xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเริ่มวางท่อส่งก๊าซปั่นไฟอิรวดี แบ่งเค้กฝรั่งเศส-ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#663399>แผนที่จัดทำขึ้นใหม่แสดงเขตที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโดยใช้ก๊าซจากหลุมยาดานา (Yadana) กับจุดเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซ ที่อยู่ไม่ไกลออกไป ทางการพม่าไม่ได้เปิดเผยมูลค่าก่อสร้างและรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซใหม่นี้</FONT></br>

ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- ในเดือน ต.ค.ทางการพม่าได้ออกแจ้งเตือนเรือประมงและเรือชนิดต่างให้ระมัดระวังในการแล่นเข้าสู่อาณาบริเวณอ่าวเมาะตะมะ เนื่องจากบริษัทน้ำมันของไทยกำลังจะเริ่มเจาะสำรวจหลุมก๊าซแห่งใหม่ในบริเวณดังกล่าว เช่นเดียวกันกับบริษัทน้ำมันใหญ่จากจีนที่จะเจาะบ่อทดสอบเป็นครั้งแรกในเขตยาดานา (Yadana)

รัฐบาลได้ออกแจ้งเตือนอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์ปลายเดือน พ.ย. ห้ามเรือประมงเข้าไปในอาณาบริเวณเดิมตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากรัฐวิสาหกิจน้ำ มันและก๊าซ หรือ MOGE (Myanmar Oil and Gas Enterprise) จะเริ่มวางท่อจากขุมพลังงานใหญ่แห่งนั้น เพื่อส่งไปยังโรงไฟฟ้า ผลิตไฟส่งไปหล่อเลี้ยงการผลิตในเขตกรุงเก่าย่างกุ้ง ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ กับย่านที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีทั้งหมด

รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซกำลังจะวางท่อส่งก๊าซขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 นิ้ว ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2552 ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.2553 ใช้เวลา 6 เดือนเต็ม และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะส่งก๊าซได้ในปริมาณ 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งอ้างรายงานชิ้นหนึ่งของ MOGE

หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลอ้างด้วยว่า ตามสัญญาการสำรวจขุดเจาะและผลิตร่วมกับกลุ่มบริษัทต่างชาติที่นำโดยโตตาล (Total) จากฝรั่งเศสนั้น ฝ่ายพม่าจะได้รับส่วนแบ่งเป็นก๊าซปริมาณวันละ 110 ล้าน บลฟ.ต่อวันอีกด้วย

อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงตัวเลขกลมๆ เกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์จากบ่อก๊าซยาดานาภายใต้การสัญญาการร่วมทุนสัมปทานกับกลุ่มบริษัทต่างชาติ ซึ่งยังมีเชฟรอน (Chevron) จากสหรัฐฯ กับ บริษัทลูกของ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ปตท.สผ. ของไทย รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามผู้แทนของกลุ่มโตตาลในกรุงย่างกุ้งปฏิเสธจะให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ขณะที่ผู้แทนของ MOGE เปิดเผยระหว่างการประชุมสัมมนานัดหนึ่งของสภาปิโตรเลียมของกลุ่มอาเซียน หรือ ASCOPE (ASEAN Council on Petroleum) กล่าวว่า แท้จริงแล้วส่วนแบ่งผลประโยชน์ในรูปก๊าซจากหลุมสัมปทานยาดานาสูงถึง 150 ล้านลบฟ.ต่อวัน เพื่อสนองความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้เป็นรายงานของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ "เมียนมาร์ไทมส์"

ในปี 2009 นี้กลุ่มบริษัทร่วมทุนผลิตก๊าซจากหลุมยาดานาวันละประมาณ 780 ล้าน ลบฟ. เจ้าหน้าที่ของ MOGE คนเดียวกันกล่าว

ตามรายงานของสื่อทางการการ MOGE ได้สำรวจแนวท่อก๊าซในเดือน มี.ค.ปีนี้ แล ะแล้วเสร็จในเดือนถัดมา เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้เปิดเผยในตอนต้นปีว่าก๊าซจะส่งผ่านระบบท่อใหม่ไปยังโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่จะสร้างขึ้นในเขตอิรวดี ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะส่งป้อนโรงงานผลิตปุ๋ยสำหรับการเกษตรที่นั่น

อิรวดีเป็นเขตอู่ข้าวใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ ผลิตข้าวได้กว่า 20% ของทั้งหมด ไซโคลนนาร์กิส ที่พัดเข้าถล่มเขตนี้ปีที่แล้วสร้างความเสียหายแก่นาข้าวนับล้านๆ ไร่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนคนในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเดือน พ.ค.

ทางการทหารพม่ายังคงฟื้นฟูเขตอริวดีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ จนกระทั่งสามารถกลับไปทำนาปลูกข้าวอย่างเป็นปกติได้อีกครั้งหนึ่งในฤดูนาปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการทั้งเมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์กับเครื่องมือและปุ๋ยยังมีอีกมาก

ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับท่อส่งก๊าซล่าสุดของทางการพม่า ความยาวของทั้งระบบ และ จำนวนเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างและติดตั้ง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่กำลังก่อสร้าง

กลุ่มโตตาล บริษัทน้ำมันใหญ่จากฝรั่งเศสถือหุ้นส่วนใหญ่ 31.2% ในโครงการก๊าซยาดานา เชฟรอนมีหุ้น 28.3% ปตท.สผ.ของไทยอีก 25.5% หุ้นส่วนที่เหลือเป็นของรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า

ก๊าซที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย ผ่านท่อส่งก๊าซมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ จากทะเลไปยังชายแดนไทย ความยาวกว่า 400 กม. ซึ่งสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2541 และ เริ่มส่งก๊าซจำหน่ายให้แก่ไทยตั้งแต่ปี 2543 สร้างรายได้แก่รัฐบาลทหารอย่างน้อย 2,700 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น