xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คุมค่าเงินบาท รับปากดูแลไม่ให้กระทบเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยค่าเงนบาทผันผวน เกิดจากค่าเงินดอลลาร์และกระแสข่าวเศรษฐกิจสหรัฐ รับปากจะดูแลเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ กำลังจับตาเงินทุนไหลเข้าอาจมีผลสภาพคล่องและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อาจนำมาสู่ความร้อนแรงบางภาคธุรกิจ

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง แต่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามการตอบสนองของข่าวต่างๆ ของสหรัฐ ซึ่งเหล่านี้ ธปท.จะดูแลไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานภาคธุรกิจต่อไป

ทั้งนี้ เงินบาทในช่วง 2 วันแรกของสัปดาห์นี้ เงินบาทมีการแข็งหรืออ่อนค่าบ้าง โดยเมื่อมีการประกาศตัวเลขรายได้นอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ปรับตัวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้มีบางฝ่ายมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าเดิม ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และค่าเงินอื่นๆ รวมถึงเงินบาทกลับอ่อนค่าลง แต่ในวันถัดมาประธานเฟดประกาศยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้มแข็งนัก ทำให้เงินบาทและค่าเงินอื่นๆ กลับแข็งขึ้น ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าอัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) ยังไม่เข้มแข็งนัก เทียบกับภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพที่ดีกว่าในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามายังภูมิภาคนี้มากขึ้นส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในประเทศผันผวน ซึ่งให้เกิดความเสี่ยงตามมาจากสภาพคล่องและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ความร้อนแรงบางภาคธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้น ธปท.จะติดตามความเสี่ยงเหล่านี้ พร้อมทั้งจะดูแลให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป

ใช้จ่ายบัตรเครดิตเพิ่ม 3.54 พันล้าน

รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศตัวเลขสำคัญของธุรกิจบัตรเครดิตล่าสุดในเดือนต.ค.ของปีนี้ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเครดิตประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 5.05 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้น 3.54 พันล้านบาท คิดเป็น 4.63% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 4.25 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)และสาขาธนาคารต่างชาติกลับลดลง 454 ล้านบาท และ 255 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ แยกตามประเภทการใช้จ่าย พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตมีการใช้จ่ายในประเทศประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ในเดือนนี้ เพิ่มขึ้น4.13 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.41% โดยธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 3.82 พันล้านบาท นอนแบงก์เพิ่มขึ้น 353 ล้านบาท มีเพียงสาขาธนาคารต่างชาติเท่านั้นที่มียอดลดลง 41 ล้านบาท ส่วนการเบิกเงินสดล่วงหน้ามียอดทั้งสิ้น 1.64 หมื่นล้านบาท ลดลง 869 ล้านบาท ลดลง 5.03% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลับเพิ่มขึ้น 1.22 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.04% ด้านปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีทั้งสิ้น 3.60 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 278 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.36%

สำหรับปริมาณบัตรเครดิตในระบบมีทั้งสิ้น 13.28 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 4.10 แสนใบ คิดเป็น 3.18% ซึ่งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ยังกระตุ้นปริมาณบัตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่สาขาธนาคารต่างชาติหดตัว 4.51 หมื่นใบ ด้านยอดสินเชื่อคงค้างมีทั้งสิ้น 1.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นแค่ 1.56 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.85% โดยธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเกือบ 4 พันล้านบาท ส่วนนอนแบงก์และสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 1.23 ล้านบาท และ 1.18 พันล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งจำนวนบัญชีและยอดสินเชื่อปรับตัวลดลงถ้วนหน้าและไปในทิศทางเดียวกันกับสถาบันการเงินทุกประเภท โดยในเดือนต.ค.มีจำนวนบัญชีของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งสิ้น 8.87 ล้านบัญชี ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน 2.58 ล้านบัญชี หรือลดลง 22.54% ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลมีทั้งสิ้น 2.16 แสนล้านบาท ลดลง 13.98 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 6.07%
กำลังโหลดความคิดเห็น