xs
xsm
sm
md
lg

ถามคนรักทักษิณ : รู้จักคำว่า “พอเพียง” ไหม?

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


ควันหลงจากบรรยากาศการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ยังตระหลบอบอวล แม้จะมีทั้งเรื่องดีๆ และเรื่องเลวร้ายคละเคล้าปะปนกันไป ก็ให้ถือเสียว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติธรรมดาของโลกและชีวิตเท่านั้นเอง

วันนี้จึงอยากให้คนเสื้อแดงที่รุ่มร้อน และคนไทยใจเย็นส่วนใหญ่ทุกคนมาร่วมกันรับรู้เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับปรัชญาแนวคิด เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เริ่มปรากฏแพร่หลายเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกแล้ว หลังจากที่พ่อหลวงของเราทรงพร่ำบอกพร่ำเตือนให้คนไทยใส่ใจหนทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้ดำรงอยู่ในความเป็นจริงอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี

แนวคิดนี้ปรากฏขึ้นจากพระบรมราโชวาท ที่ทรงพระราชทานแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ความตอนหนึ่งว่า

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้

บัณฑิตทั้งปวงจึงควรจะได้คิดพิจารณาอย่างละเอียดถ่องแท้และหนักแน่นให้เห็นถึงหลักการและวิธีการอันถูกอันควรที่จะปฏิบัติงานของตน ในเบื้องหน้าเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของชาติและการครองชีพของประชาชนดำเนินไปด้วยดี”

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่หน่วยงานฝ่ายรัฐ ไม่รู้กี่ชุดกี่ผลัดรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่รับสนองดำเนินการ ในท่ามกลางระบบการเมืองการปกครองที่ล้วนแต่ฉ้อฉลไม่ซื่อไม่ตรง ทำให้การดำเนินการเป็นไปแบบมะงุมมะงาหรา ไม่สามารถผลักดันให้เกิดมรรคผลตามแนวทางพระราชประสงค์อย่างแท้จริงเนิ่นนานถึง 23 ปี จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในยุคที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอ่อนตัวตกต่ำลงจาก 25.60 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปถึง 55 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธุรกิจเอกชนแทบทุกประเภท รวมทั้งธนาคาร สถาบันทางการเงินถูกกระทบอย่างรุนแรง หลายกิจการมีหนี้สินท่วมตัว หลายกิจการล้มพับปิดกิจการ พนักงาน ลูกจ้างถูกปลดถูกพักงานจำนวนมาก จนรัฐบาลถูกกดดันให้ลาออก และวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นได้ลุกลามกระทบไปทั่วทั้งประเทศแถบเอเชียและใกล้เคียง จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540 เตือนย้ำอีกว่า

“ประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่า ภูมิประเทศยัง “ให้” คือความเหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง”

และในท่ามกลางพายุวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องกันมาจากปี 2540 ได้ทรงห่วงใยติดตามสถานการณ์ และทรงมีพระราชดำรัสย้ำเตือนติดต่อกันมาโดยตลอด ในปี 2541, 2542 และ 2543 โดยทรงอธิบายย้ำให้ชัดเจนขึ้นว่า

“คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง”

“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”

“อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-Suf-Ficiency (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า Self-Sufficiency คือ Self-Sufficiency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)” 
 (พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541)


“พอมีพอกินนี่ได้พูดมาหลายปี สิบกว่าปีแล้ว ให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างจะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้...”

“…ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกันแลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือ ให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”
 (พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542)


“…ทั้งหมดนี้ พูดอย่างนี้ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ใครต่อใครก็ต่อว่า ว่าไม่มี Sufficiency Economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง...”
  (พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543)


ผมยกบางส่วนของพระราชดำรัส เพื่อชี้ให้คนเสื้อแดง หรือใครก็ตามที่คิดไม่ซื่อ ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่พยายามแอบแฝงซ่อนเร้นกระทำการกันอยู่ ได้รู้สึกสัมผัสให้ถ่องแท้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระองค์นี้ นอกจากจะอุทิศตนทำงานหนักเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างทุ่มเทพระวรกาย จริงจังและจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนไทยทุกภูมิภาคทุกพื้นที่มาโดยตลอดกว่า 60 ปี ที่ทรงครองราชย์ พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพ คาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ พร้อมทั้งแนะวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ทันสมัยทันเหตุการณ์มาโดยตลอด

ในเทศกาลเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยที่ได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “บ้านของในหลวง” ที่ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นจอหนัง คงจะตระหนักรู้และซาบซึ้งประทับใจที่บ้านของในหลวงพระองค์นี้ เป็นพระราชวังแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก ที่มีนาข้าว มีโรงเลี้ยงโคนม มีแปลงทดลองปลูกพืชไร่ประเภทต่างๆ รวมทั้งมีสถานีวิจัยด้านการเกษตรเกือบครบทุกด้าน ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า โครงการพระราชดำริทุกโครงการ ก่อนที่จะพระราชทานไปสู่ชุมชน ได้ผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วในบ้านของในหลวงเอง

คุณูปการที่ในหลวงของปวงชนชาวไทยพระองค์นี้ ทรงพระราชดำริและทรงลงมือดำเนินการด้วยพระองค์เอง มีอีกหลากหลายประเภทหลากหลายกิจกรรม จนแทบไม่น่าเชื่อว่า ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง จะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อมวลชนได้มากมายเหลือคณานับขนาดนี้ได้

ผมจึงรับไม่ได้กับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่รักทักษิณ ชอบอ้างว่ารักและเทิดทูนบูชาระบอบประชาธิปไตยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นส่วนเกินที่ขัดขวางหนทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ร่ำร้องโหยหากันจนถึงขั้นจาบจ้วง ล่วงละเมิดอย่างรุนแรง และกำเริบเสิบสานถึงขั้นคิดวางแผนจะล้มล้าง โดยไม่เคยหันไปพินิจพิจารณาบรรดาแกนนำและพลพรรคร่วมขบวนการเลยว่า เคยสร้างคุณงามความดีเพื่อส่วนรวม หรือเคยสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชนคนไทย เทียบได้แม้เพียงกระผีกหนึ่งของในหลวงพระองค์นี้บ้างหรือไม่

และที่ร่ำร้องเรียกหาระบอบประชาธิปไตย โดยคุกคามข่มขู่ ไม่ว่าการประกาศปลุกระดมทางวิทยุกระจายเสียงให้คนเสื้อแดงเชียงใหม่ยกพวกบุกฆ่าฟันนายกรัฐมนตรี หรือประกาศจะเผาบ้านประธาน กกต. รวมทั้งการระดมฝึกกองกำลังติดอาวุธในตำบลหมู่บ้านต่างๆ ในภาคเหนือภาคอีสาน หรือแม้แต่การสมคบคิดกับผู้นำที่ครองอำนาจเป็ดเสร็จเผด็จการอย่าง เจ้าของฉายา “ฮวยเซ็ง” ถึงขั้นยกขบวนไปสวามิภักดิ์อย่างที่เห็นกันอยู่ จะให้ผู้คนเขาเข้าใจและนิยามคำว่า ระบอบประชาธิปไตยในความหมายอย่างไรกัน?

หรือว่า เรื่องของเรื่อง ก็เพียงเพราะเขาเหล่านั้น ไม่เคยรู้จัก รู้ซึ้งคำว่า “เพียงพอ” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญแห่งความสงบสุข เสรี สันติภาพ และภราดรภาพที่จะนำพาไปสู่เนื้อหาความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง

                                  สวัสดีปีใหม่ ครับ

                                 วิทยา วชิระอังกูร

กำลังโหลดความคิดเห็น