xs
xsm
sm
md
lg

ชี้วิกฤตศก.ทำไทยเจ๊ง8แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยรอบนี้ 1 ปี ทำเศรษฐกิจไทยสูญเสียถึง 8 แสนล้าน ทั้งจากกรณีเศรษฐกิจโลกดิ่ง-การเมืองป่วน ระบุแม้การอัดฉีดเงินจากภาครัฐจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ แต่ก็ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง เตือนยังต้องจับตาาภาวะการเมือง-การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ หากไม่ราบรื่นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอีกรอบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของไทยในรอบนี้ โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยเริ่มถดถอยมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดช่วงเวลา 1 ปีมานี้ ประเทศไทยสูญเสียโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจไป คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ส่วนที่มีน้ำหนักรองลงมาคือผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง ส่วนผลกระทบอื่นๆ อาจมาจากเหตุการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดลง เป็นต้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยเริ่มรับรู้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงประมาณปลายไตรมาสที่ 3/2551 โดยผลกระทบเริ่มต้นขึ้นในตลาดการเงิน ดัชนีตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนักในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินโลกตกอยู่ภายใต้ความสะพรึงกลัวถึงจุดสูงสุด เมื่อสถาบันการเงินชั้นนำของโลกในสหรัฐฯ ต้องประสบภาวะล้มละลายตามกันเป็นลูกโซ่ และหลังจากนั้น ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้เริ่มปรากฏตามมาในไตรมาสที่ 4/2551 โดยการส่งออกของไทยเริ่มหดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งเป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับที่เกิดปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในประเทศ ในเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยว จากปัจจัยลบคู่ขนานทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเมืองภายในประเทศ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถดถอยในระดับที่รุนแรงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมดิ่งลงอย่างรุนแรง นำมาสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุน

อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในหลายด้านเพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ลงมาจากร้อยละ 3.75 สู่ระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 1.25 ในเดือนเมษายน 2552 และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน และจากความพยายามในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว บวกกับเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ในที่สุด เศรษฐกิจไทยก็สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยมาได้ในไตรมาสที่ 2/2552 โดยจีดีพีกลับมาขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มในระยะหน้า มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากวัฏจักรการฟื้นตัวจะเริ่มต้นขึ้นได้จากแรงผลักดันของการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามมาหลังจากเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท เป็นต้น และจากปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ หากเกิดกรณีเหตุการณ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบให้การเบิกจ่ายงบประมาณหรือการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องหยุดชะงักลง ก็อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขาดความต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาชะลอตัว ทำให้การฟื้นตัวอาจกลายเป็นรูปตัว W ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น