xs
xsm
sm
md
lg

"ธาริษา" ชี้ทิศทาง ดบ. บาทแข็งเกาะกลุ่ม เตือน 19 ก.ย.อันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ ธปท.ออกโรงยืนยัน ศก.ไทย ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ห่วงปัญหาการเมือง 19 ก.ย. กระทบ ศก.ไทยที่เริ่มฟื้นตัว และยังเปราะบาง ชี้ ดบ.นโยบาย ยังไม่ขยับขึ้นในช่วงนี้ เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อ ยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมยอมรับค่าเงินบาทแข็งขึ้น แต่ยังเกาะกลุ่มภูมิภาค ส่วนแผนการขายหุ้น ธ.นครหลวงไทย คาดเสร็จไม่ทันปีนี้ อาจเป็นต้นปี 53 หรือใน Q2/53




นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปลายปี 2552 โดยระบุว่า ขณะนี้ ไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ก็ยังมีจุดเปราะบาง โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับการเมืองที่ต้องระวัง นอกเหนือจากปัจจัยต่างประเทศที่ ธปท.จับตาอยู่

นางธาริษา กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ต้องติดตามปัจจัยภายในอย่างการใช้จ่ายของภาครัฐว่าเป็นไปตามแผนของรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาคเอกชนที่มีการส่งออกลดลง ขณะเดียวกันต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2552 นี้ จะมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่

สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย มองว่าในระยะเวลาสั้นจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

นางธาริษา ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยระบุว่า การที่เงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ เกิดจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก แต่ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังถือว่าเกาะกลุ่มกันอยู่ และหวังว่าหากการใช้จ่ายภาครัฐมาตรงตามกำหนด ก็จะช่วยให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมีน้อยลง ซึ่ง ธปท.จะดูแลตามปกติ ไม่ให้เกิดความผันผวน

"การติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุน ธปท.พบว่า มีเงินไหลเข้า-ออกเป็นปกติ และไม่เห็นการเก็งกำไร ธปท.ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมาดูแลในเรื่องความผันผวน เพื่อให้ค่าเงินบาทสามารถเกาะกลุ่มกับค่าเงินประเทศคู่ค้า ซึ่งที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลดอลลาร์ เนื่องจากดุลบัญชีเกินดุลค่อนข้างมากจากการนำเข้าที่หดตัวลง"

"โลกมันเล็กลง อะไรๆ ก็เร็วไปหมด ย่อมมีผลกระทบต่อการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ทำให้มีความผันผวนมากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวัง"

นอกเหนือจากปัจจัยต่างประเทศเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรป สิ่งที่ ธปท.จับตาอยู่ว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรปจะมีผลต่อประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลัก

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้จะส่งผลให้ภาคเอกชนลงทุนตามและจะทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าทุน ส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง และจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบนั้นมีแนวโน้มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลใช้กลไกผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ มีการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้แทนการขอสินเชื่อ

ขณะที่ ธปท.เห็นว่า แนวทางการดูแลสถาบันการเงินในขณะนี้มีความเหมาะสมแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือร่วมกันเป็นระยะ ๆ และยังไม่พบปัญหาหรืออุปสรรคในการปล่อยสินเชื่อ

*คาดขายหุ้น SCIB ไม่ทันปีนี้

ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กล่าวถึงความคืบหน้าในการขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 (วานนี้) มีมติอนุมัติให้ทำการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อดำเนินการขายหุ้น SCIB ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ประมาณ 47% โดยคาดว่าจะเริ่มกระบวนการเปิดซองประมูลได้ในสัปดาห์หน้า

หลังจากที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ มีมติดังกล่าวแล้ว ก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง และผู้บริหารของ SCIB เพื่อดำเนินการขายหุ้น โดยยอมรับว่าคงไม่สามารถขายหุ้นได้ทันภายในปีนี้ แต่อาจจะสำเร็จภายในต้นปี 2553 หรือไตรมาส 2 ปี 2553 เนื่องจากยังมีกระบวนการต่างๆ ที่จะต้องทำอีกมาก

ส่วนผู้ที่จะเข้ามาซื้อหุ้น SCIB นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มองใครเป็นพิเศษ แม้ว่าจะมีผู้สนใจหลายราย คงจะต้องขึ้นกับ FA เป็นผู้แนะนำให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณา

รายงานจาก ธปท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการกับหุ้น SCIB ตามที่กระทรวงการคลังแจ้งมา โดยให้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อแนะนำกลยุทธและแผนการขายหุ้น SCIB เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจุบัน กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นใน SCIB คิดเป็นสัดส่วน 47.58% ของทุนจดทะเยียนเรียกชำระแล้ว หรือ 1,005,330,950 หุ้น ณ เดือนมิถุนายน 2552 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 413,833 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 7 ของธนาคารพาณิชย์ไทย มีสาขาทั้งหมดประมาณ 400 สาขา และมีตู้เอทีเอ็ม 1,600 ตู้
กำลังโหลดความคิดเห็น