นายกฯพร้อมรับรายงานผลสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ยันไม่ใช้นโยบายกำหนดค่าเงินบาทอ่อน ตามข้อเสนอภาคเอกชน หวั่นเกิดวิกฤตซ้ำปี 40 มั่นใจเศรษฐกิจไทยไตรมาสหน้าจะไปยืนอยู่ในแดนบวกร้อยละ 3.5
วันนี้ (29 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังออกรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ถึงกรณีที่ที่ประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ แสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าขาดความปรองดองในประเทศ จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ว่า จากการบริหารที่ทำมาจากนโยบายต่างๆ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ก็ปรากฏว่าชัดเจนขึ้น แต่เมื่อมีความหวั่นเกรงว่า จะเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของนักลงทุนและคนที่มองมาจากข้างนอก โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นเคยกับหลายอย่างในประเทศไทย ซึ่งตนก็พยายามไปอธิบาย
เมื่อถามว่า จะยืนยันได้หรือไม่ว่าประเทศไทยจะไม่กลายเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยืนยันว่า ตอนนี้ไทยขับเคลื่อนไปได้มาก และเราได้ทำหน้าที่เป็นประธานและตัวแทนของอาเซียนในเวทีสำคัญๆ ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง อาเซียนก็มีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยมีส่วนสำคัญในการผลักดันตรงนี้ และหลายประเทศได้แสดงออกยอมรับตรงนี้
ต่อข้อถามว่า ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ยังระบุว่า การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไม่ก้าวหน้า หรือไม่เดินไปสู่จุดที่ควรจะเดินไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปตามเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นปัญหา เราต้องยอมรับถ้าตัวแทนของประชาชนอยากจะเปลี่ยนนโยบาย ก็ย่อมทำได้ แต่ไม่ควรจะเปลี่ยนนโยบายบ่อย ยกเว้นเป็นนโยบายที่เสียหาย โดยรัฐบาลชุดนี้ได้ทำให้เห็นแล้วว่า นโยบาย หรือโครงการใดที่มีวัตถุประสงค์ที่ดี และพอเดินไปได้ เราก็สานต่อ แต่เราได้เติมเรื่องใหม่ๆ เข้าไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราก็เชื่อว่าได้วางรากฐานไว้ในหลายเรื่องซึ่งคงจะเปลี่ยนแปลงยาก เช่น นโยบายด้านการศึกษา นโยบายไทยเข้มแข็ง นโยบายเรื่องของสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งตนไม่คิดว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะเข้ามาเปลี่ยน แต่ถ้าจะเปลี่ยนก็ขอให้ประกาศให้ชัดเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้
เมื่อถามว่า ยังมั่นใจใช่หรือไม่ว่า แม้จะมีปัจจัยลบทางการเมือง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสต่อไปตามที่คาดไว้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังมั่นใจว่า เป็นบวก โดยปีนี้ติดลบอยู่ประมาณร้อยละ 3.5-3 และปีหน้าจะเติบไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งตนมั่นใจว่าทำได้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกยังเปราะบางอยู่ในบางจุด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรณีการลดค่าเงินของประเทศเวียดนาม ตนคิดว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบมาก และในภาพรวมในแง่ของการฟื้นตัวของหลายประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะในเอเชีย ก็มีความชัดเจน
เมื่อถามต่อถึงความเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในประเทศจีน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีความเสี่ยงอยู่ในบางพื้นที่หรือบางภูมิภาค แต่ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีวิธีบริหารจัดการที่ดีพอสมควรเมื่อเกิดปัญหาขึ้น โดยมีช่วงเวลาสั้นที่เกิดปัญหากับตลาดทุน เขาก็บริหารจัดการได้ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ จะส่งรายงานสรุปผลการสัมมนาให้กับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังมีการนัดหมายกัน ทั้งนี้ รัฐบาลนำมาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว และเราเป็นรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมประชุมทุกเดือนอยู่แล้ว ในรูปของคณะกรรมการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ดังนั้น เราจึงรับรู้และรับทราบถึงปัญหาต่างๆ อยู่ตลอด
เมื่อถามว่า ภาคเอกชนเสนอให้ใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายเราให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราไม่แกว่งตัวมาก แต่เราไม่สามารถกำหนดค่าเงินของเราได้ มิฉะนั้น เราจะย้อนไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 หรืออาจเป็นในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งแต่ไม่เป็นผลดี เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามไม่ให้แกว่งตัวมาก ขณะเดียวกัน เราได้ใช้เวทีในต่างประเทศเรียกร้องให้ประเทศที่เป็นสาเหตุของปัญหาค่าเงิน ไปแก้ปัญหาความสมดุลตรงนั้นให้ได้ อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเปรียบเทียบค่าเงินของเรากับของประเทศที่แข่งขันกับเรา ยกเว้นกรณีของเวียดนามที่เกิดการลดค่าเงินของเขา
การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทของเราเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากในการค้าจะอยู่ในรูปของเหรียญสหรัฐฯ จึงได้รับความเดือดร้อนกัน ขณะที่ รมว.คลังของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศว่า จะพยายามทำให้ค่าเงินของเขาแข็งขึ้น และจะมีประเด็นเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของจีน ซึ่งในตอนนี้เป็นที่รับรู้และยอมรับกันมากขึ้นในเวทีต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องพยายามที่จะมีวิธีการลดความเสี่ยงของตัวเองในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ถ้าจีนลดค่าเงินหยวนอ่อนลง ก็มีผลกระทบต่อไทย เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ตนจะให้นำประเด็นผลกระทบจากกรณีของเวียดนาม และดูไบ เข้าสู่ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง