เอเอฟพี –ญี่ปุ่นแถลงวันจันทร์(17)ว่า เศรษฐกิจของตนเข้าสู่สภาพฟื้นตัวแล้ว โดยในไตรมาส 2 ปีนี้ อัตราการเติบโตอยู่ในแดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบระยะ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา ตามหลังเยอรมนีและฝรั่งเศสที่เพิ่งประกาศออกจากภาวะถดถอยเช่นกัน โดยล้วนเป็นผลลัพธ์จากมาตรการใช้จ่ายอย่างมหาศาลของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
การที่เศรษฐกิจกลับคืนสู่อัตราเติบโตเป็นบวกเช่นนี้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ ในขณะที่พรรครัฐบาลภายใต้การนำของเขากำลังตกที่นั่งลำบากในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ สืบเนื่องจากประชาชนกำลังไม่พอใจที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
สำนักงานคณะรัฐมนตรีรายงานวานนี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีอัตราเติบโตในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนปีนี้ที่ 0.9 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่หดตัวถึง 3.1 เปอร์เซ็นต์ และ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้และไตรมาสุดท้ายของปี 2008 ตามลำดับ
เมื่อคำนวณให้เป็นอัตราต่อปีแล้ว ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตเท่ากับ 3.7 เปอร์เซ็นต์
ญี่ปุ่นถลำเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้ตั้งแต่เมื่อไตรมาสที่ 2 ปี 2008 เนื่องจากวิกฤตการเงินทั่วโลกส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจำพวกรถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของแดนอาทิตย์อุทัย ลดลงอย่างฮวบฮาบ
สถานการณ์อุปสงค์ในต่างประเทศลดฮวบอย่างเลวร้ายที่สุด เวลานี้ดูเหมือนว่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และกลายเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่การส่งออกกลับขึ้นมาเป็นบวก
เคียวเฮ โมริตะ นักเศรษฐศาสตร์แห่งบาร์เคลย์ส์ แคปิตอล คาดหมายว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงเติบโตไปอีกตลอดทั้งปีนี้ แต่เขาก็เตือนว่า การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลใช้มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่ใช่การพลิกฟื้นอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจเอง
กระนั้นก็ดี ญี่ปุ่นซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ถือว่าสามารถพ้นจากภาวะถดถอยได้ก่อนสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจยังคงหดตัว 1.0 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2009
เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นกำลังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวครั้งมโหฬารในช่วงไตรมาสที่สองของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน อีกทั้งยังมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นชุดต่อเนื่องของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยเองช่วยหนุนเสริม เป็นต้นว่า การแจกเงินให้ประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้นจนแตะระดับ 5.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายน และเกือบเทียบเท่าระดับ 5.5 เปอร์เซ็นต์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองทีเดียว
นายกฯอาโซะก็ได้อ้างข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของเขากำลังเกิดผล
เขาะบุในระหว่างการโต้วาทีหาเสียงทางโทรทัศน์ซึ่งมีผู้นำพรรคการเมืองอื่นอีก 5 พรรคขึ้นเวทีด้วยว่า “นับตั้งแต่ผมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมได้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดอย่างเต็มที่ ดังนั้นเราจึงได้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบางประการเกี่ยวกับเศรษฐกิจของเราในอนาคต”
ทว่าผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นยังคงขึ้นอยู่กับชะตากรรมของประเทศู่ค้าสำคัญๆ หลายประเทศเนื่องจากญี่ปุ่นนั้นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศอย่างมาก
ทั้งนี้การที่ประชากรญี่ปุ่นกำลังลดจำนวนลงในขณะที่อัตราการว่างงานสูงขึ้น ก็หมายความว่าการบริโภคภายในประเทศยังไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นกลไกผลักดันสำคัญให้เศรษฐกิจเติบโตได้เอง
ส่วนพวกนักวิเคราะห์แสดงความวิตกต่อไปอีกว่าการว่างงานสูงขึ้นและภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้น จะเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว