xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยเข้มแข็ง” ความฝันของรัฐบาล ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัณฑูร ล่ำซำ
การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เห็นพ้องกันว่า  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปี 53 จะเติบโตที่ระดับ 3.5% แต่อาจมีการปรับข้อมูลบ้างขึ้นกับภาวะราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายในประเทศเองด้วยนั้น เมื่อเทียบเคียงตัวเลขเศรษฐกิจที่หลายสำนักคาดการณ์ ทั้งภาครัฐและเอกชน จะเห็นได้ว่า หลายสำนักให้ไทยใกล้ผ่านวิกฤตผลกระทบครั้งนี้ไปได้อย่างเฉียดฉิว โดยเฉพาะให้จับตาภาคการลงทุนของรัฐบาลในปี 53 ภายใต้ชื่อ “โครงการไทยเข้มแข็ง”

เริ่มจากตัวเลขจีดีพี ในปี 53 ที่นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์แนวโน้มว่า จะขยายตัว 3-4% โดยเน้นที่แรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากการลงทุนภาครัฐภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง

ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญที่แสดงเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงหลังของปี 52 และในปี 53 มาจาก 5 ปัจจัยหลัก อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 64.7% ในเดือน ก.ย. ,จำนวนผู้ว่างงานลดลงต่อเนื่อง เหลือ 458,000 คนในเดือน ก.ย. จาก 878,000 คนในเดือน ม.ค.2552 , การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4 ของปีนี้ , การส่งออกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ต่อเนื่องจากเดือน ต.ค.2552 ที่คาด การส่งออก ติดลบเพียง 3% และ ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

ขณะที่ “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "เศรษฐกิจไทย...เมื่อเครื่องยนต์ส่งออกเริ่มขับเคลื่อน คาดว่าในปี 53 คาดเศรษฐกิจโตได้ 3.3%  แต่ยังมีความเสี่ยงต้องจับตาใกล้ชิด ทั้งราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน การเบิกจ่ายงบ ปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้พบจาก สัญญาณเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จะทำให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 52 ต่อเนื่องถึงปี 53 รวมถึงมีปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้ สศค. คาดว่า ในปี 53 นี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ หลังจากที่หดตัวในปี 52

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า ปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในอัตรา 3.3-5.3% โดยเศรษฐกิจโลกที่เป็นบวกในปี 2553 จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายของภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะปัจจุบันเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านกลับเป็นบวกขึ้น และน่าจะขยายตัวดีขึ้นในปีหน้า

ขณะที่ “นายสมชัย สุจิตชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีความเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวช่วงสั้นๆ และฟื้นตัวน้อยเกินไป รวมถึงบทบาทการแก้ไขเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่งจะเริ่มต้น ดังนั้นเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัว โดยดัชนีต่างๆ ที่ส่งสัญญาณเป็นบวกเช่น ส่วนต่างดอกเบี้ยที่มีความผันผวนน้อยลง ดัชนีด้านการผลิต ผู้จัดการซื้อ การบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นการบริโภค ความมีเสถียรภาพของราคาบ้าน และดัชนีราคาหลักทรัพย์ ยังมีความผันผวนอยู่มาก

“คำถามที่ถามว่าเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดหรือยัง..ก็ไม่แน่นอนเสมอไป เราไม่รู้ว่าถ้าเริ่มฟื้นแล้ว เศรษฐกิจจะทรุดลงไปอีกหรือไม่ เพราะปัจจัยพื้นฐานที่เป็นรากเหง้าของปัญหามีการปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังห่างจากระดับปกติอีกมาก รูปแบบการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นแบบ U-Shape จึงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปีถึงเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้” นายสมชัย กล่าว

ขณะที่ “นโยบายการเงิน” ทีดีอาร์ไอ เห็นว่ามีบทบาทในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่นการลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลระมัดระวังการก่อหนี้สาธารณะ เพราะคาดว่าหากรัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง และมีการกู้เงินตามแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ใน 2 ปี ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 60% หากถึงช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น จะทำให้รัฐบาลไม่มีความคล่องตัวในการใช้นโยบายการคลัง จะมีขีดจำกัดมาก

สำหรับภาคเอกชน “นายบัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉลี่ยทั้งปีน่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.0 - 4.0% ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย โดยสินเชื่อรวมทั้งระบบทั้งปี คาดจะขยายตัวในระดับ 5 - 6% ในปี 53 แต่เบื้องต้นยังจำเป็นที่จะต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเกิดความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยและภาคธุรกิจต้องหยุดชะงักได้ จากปัจจุบันประเทศไทยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ทั้งด้านการศึกษา โทรคมนาคม กฎหมาย และระบบขนส่งทางถนน – ระบบราง

“ประเทศเราไม่คิดที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีการแก้ไข มันก็เหมือนกับฐานไม่แน่น ทำให้เมื่อเหยียบไม่ขึ้น อย่างประเทศจีนฐานเขาแน่น เรามีท่าเรือ มีรถไฟ มีการศึกษา มีถนน ทำให้คนที่จะเข้ามาลงทุนเกิดความมั่นใจ เพราะระบบดี แต่ไทยเมื่อเหยียบลงไป มันก็ยุบลงๆ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะค่อยๆถอยหลัง” นายบัณฑูรกล่าวย้ำ 

ด้าน “นายสันติ วิลาสศักดานนท์” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) คาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 53 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 10% มากกว่าปี 52 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยสินค้าที่จะมีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าก่อสร้าง 

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ายังมีความกังวลในเรื่องค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยกระทบการส่งออกเป็นอันดับแรก และปัจจัยรองลงมาเป็นเรื่องราคาน้ำมันและความเปราะบางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นผู้ส่งออกต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม ได้มีการลดค่าเงินด่องลง และมีแนวโน้มว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียอาจมีการลดค่าเงินได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าจีดีพีในปี 53 ที่ สศช.คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3-4% นั้นถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว ส่วนปัจจัยที่ภาคเอกชนมีความกังวล ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมือง และปัญหามาบตาพุด ซึ่งหากแต่ละเรื่องไม่มีความรุนแรง ก็จะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก

ภาคการท่องเที่ยว “นายเจริญ วังอนานนท์” นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่สงบนิ่ง จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น  โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในปี 53 จะเกิน 14 ล้านคน และเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะสะพัดประมาณ 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวในปี 53 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
 
สมชัย จิตสุชน
อำพน กิตติอำพน
สันติ วิลาศศักดานนท์
กรณ์ จาติกวณิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น