xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เดินหน้าดันโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ดึงก๊าซจาก JDA ผลิตไฟ 850เมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 จะก่อสร้างใกล้กับเฟส1 และใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA ร่วมกัน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กฟผ.ชี้ความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าจะนะ 2 เพื่อรองรับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมที่ทยอยปลดระวางทั้ง 3 แห่งภายในปี 2559 เดินหน้าลงพื้นที่ทำความเข้าใจต่อชุมชน โดยจะใช้พื้นที่ภายในโรงไฟฟ้าจะนะ 1 และดึงก๊าซจากแหล่ง JDA เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 850 เมกะวัตต์ คาดหลังส่งเรื่องต่อ ครม.จะอนุมัติและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2554 และเสร็จสมบูรณ์เดินเครื่องได้ทั้งหมดในปี 2557


นายเทวรุจน์ อินสมภักษร ศูนย์ข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ โครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยถึงโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ2 บนพื้นที่เดียวกับโรงไฟฟ้าจะนะ1 อ.จะนะ จ.สงขลาว่า เกิดขึ้นเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้มีประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ มากเป็นอันดับ 3 รองจากกรุงเทพฯ และภาคกลาง คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นปีละ 5% หรือประมาณ 100 เมกะวัตต์ นั่นหมายถึงว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้จะเพิ่มเป็น 2,500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 2,485.58 เมกะวัตต์ (รวมทั้งที่ซื้อจากมาเลเซียและกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้ากระบี่ซึ่งไม่ได้เปิดเดินเครื่อง เนื่องจากใช้น้ำมันเตาที่มีต้นทุนสูง) ก็ไม่เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ทันในปี 2557

อีกทั้งในอนาคตคือโรงไฟฟ้าขนอม1 จะปลดระวางในปี 2554 ตามด้วยโรงไฟฟ้าขนอม2-3 ในปี 2559 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 700 เมกะวัตต์หายไปจากระบบ และโรงไฟฟ้าจะนะ1 จะหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษาครั้งใหญ่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2556 เป็นอีกความจำเป็นหนึ่งที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าจะนะ 2 เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าถูกตรึงในต้นทุนที่ต่ำ

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ตั้งศูนย์ข้อมูลและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลของโครงการขยายกำลังการผลิตแก่ทุกฝ่าย ร่วมกับการเข้าชุมชนรอบพื้นที่โครงการ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น และสอบถามประเด็นที่ชาวบ้านมีความกังวลใจต่อผลกระทบเพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเราจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ณ เวลานั้นเพื่อเลี่ยงผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

นายเทวรุจน์ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม( EIA )ในฉบับร่างแล้ว จากการรับฟังความคิดเห็นของทุกตำบลพบว่า 80% เห็นด้วยที่จะสร้างโรงไฟฟ้า จากนั้นจะส่งให้ ครม.พิจารณาคาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ซึ่งปลายปี 2553 น่าจะอนุมัติจึงจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2554 ใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยจะเริ่มเดินเครื่องใช้งานในบางส่วนในปี 2556 ก่อนจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปี 2557 และระหว่างก่อสร้าง กฟผ.จะมีเงินกองทุนชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะนะปีละประมาณ 40 ล้านบาท และ 1 สตางค์ต่อกระแสไฟฟ้า 1 หน่วย ตลอดการผลิตกระแสไฟฟ้า 25 ปี

“การขยายโรงไฟฟ้าจะนะเป็นแห่งที่ 2 นั้นมีความเหมาะสมกว่าพื้นที่อื่น เพราะมีที่ดินและก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA แล้ว เพียงแต่ก่อสร้างหอหล่อเย็นและสายส่งเพิ่มเติม และกำไรที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับประชาชน กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ถ้าไม่เอารัฐบาลก็ต้องหาพื้นที่อื่น หรือให้เอกชนเข้ามาผลิตแทนเปลี่ยนกำไรไปสู่กลุ่มทุนอื่น” นายเทวรุจน์กล่าว

ด้านนายดำรงค์ ไสยะ หัวหน้ากองเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าจะนะ 2 กำลังการผลิต 850 เมกะวัตต์ จะใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA ซึ่งปัจจุบันไทยยังใช้ก๊าซในปริมาณที่น้อยกว่ามาเลเซีย โดย ปตท.ได้มีการลงทุนท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่เพียงพอต่อการป้อนสู่โรงไฟฟ้าได้ 2 แห่งอยู่แล้ว และสำหรับความปลอดภัยนั้น หากเกิดเหตุภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุแหล่งจุดเจาะจนไม่สามารถส่งก๊าซได้ ยังมีก๊าซที่ค้างในท่อระยะทาง 270 กิโลเมตร ซึ่งสามารถใช้ได้นาน 8 ชั่วโมง

นายประสิทธิ์ เทพสุวรรณ์ วิศวกรระดับ 9 ฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยว่า กฟผ.ยังเป็นกำลังหลักในการผลิตไฟฟ้าในประเทศถึง 53.85% โดยโรงไฟฟ้าจะนะมีกำลังผลิตมากที่สุด 710.00 เมกะวัตต์ รองลงมาคือโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม 32.91% ,โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ยะลากรีน จำกัด และบริษัท สุราษฎร์ธานีกรีนเอนเนอยี่ จำกัด 12.07% และซื้ออีก 1.17%

อย่างไรก็ตาม ทางออกของการผลิตไฟฟ้าในขณะนี้ไม่สามารถพึ่งพาการผลิตจากลมหรือแสงแดดได้ในเชิงพาณิชย์ เพราะลงทุนสูงไม่คุ้มทุน โดยเฉพาะจากพลังงานแสดงแดด ต้องใช้เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่จึงจะผลิตได้ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น