xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าทางตันบริหารบาท แบงก์ชาติยึดกลไกตลาด-ลดผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคที่การส่งออกยังมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากการสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพจะนำเสนอคู่ค้าแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ "ค่าเงิน" เป็นตัวแปรหนึ่งที่กำหนดความได้เปรียบเสียเปรียบกับประเทศคู่ค้าอื่น รวมถึงบางธุรกรรมอาจมีผลต่อกำไรหรือขาดทุนด้วย ทำให้บทบาทของผู้ดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เปรียบเสมือนด่านหน้ารับหน้าที่หนักนี้ ซึ่ง "ASTVผู้จัดการ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ ผู้บริหารคนสำคัญของแบงก์ชาติ “บัณฑิต นิจถาวร” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ซึ่งเป็นฝ่ายดูแลโดยตรง

นายบัณฑิต กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพ.ย.ของปี 52 เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 5% และเมื่อเทียบเงินบาทกับค่าเฉลี่ยสกุลเงินประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยแข็งค่าขึ้น 0.3% โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากการเกินดุลดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก จาก 10 เดือนแรก มีการเกินดุล 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนตัวลง โดยเมื่อเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับค่าเงินสกุลอื่นๆ พบว่า เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 5%

"เงินบาทแข็งค่าส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยในประเทศเองจากเงินทุนไหลเข้ามา โดยเฉพาะจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ถือเป็นปัจจัยสำคัญสุดจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ ส่วนการอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยภายนอกและเหนือการควบคุม"

แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 53 แบงก์ชาติมองว่าปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ โดยมองว่าปี 53เศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 52 เศรษฐกิจหดตัว ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงในปี 53 จากการนำเข้าเพิ่มขึ้น ถือเป็นการลดแรงกดดันค่าเงินบาทน้อยลง

ด้านการไหลเข้าเงินทุนจากต่างประเทศนั้นคาดว่าปี 53 ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจประเทศแถบเอเชียจะดีกว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามาก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย จึงสร้างแรงกดดันเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น ส่วนจะไหลเข้ามามากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเอง และความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

กรณีของค่าเงินดอลลาร์เป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม เพราะเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ หากเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแออยู่หรือฟื้นตัวไม่มาก ความจำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อไป

อย่างไรก็ตาม การประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทดังกล่าวอาจกลับทิศได้ ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกโตช้ากว่าที่ตลาดคาดก็จะมีผลค่าเงินสกุลหลัก ทั้งค่าเงินยูโร เยน และเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจกระทบค่าเงินบาทเช่นเดียวกัน ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศก็เช่นกัน ยังมีปัจจัยการฟื้นตัวตามมุมมองตลาดหรือปัจจัยอื่นๆ เข้ามารบกวน ซึ่งจะมีผลระยะสั้นต่อค่าเงินบาท ส่วนในระยะยาวอาจกระทบโดยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจได้

ผลสำเร็จดูแลบาทคือภาคธุรกิจเข้าใจ

สำหรับมาตรการดูแลค่าเงินบาทในปี 53 นั้น จะพยายามให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับภาวะการซื้อขายในตลาดเป็นสำคัญ ทำให้การเคลื่อนไหวเงินบาทสามารถขึ้นหรือลงได้ตามภาวะตลาด และแนวโน้มเงินบาทจะสอดคล้องกับค่าเงินแถบภูมิภาคเอเชียด้วย

ส่วนกรณีที่ทุกครั้งเงินบาทแข็งค่าขึ้น ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการมีการเรียกร้องให้แบงก์ชาติเข้ามาแก้ไขหรือดูแลนั้น รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงค่าเงินต้องเป็นไปตามภาวะตลาด ซึ่งอาจจะแข็งขึ้นหรืออ่อนลงบ้าง แต่ไม่ว่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อน จะเป็นสิ่งสะท้อนปัจจัยพื้นฐานซึ่งก็ต้องเป็นไปตามภาวะนั้น แต่ไม่ว่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า ในสภาวะการณ์ดังกล่าวก็จะมีผู้ที่ได้เปรียบและเสียเปรียบทั้ง 2 ฝ่าย

