามีอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกิดเหตุอย่างนี้ต้องพักราชการหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนคงยังไม่ไปก้าวก่ายเขา เป็นเรื่องที่ตำรวจมีกฎหมายอยู่ปฏิบัติอยู่แล้ว คงไม่ถูกต้อง หากตนจะเข้าไปก้าวก่าย เมื่อถามว่าการที่ถูกกล่าวหาร้ายแรง จะดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.5 อยู่ จะมีปัญหาหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่าตนคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ เพราะตำรวจเขามีกฎเกณฑ์กติกาอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้จะผูกโยงว่าเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากดดันได้หรือไม่ เพราะทางอุปทูตซาอุฯ เองก็ไม่มั่นใจรัฐบาลนี้เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับ คมช. นายสุเทพ กล่าวว่า คงไม่ใช่ อุปทูตก็คงพูดของท่านไป ตนคงไม่ไปพูดอะไรให้ทะเลาะกับอุปทูต แต่เรื่องนี้เกิดมาเกือบ 20 ปีแล้วผ่านมาหลายรัฐบาล สำหรับรัฐบาลนี้เราไม่เข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของข้าราชการประจำ อะไรถูกหรือผิด ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย จะให้ใครเข้ามาแทรกแซง กดดันระบบของเราคงไม่ได้



**"ปทีป"รอ"สมคิด"แจงก่อนพิจารณา

ด้านพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า ขณะนี้รอรายงาน การต้องคดีอาญาจากพล.ต.ท.สมคิด ที่ต้องรายงานเข้ามาให้ตนทราบภายใน 3 วัน แต่ตอนนี้พล.ต.ท.สมคิด ยังไม่ได้รายงานมา จึงไม่ทราบรายละเอียด
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทางกองการวินัยรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้และรายงานมาให้ตนทราบ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนพ.ต.อ.ธวัช ประสพพระ ผู้กำกับกลุ่มงานนิติกร ด้านสอบสวนและพิจารณาโทษ กองวินัย กล่าวว่า เรื่องนี้กองวินัยยังไม่มีรายละเอียด ต้องขอไปดูรายละเอียดก่อนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งตามขั้นตอนปกตินั้นหลังจากต้องคดี ซึ่งต้องรายงานผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับขึ้นไปจนถึง ผบ.ตร. ซึ่งมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย

พ.ต.อ.ธวัช กล่าวว่าการพิจารณาโทษต้องดูว่าการต้องคดี หรือถูกกล่าวหานั้นมีมูลเหตุมาจากอะไร จากการปฏิบัติหน้าที่หรือเรื่องส่วนตัว ซึ่งการพิจารณาต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และกฎ ก.ตร. ที่ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาโทษทางวินัย และต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาด้วย เพื่อพิจารณาโทษ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะลงโทษทางวินัยต่อพล.ต.ท.สมคิด อย่างไร จะต้องออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ ก็ยังบอกไม่ได้

**

ดีเอสไอเร่งคดีฆ่าฑูตซาอุ

ด้านพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าของอีก 2 คดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทางการซาอุฯ กำลังเร่งให้ติดตาม เพราะจะมีผลต่อการฟื้นฟู ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ คดีฆ่านักการทูต 3 คน เมื่อปี 2533 และคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯนั้น ขณะนี้ในส่วนของคดีฆ่านักการทูต 3 คน หลังจากที่ ดีเอสไอ สรุปสำนวนการสอบสวนส่งอัยการ และอัยการมีความเห็นให้ดีเอสไอ ออกหมายจับ นายอาบู อาลี ชาวอาหรับ เพื่อส่งฟ้องศาล แต่เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดขึ้น นานเกือบ 20 ปี จึงมีเพียงภาพสเกตซ์ตามที่ตำรวจเคยสเกตซ์ไว้

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ขณะนี้จึงยังไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหาตามหมายจับมาได้ ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ ได้มีคำสั่งมอบหมายให้จัดชุด โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อเดินทางไปสำนักงานอินเตอร์โพล หรือตำรวจสากล ที่กรุงริยอง ประเทศฝรั่งเศส ภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อขอความร่วมมือให้ผลักดันหมายจับนายอาบู อาลี เข้าสู่หมายจับบุคคลที่ต้องการตัวของตำรวจสากล ซึ่งมีประเทศสมาชิกจำนวนมากกว่า 190 ประเทศ เพื่อติดตามตัวมาให้ได้ก่อนคดีหมดอายุความในวันที่ 1 ก.พ. นี้ ตามกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม ทางซาอุฯ เห็นว่า กรณีฆ่านักการทูต ควรยึดตามสนธิสัญญา หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ที่คดีไม่ควรมีอายุความ ดังนั้น ดีเอสไอจึงพยายาม เร่งติดตามอย่างเต็มที่
"สำหรับคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ ที่เพิ่งรับโอนเป็นคดีพิเศษ ล่าสุดขอบข่าย การทำงานของดีเอสไอ จะค้นหาเพชรซาอุฯ ที่ยังไม่ได้คืน และหาผู้ครอบครองเพชร ซึ่งจะมีความผิดฐานรับของโจร ขณะนี้คดีมีเบาะแส แต่ยังคืบหน้าไม่มาก รวมทั้งเนื่องจากคดีเกิดขึ้นนานแล้ว จึงอาจมีการนำเพชรไปแปรสภาพ หรือเปลี่ยนตำหนิ รูปพรรณของเพชร ทำให้ยากต่อการติดตาม และจากการประสานกับซาอุฯ มาตลอด ทางประเทศซาอุฯ เห็นว่า ได้ถูกละเมิดจากกรณีที่คนซาอุฯ ถูกฆ่าและทรัพย์สินถูกขโมย จึงต้องการความยุติธรรมและทรัพย์สินคืน"
กำลังโหลดความคิดเห็น