xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงศก.ไทย พึ่งส่งออกมากเกิน ธปท.งัดดอกเบี้ยต่ำอุดรูรั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ท่านรองฯ ย้ำจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำขับเคลื่อน ฟื้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เผยแม้อุตสาหกรรมส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีคำสั่งซื้อ แต่เศรษฐกิจไทยไม่อาจแล่นฉิว เพราะพึ่งพาส่งออกมากเกิน ลุ้นภาคการบริโภค-ลงทุนช่วยชดเชย

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับขึ้นดีทั้งหมดและคาดว่าอัตราการขยายตัวปีหน้าจะดีกว่าในปีนี้ ซึ่งรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้ก็ปรับตัวดีขึ้นและมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดีเห็นได้จากการเงินทุนไหลเข้า ทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อไม่สูงจนสร้างแรงกดดัน และสถาบันการเงินเองเข้มแข็ง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบมาก เพราะเศรษฐกิจมีการพึ่งพาการส่งออกมาก ทำให้เมื่อเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น

ปัจจัยลบมี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเร็วจนสร้างแรงกดดันเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งราคาน้ำมันที่ผันผวนเกิดจากคนมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว 2.เศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหาอยู่ทั้งการว่างงาน แนวโน้มหนี้สาธารณะ ดอกเบี้ยยาวสูงขึ้นและสินเชื่อสถาบันการเงินไม่เร่งตัวจากความกังวลปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อศักยภาพเศรษฐกิจโลก และ 3.ความไม่นอนแน่ในประเทศทั้งการเดินหน้าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เข้ามาทดแทนภาครัฐ การเบิกจ่ายตามเป้าหมายรัฐวางแผนไว้และการเลือกลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐ รวมถึงปัญญาการเมือง กลับกันปัจจัยบวกเกิดขึ้นได้หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้และราคาน้ำมันไม่เร่งตัวสูงและปัจจัยในประเทศคลี่คลายนำไปสู่การใช้จ่ายในประเทศให้ฟื้นตัวได้

"เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่ได้ยาก หากภาวะการส่งออกและเศรษฐกิจโลกยังไม่สู่ปกติ ช่วงรอยต่อนี้ต้องอาศัยการใช้จ่ายในประเทศแทน โดยภาคเอกชนต้องมีการบริโภคและการลงทุนเข้ามาทดแทนจากปัจจุบันที่ภาครัฐเป็นตัวนำเรื่องนี้ เพราะงบประมาณไปได้แค่ระดับหนึ่ง"

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เริ่มทรงตัวและตัวเลข 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ที่ผ่านมากิจกรรมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุน แม้ขนาดการเปลี่ยนแปลงยังสะท้อนปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการอาศัยประโยชน์ที่ได้จากกระตุ้นของนโยบายคลังและนโยบายการเงินด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำนโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีความจำเป็นอยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรับตัวดีขึ้นจากนโยบาย คือ คำสั่งซื้อของภาคการส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 3 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฤดูกาลด้วย ดังนั้น 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือที่เกี่ยวกับไฮเทค

เร่งภาครัฐสร้างความเชื่อมั่น

"ปัญหามาบตาพุดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาในขณะนี้ จึงต้องสร้างความชัดเจนที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนด้วย" รองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวถึงการชะลอโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดจำนวน 76 โครงการนั้นในแง่เม็ดเงินโครงการลงทุนนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะเม็ดเงินในงบประมาณในการใช้จ่ายภาครัฐมีมากกว่า เพียงแต่ตลาดหรือภาคเอกชนไม่ชอบมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอน ซึ่งหากสิ่งนี้ไม่มีการตัดสินใจการลงทุนก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นแนวคิดประมาณเศรษฐกิจจะมีผลต่อการชะลอหรือเลื่อนโครงการออกไปและความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบล้ามมายังเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย จากปัจจุบันแม้จะเป็นบวก แต่ลดพอสมควร

"ภาครัฐควรให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ดีให้แก่ภาคเอกชน รวมถึงหากมีการยุติปัญหาแล้วจะสร้างความชัดเจนเงื่อนเวลานานและคำแนะนำแก่นักลงทุนรายใหม่กับเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้เอกชนสามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญกับเงินที่ยังไม่เข้ามา แต่รอโครงการลงทุนอื่นๆ ที่กำลังรอความชัดเจนนโยบายสิ่งแวดล้อมนี้ด้วย" นายบัณฑิตกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น