"แง่ของคนทำนโยบายไม่ได้นำเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเป็นตัวกำหนดนโยบายเป็นหลัก แต่การบริหารจัดการต้องให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงภาวะตลาด และระบบนี้จะประสบความสำเร็จได้เมื่อภาคธุรกิจเข้าใจการเคลื่อนไหวเงินบาทที่เกิดขึ้น ส่วนเราจะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนมีมากเกินไปจนอาจเป็นข้อจำกัดได้ แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ ความผันผวนอยู่ในระดับที่ภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้"

ดังนั้น ความสามารถปรับตัวต่อความผันผวนเป็นสิ่งที่สำคัญ ในระยะต่อไปแบงก์ชาติได้พยายามให้ข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปประกอบการตัดสินใจการทำธุรกิจ และพัฒนาตลาดการเงินที่มีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงภายใต้ต้นทุนไม่แพง ซึ่งขณะนี้ตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) มีการพัฒนาไปมาก นับตั้งแต่ปี 40 โดยยอดธุรกรรม Forward เทียบกับสัดส่วนการนำเข้าและการส่งออกมีเพิ่มขึ้น

ลักษณะการเก็งกำไรค่าเงินบาทในปัจจุบันแตกต่างกับในอดีตที่ผ่านมามาก โดยเมื่อปี 40 ยังมีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่ โดยค่าเงินบาทถูกกำหนดอิงกับค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งและหากตลาดมองว่าไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจอาจมีการทำกำไรและผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ในปัจจุบันเงินบาทไม่ได้ถูกกำหนดไว้ระดับใดระดับหนึ่งทำให้การเก็งกำไรรูปแบบเดิมน้อยลง เพราะเงินบาทเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ถ้ามีการเก็งกำไรบ้างก็อาจจะเกิดจากนักลงทุนประเมินทิศทางเงินบาทในอนาคตเอง เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้งดอกเบี้ย ราคาหุ้น และค่าเงินบาท

กำไร/ขาดทุนผลลัพธ์จากนโยบาย

ขณะนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนมากพอควร ทำให้การตีราคาสินทรัพย์ตามมูลค่าเงินบาท โดยถ้าเฉลี่ยทั้งปีเงินบาทแข็งค่าขึ้น การตีมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่น้อยลง และหากเงินบาทอ่อนค่า การตีมูลค่าสินทรัพย์ที่สูงขึ้น ดังนั้น การตีราคาสินทรัพย์ถูกกำหนดด้วยค่าเงินบาท ทำให้มีผลต่อเนื่องมายังกำไรหรือขาดทุนด้วย ซึ่งแต่ละปีมีทั้งกำไรและขาดทุนถือเป็นเรื่องปกติของธนาคารกลางทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แบงก์ชาติอยากจะชี้แจงให้แก่ประชาชนรับทราบถึงกำไรหรือขาดทุนตามงบการเงินที่เกิดขึ้น คือ มูลค่าทางบัญชีจะเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของค่าเงินเป็นสำคัญ และเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาจากการทำนโยบายการเงิน ถือเป็นความท้าทายในการทำงาน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกำไรหรือขาดทุนของธนาคารกลางก็ไม่ใช่เป้าหมายในการทำหน้าที่นโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ถือครองเงินตราต่างประเทศหลายสกุล เพื่อกระจายความเสี่ยง และมีการทบทวนสัดส่วนอยู่เสมอ ขณะที่การเพิ่มบทบาททองคำเก็บไว้ในทุนสำรองมากขึ้นหรือไม่นั้นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากต้องมีการบริหารสภาพคล่องควบคู่กันไปด้วย ส่วนจะมีสกุลเงินอื่นมาแทนเงินดอลลาร์ก็ต้องใช้เวลาพอควร โดยในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มให้ความสำคัญเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นตามกลไกตลาด ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ว่าค่าเงินยูโร และค่าเงินเยนมีการขยายตัวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น