xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 2 บอกอะไรเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาพัฒน์เพิ่งประกาศตัวเลขแสดงว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้หดตัวลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทว่าก็เป็นการหดตัวที่ลดลงจากร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรก ซึ่งก็ตรงกับที่ผมคาดหมายไว้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในอัตราที่ลดลงในไตรมาส 2 นี้ ทว่าถ้าเราจะเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจกับเฉพาะช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนก็จะให้ข้อสรุปที่จำกัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจเช่นนี้ควรจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนเสริมด้วย เนื่องจากการตีความข้อมูลเศรษฐกิจต้องพิจารณาหลายแง่มุม และครอบคุลมทุกด้านเพื่อให้ได้ภาพทิศทางและแนวโน้มที่ชัดเจน

การเปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้กับปีก่อน แสดงว่า เศรษฐกิจไทยยังคงหดตัวแต่เป็นการหดตัวในอัตราลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศโดยรวมหดตัวน้อยลง โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลดลงจากร้อยละ 17.7 ในไตรมาสแรก เหลือร้อยละ 16.1 ในไตรมาส 2 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาส 1 เหลือร้อยละ 2.3 ในไตรมาส 2 ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐกลับพุ่งขึ้นค่อนข้างมาก โดยการบริโภคของภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อน ที่สำคัญคือการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวร้อยละ 9.6 จากที่หดตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อน ในทางตรงกันข้าม ภาคต่างประเทศยังคงแสดงการถดถอยต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 26 เป็นการลดลงมากกว่าในไตรมาส 1 ที่หดตัวประมาณร้อยละ 20 นอกจากนี้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็ลดลงเหลือเพียง 2,293 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่เกินดุลถึง 9,112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้น เมื่อใช้ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีนี้เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า การหดตัวที่ลดลงของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปีนี้ เกิดจากการที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนหดตัวในอัตราที่ลดลง ขณะเดียวกันก็มีตัวช่วยจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ ทว่าภาคต่างประเทศกลับยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นและทำให้เศรษฐกิจลดการหดตัวได้แต่อย่างใด

แนวทางในการวิเคราะห์ดังข้างต้น แม้ว่าจะทำให้เห็นภาพภาวะเศรษฐกิจในด้านหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มได้ เพราะในกรณีที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การเปรียบเทียบข้อมูลเฉพาะกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงแรกอาจยังอ่อนแอ จึงส่งผลให้ถึงแม้ตัวแปรต่างๆจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง ทว่าอาจจะยังคงต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ในการวิเคราะห์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงควรพิจารณาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเทียบกับไตรมาสต่อเนื่องกันเพิ่มเติมด้วย

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับไตรมาสแรกปีนี้ พบว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ขยายตัวจากไตรมาสแรกร้อยละ 2.3 แทนที่จะหดตัว โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 2.4 จากที่หดตัวร้อยละ 3.5 และ 16 ตามลำดับในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 1 และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นในกลางไตรมาสที่ 2 ในทำนองเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐก็ขยายตัวร้อยละ 1 จากที่หดตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อน ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวถึงร้อยละ 27.4 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ขยายตัวร้อยละ 1.8 ในกรณีนี้ผมตีความว่า จากมาตรการของรัฐบาล เช่น เช็คช่วยชาติ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งปัญหาการเมืองภายในก็บรรเทาลงหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงสงกรานต์ ทำให้ทั้งผู้บริโภคและนักธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น จึงเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังเร่งการใช้จ่ายเงินงบประมาณในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันการส่งออกก็ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ท้งหมดส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1

ข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปีนี้ บอกเราว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวยังอยู่ในขั้นต้นและผลผลิตทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่ากว่าไตรมาส 2 ของปีก่อน แสดงว่ายังไม่อยู่ในระดับปกติ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและจะชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงมาก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆและผลของการลดลงของสินค้าคงคลังที่ทำให้มีคำสั่งซื้อและการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งแรงผลักทั้งหมดนี้อาจจะไม่คงอยู่ยั่งยืน ถ้าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นชัดเจนในปี 2553 และการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ รัฐบาลของประเทศหลักๆของโลกทั้งหลายจะไม่มีกำลังพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปในปี 2554 เพราะหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมากแล้ว ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงมากหรือหดตัวลงได้ นอกจากนี้ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปก็ยังไม่ยุติเนื่องจากยังคงมีหนี้เสียอยู่ในระบบ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีหนี้เสียประเภทใหม่เกิดขึ้น เช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ หนี้บุคคลและหนี้บัตรเครดิต ซึ่งปัญหาหนี้เสียอาจจะทำให้วิกฤติการเงินโลกกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้ ดังนั้น เราคงต้องไม่ประมาทและคิดไปว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วอย่างแข็งแรง

                                                         bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น