xs
xsm
sm
md
lg

แนะจับตา "จีดีพี" ไตรมาส 3 ชี้ชะตา ศก.ปี 53 บวกได้แข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ธปท.แนะจับตา "จีดีพี" ไตรมาส 3 ปีนี้ เป็นตัวแปรสำคัญบ่งชี้ ศก.ปี 53 เติบโตเป็นบวก พร้อมคาดหวัง ศก.โลกปีหน้า พลิกเป็นบวกหนุน ศก.ไทยโตได้แข็งแกร่ง ส่วนตลาดเงินยังผันผวน ชี้จุดอ่อน 3 ปัจจัยลบฉุดการขยายตัวของสหรัฐฯ พร้อมคาดการณ์ ศก.ไทยปี 53 โตได้ 3.3-5.3%

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลา ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์ยังมีความผันผวนในช่วงต่อไป โดยประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม คือ ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2552 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปลายปี 2551 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปี 2553

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังมีจุดอ่อน 3 ปัจจัย ที่ต้องใช้เวลาเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะการขยายตัวปกติ ประกอบด้วย การว่างงานของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ระดับสูงถึง 10% เป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนสหรัฐฯ ตัวเลขหนี้เสียของสหรัฐฯ และยุโรปที่มีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศยังปรับตัวสู่ขาลง ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

โดยทั้ง 3 ปัจจัยกระทบต่อการฟื้นตัวของประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ทำให้การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็ง และกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าประเทศในภูมิภาคเอเซีย รวมทั้งไทย ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และราคาหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ภาวะการเงินต่างประเทศที่ผันผวนยังกระทบต่อตลาดเงินในประเทศ ดังนั้น ภาคธุรกิจยังต้องปรับตัวและตั้งรับให้ดี

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ธปท.คาดการณ์ว่าปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในอัตรา 3.3-5.3% โดยเศรษฐกิจโลกที่เป็นบวกในปี 2553 จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายของภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะปัจจุบันเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านกลับเป็นบวกขึ้น และน่าจะขยายตัวดีขึ้นในปีหน้า

ส่วนกรณีปัญหาสภาพคล่องของดูไบ และตลาดเกิดใหม่ ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าไม่กระทบถึงไทย เพราะสถานะของปัญหานั้นตลาดรับรู้ไปก่อนหน้า และวงเงินหนี้สินที่มีปัญหาอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ที่มีอยู่ และตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คือ ปัญหาไม่ได้ทรุดลง หนี้สินไม่กระทบในวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น